สรุปบทความ FTC Channel
แลอดีต มองปัจจุบัน ฝันถึงอนาคต กับ FTC
เช้าวันเสาร์ ลมหนาวเริ่มพัดมา อากาศเริ่มเย็นแบบนี้ FTC Channel ชวนเพื่อนๆ มาพูดคุยกันในหัวข้อ “แลอดีต มองปัจจุบัน ฝันถึงอนาคตกับ FTC” จากผู้รอบรู้ด้านการเงินอย่าง นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ประธานผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ FTC คุณบุญคุณ ชาตินาม ผู้จัดการใหญ่ FTC ดำเนินรายการโดย คุณสุวิทย์ พูลสุขเลิศ ประธานคณะกรรมการศึกษา FTC และคุณสาวิตรี อนันชพันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ FTC ร่วมพูดคุยถึงอดีตสู่วิสัยทัศน์การบริหาร FTC ที่ใครอยากรู้ลึกข้อมูลเกี่ยวกับสหกรณ์ ห้ามพลาด!
ช่วงแรก ย้อนอดีตกว่าจะเป็นสหกรณ์ฟรีเทรด โดย นพ.วัชรา
เราทำธุรกิจแอมเวย์เป็นส่วนใหญ่ ทางบริษัทแอมเวย์จ่ายรายได้ให้นักธุรกิจหลายครั้งในหนึ่งเดือน วันที่ 15 โอนโบนัสส่วนลด 21% วันที่ 20 โอน leadership bonus ทุกวันนี้คือ 6% และวันที่ 25 โอนโบนัสไข่มุก หรือเรียกกันว่ารายได้ทางลึกปัจจุบันคือ 1% คนแอมเวย์ก็คุยกันโดยเฉพาะผู้มีรายได้เยอะๆ อย่างระดับมรกตและระดับเพชร ว่าเงินแอมเวย์เข้ามาต้องรีบใช้ เพราะไม่งั้นเด่วใช้ไม่หมดก็จะโอนมาอีก ผมฟังแล้วไม่ค่อยสบายใจต่อวิธีคิดทางการเงินแบบนี้ จึงค่อยๆ อบรมให้ความรู้เรื่องการบริหารทางการเงินในกลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานร่วมกับผม ในสมัยนั้นเรามีประชุมกันทุกค่ำวันพุธ ราว 100-300 คน ผมเลยปรารภกับผู้นำที่รวมตัวกันในนาม Free Trade ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะให้ความรู้ทางการเงินกับสมาชิก
พอปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งขึ้น เงินดอลล่าร์ขึ้นมาจาก 25 บาทต่อดอลล่าร์ เป็น 50 บาทต่อดอลล่าร์ ทำให้ผู้ประกอบการมีปัญหามีหนี้ต่างประเทศเพิ่ม หลายโรงงานต้องปิดตัว คนทำธุรกิจแอมเวย์ที่อยู่ในทุกวงการก็ได้รับผลกระทบ ยอดธุรกิจแอมเวย์ตกไปปีละ 10% สองปี คนที่มีรายได้น้อยก็ตั้งวงแชร์กันขึ้นมาวงละ 10-20 มือ แต่ว่าไม่มีเงินส่ง เกิดปัญหาวุ่นวายมาก ในฐานะที่ผมเป็นผู้นำ ก็เลยรวมผู้นำตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ประกาศตั้งกลุ่มในช่วงค่ำวันที่ 26 ก.ย. 2544 จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เกิดวิกฤติจนถึงปี 2544 เป็นเวลายาวนาน ผมได้ยินคอนเซปท์สหกรณ์มานาน แต่ไม่กล้าตั้งเพราะผมเองไม่ได้เดือดร้อนอะไร กลัวว่าจะเป็นการหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวหรือเปล่า แต่ตอนนั้นมีข่าวว่าจะมีคนพาตำรวจมาจับคนเบี้ยวหนี้แชร์โกงแชร์ในที่ประชุมแอมเวย์ หลังจากที่ลังเลอยู่ 4 ปี ผมจึงตัดสินใจเชิญผู้นำราว 10 ท่านมาฟังคอนเซปท์ของสหกรณ์ที่ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย (ชสค.) และนำคน 40-50 คน ไปดูกระบวนการทำงานสหกรณ์จริงของชาวบ้าน เราเชิญให้ทาง ชสค. มาดูมารู้จักเราตั้งแต่เริ่มวันแรกของการก่อตั้ง ผมว่าสิ่งสำคัญคือความถูกต้องในกระบวนการและความถูกต้องทางกฎหมาย
ตอนนั้นยังไม่มีเงิน มีเพียงเงินกองกลางตั้งต้นราว 200,000 บาท เรามาเช่าตึกห้องเล็กๆ ขนาดพื้นที่ 4×3 ตร.ม. ที่เป็นร้านอาหารใกล้แอมเวย์สนง.ใหญ่ที่เก่า และซื้อคอมพิวเตอร์เล็กๆ ลงโปรแกรม 1 ชุด และจ้างพนักงาน 1 คน พอทำไป 1-2 ปีเขาจะลาออก เราเห็นปัญหาว่าการมีพนักงานคนเดียวลาออกจะทำอย่างไร เลยมีการเรียนเชิญ สำนักงานบัญชีของคุณป้อม รณฤทธิ์ ปัจจุบันเป็นกรรมการท่านหนึ่งของเรา เข้ามาช่วยดูเป็นนิติบุคคลเข้ามาดูแลการบัญชี การฝาก โอน ถอนต่างๆ ทางชสค.ก็ไม่เคยเห็นที่สหกรณ์มีนิติบุคคลมาจัดการ รายได้ 3-4 ปีแรกขาดทุนหมด แต่เรามีสถาบันธุรกิจฟรีเทรด ที่เงินหลังหักค่าใช้จ่ายในการประชุม เรานำเงินที่เหลือมาเป็นค่าพนักงาน และนำมาจ่ายเป็นปันผลสู่สมาชิก เราจัดประชุมเป็นการหารายได้ให้สถาบัน และบริจาคให้สหกรณ์ มาเป็นปันผลสมาชิกในแต่ละปีราว 2% ตอนนั้นเราฝึกออม ฝึกบริหารเงินในกลุ่มเล็กๆ ราว 200 คน ถือเป็นการแจ้งเกิดที่รวดเร็ว
3 ปีถัดมา เราค่อนข้างมั่นใจในการบริหาร กรรมการของเราเริ่มมีความคิดเห็นในการบริหาร เราจึงจดทะเบียนเป็นรูปนิติบุคคล ในวันศุกร์ที่ 9 ก.ค. 2547 สหกรณ์ของเราเปิดมา 17 ปีแล้ว ยังเหมือนเป็นสหกรณ์น้องเล็กอยู่เลย เจตนารมย์ของสหกรณ์เกิดมาเพื่อช่วยเหลือสมาชิกจากความเดือดร้อน ดีที่เรามีสถาบันธุรกิจฟรีเทรดเป็นผู้แบคอัพในช่วงแรกไม่อย่างนั้นคงไปไม่รอด
กระบวนการของสหกรณ์ออมทรัพย์ มักมีบริษัทหรือองค์กรสนับสนุนอยู่ แต่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้าน ช่วงแรกแค่เงินที่จะซื้อคอมพิวเตอร์ ติดตั้งระบบต่างๆ ก็ไม่ง่าย ผมจึงนับถือการดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่รวมตัวโดยชาวบ้านมาก
ทรัพยากรล้ำค่าที่สุดที่ FTC มีคือมวลสมาชิก เพราะส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจแอมเวย์ คนที่มาทำธุรกิจแอมเวย์ จะต้องมีมายเซ็ทในการเป็นเจ้าของมากกว่าบุคคลทั่วไป แม้ว่าสมาชิกบางคนอาจจะสมัครแต่ไม่ได้แอคทีฟ แต่สำคัญที่มายเซ็ทของเขาที่มีความเป็นผู้ประกอบการ เมื่อสมาชิกมีความเป็นผู้ประกอบการ เราก็เลือกกรรมการซึ่งส่วนใหญ่มีวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ กรรมการในช่วง 4-5 ปีแรก ผมว่าน่านับถือมากอย่าง อ.ทีปพิพัฒน์ และ คุณทรัพย์มณี ท่านอยู่ถึง จ.กาญจนบุรี พอถึงเวลาประชุมก็ขับรถจากกาญจนบุรี จันทบุรี เราไม่มีเบี้ยประชุมให้มีแค่ค่าน้ำมัน 300 บาทซึ่งช่วงแรกไม่มีด้วยซ้ำ ทำมาสามสี่ปีถึงมีให้ แต่ด้วยจิตารมณ์ของกรรมการผู้ก่อตั้งสูงมาก จิตารมณ์ที่แข็งแกร่งของท่านเหล่านี้ ผมถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้เรารอดวิกฤติมาได้ทุกครั้ง จนเราทำได้ 6 ปี คุณป้อม รณฤทธิ์ มาบอกว่าตึกข้างๆ 3 คูหาที่บริษัทขนมปังย้ายออก เราน่าจะถือโอกาสย้ายสำนักงานเพราะเราน่าจะจ่ายค่าเช่าไหวและดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์ได้
เมื่อสมัยก่อนคนต้องมาประชุมกันใกล้แอมเวย์ รายได้จากการเช่าห้องประชุมถือเป็นรายได้หลักของ FTC ประตูของ FTC เปิดสำหรับทุกค่าย ทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ผมเป็นคนแรกๆ ที่เป็นผู้เปิดประตูต้อนรับนักธุรกิจทุกค่าย ทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ผมว่าการที่คนมีทัศนคติบวกมารวมกันเป็นเรื่องที่ดี มีคนที่ไม่เห็นด้วยเยอะจนถึงช่วงนี้ ตอนนั้นผมไม่ได้เห็นด้วยกับตัวเองทั้งหมด แต่ผมเห็นความเดือดร้อนของเพื่อนร่วมธุรกิจหลายคน หากผมไม่ยอมลำบากไม่ยอมเข้ามาแบกภาระบ้าง ผมคิดว่าด้วยวิธีคิดทางการเงินแบบเดิมๆ หลายคนอาจไปไม่รอด
จนวันหนึ่ง คุณสำราญ อุ่นยวง ท่านไม่ใช่ดาวไลน์ผม ตอนที่เป็นเพชรใหม่ๆ ก็เข้ามาถามผมว่า สหกรณ์ของคุณหมอเปิดเฉพาะดาวไลน์ของคุณหมอรึเปล่า? ผมบอกว่า ตั้งแต่อยู่ในแอมเวย์ คุณสำราญเคยเห็นผมปิดประตูใส่ใครมั้ย? คุณสำราญบอกว่าไม่เคย และผมบอกว่าที่เราจดทะเบียนเราไม่ได้จดทะเบียนว่าเป็นสหกรณ์ของดาวไลน์ใคร แต่เราจดทะเบียนสำหรับสมาชิกนักธุรกิจขายตรงตาม พรบ.ขายตรง เราต้องอิงตามกฎหมาย เราไม่อิงตามชื่อบริษัทแอมเวย์เพราะเป็นการละเมิดชื่อเสียงของแอมเวย์ เราตั้งเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฟรีเทรด ปัจจุบันผมเปลี่ยนเป็น ฟรีเทรดเครดิตยูเนี่ยน ชื่อย่อคือ FTC ตอนที่เราทำรีแบรนด์ดิ้งเราเลยใช้ชื่อ FTC และอาจหมายความได้ถึง Friendly Trusted Companion เราคือเพื่อนที่วางใจได้ตลอดการเดินทาง
วันที่เราเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ FTC แห่งใหม่ ได้เชิญคุณปรีชา มาร่วมงานในฐานะเปิดเซนเตอร์ศูนย์ประชุมธุรกิจของนักธุรกิจแอมเวย์ คนสำคัญอีกท่านหนึ่งคือคุณสำราญ อุ่นยวง ก็พานักธุรกิจมาสมัครสมาชิกอีก 200-300 คน ทำให้สหกรณ์เติบโตขึ้น 100% ในระยะเวลา 1 ปี ผมเป็นประธานมาหลายสมัย พอจดทะเบียนผมเป็นประธานอีกสองวาระครบสี่ปี ผมจึงทาบทามคุณสำราญมาสมัครเป็นประธานสหกรณ์ และสมาชิกที่มาประชุมก็เลือกคุณสำราญเป็นประธาน
เหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งคือการสัมมนาเพชรที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีเพชรไปเป็นร้อยคน แต่เกิดปัญหาที่พักโรงแรมและบริการไม่เป็นไปดั่งใจ ไม่พอใจทัวร์อินบาวน์ที่อังกฤษ แต่ในรถบัสคุณสำราญซึ่งมีเพชรราว 30 คน มีคนสงสัยมาถามคุณสำราญว่าเป็นดาวไลน์หมอวัชราด้วยเหรอ ทำไมจึงไปเป็นประธานของสหกรณ์ฟรีเทรด คุณสำราญบอก เปล่า FTC ไม่ใช่ของหมอวัชราแต่เป็นสหกรณ์ของนักธุรกิจขายตรง ระดับเพชรก็รุมถามคุณสำราญ คุณสำราญจึงมีโอกาสอธิบายคอนเซปท์ FTC ตลอด 5 วัน เรียกว่าขึ้นรถทีไรก็มีคนรุมถามคุณสำราญว่าสหกรณ์เป็นอย่างไร FTC เป็นอย่างไร จนวันที่คุณสำราญเดินทางกลับเมืองไทยพร้อมระดับเพชร ท่านโทรมาถามผมว่าวันนี้มีใครอยู่ที่ตึกสำนักงานหรือไม่ เราคงต้องจัดการอบรมให้กับระดับเพชรที่สนใจด่วน เราลงเครื่องที่สุวรรณภูมิก็ตรงมาที่สำนักงานใหญ่ FTC และเปิดการอบรมเลย หลังจากนั้นข่าวก็ยิ่งกระจาย ยิ่งเติบโตเร็วขึ้นภายใต้การนำของคุณสำราญ เราเติบโตขึ้น 3-4 เท่าตัว ตลอดช่วงระยะเวลา 4 ปีที่คุณสำราญเป็นประธาน
ทำไม FTC จึงมีหลายสาขา เพราะสมาชิกนักธุรกิจเรากระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัด ในหนังสือจดทะเบียนตามปกติสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนต้องเป็นการรวมตัวกันของคนในชุมชนเดียวกัน บริษัทเดียวกัน เขาถามว่าพื้นที่ปฏิบัติการของเราอยู่ที่ไหน ผมไม่รู้จะบอกอย่างไร เลยเขียนระบุไปว่า “ทั่วราชอาณาจักร” ทางชสค.ก็งงเพราะไม่เคยมีคำนี้มาก่อน หลังจากที่คุณสำราญพานักธุรกิจระดับเพชรมาสมัครสมาชิกมากขึ้น หลายคนก็กลับไปยังจังหวัดของตัวเองแล้วไปบอกเล่าคอนเซปท์เรื่องราวของสหกรณ์ให้ดาวไลน์ฟัง หลายคนก็ถามว่าทำไมไม่มาเปิดที่จังหวัดนั้นจังหวัดนี้บ้าง คุณสำราญจึงเริ่มเปิดสาขาที่ภูเก็ตเป็นสาขาแรก ตอนนั้นเทคโนโลยีออนไลน์เราไม่มี ถึงเราใช้ระบบปฏิบัติการที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น แต่เรายังออนไลน์ไม่ได้ ผมกับคุณสำราญก็รับภารกิจเดินสายรับเชิญไปพูดเรื่องสหกรณ์เรื่องธุรกิจแอมเวย์ที่จังหวัดต่างๆ จนภายหลังมีการเปิดสาขาต่างๆ ทั้ง สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ เชียงราย ขอนแก่น ขยายไปอีกหลายที่ นี่คือเรื่องราวของ 10 ปีที่ผ่านไปของ FTC วันนี้เราต้องดำเนินนโยบายคล้ายๆ กับธนาคาร เมื่อก่อนธนาคารต้องขยายสาขา ตอนนี้ธนาคารเริ่มลดสาขาลง ตอนนี้เราก็ต้องศึกษาโมเดลธุรกิจ และดำเนินนโยบายเหมือนคนที่อยู่ในวงการจริงๆ ว่าเขาทำกันอย่างไร เราคงไม่คิดขยายสาขาแล้ว เพราะการขยายสาขาเป็นการเพิ่มหนี้สินมากขึ้น
คุณสุวิทย์ กล่าวเสริมว่า ทุกท่านคงเห็นได้ว่า การกำเนิดของสหกรณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะสร้าง FTC ขึ้นมา หากไม่มีความตั้งใจไม่มีปรัชญา และมายเซ็ทของการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นคงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เหนื่อย แต่เป็นความเหนื่อยที่มีความสุข เพราะเป็นความเหนื่อยจากการแบ่งปัน นี่ทำให้ FTC มีแนวทางชัดเจนที่จะเดินต่อไป ซึ่งในระหว่างการเดินทางท่ามกลางลมฝนมีกรรมการหลายท่านเสียสละมาเป็นผู้จัดการของ FTC ยอมลำบากตรากตรำทิ้งงานตัวเองเพื่อมาถือตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ และแก้ปัญหาภายในของสหกรณ์ จนมาถึงผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบัน
ช่วงที่ 2 ปัจจุบันของ FTC โดย คุณบุญคุณ
ผมอยากเล่าที่มาที่ไปก่อนที่จะมาร่วมงานกับ FTC ผมจบการศึกษาปริญญาตรีด้านการบริหารธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และปริญญาโทด้านการพัฒนาสังคม ซึ่งงานที่ผมทำก็เกี่ยวข้องกับสังคมโดยตรงและใช้การบริหารธุรกิจเข้ามาประกบ การทำงานที่ผ่านมาผมอยู่ในภาคเอกชน 3 บริษัท ที่แรกที่บริษัทสหวิริยาOA ทำระบบคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี ที่ๆสองคือ บริษัท Metro System Corporation จำกัด และที่ๆ สามคือ บริษัทโฟรโมสต์อาหารนม (กรุงเทพฯ) จำกัด ดูแลการตลาดของโฟร์โมสต์ภาคกลาง 11 จังหวัด ด้านสหกรณ์การเกษตร ผมอยู่ภาคการเกษตรถึง 12 ปี ดูแลเรื่องทุนของโรงสี และมาที่ฟรีเทรดเป็นผู้จัดการตั้งแต่ปี 2560 กำลังจะเข้าปีที่ 6 แล้ว รูปแบบสหกรณ์ไม่ต่างกันแต่สมาชิกและกระบวนการการทำงานต่างกัน ที่ฟรีเทรดประเภทธุรกิจน้อยกว่า แต่มีคาแรคเตอร์ของนักธุรกิจขายตรง ทางที่ FTC ไปได้ดีกว่า เพราะทางภาคเกษตรเมื่อน้ำท่วมจะเก็บหนี้ไม่ได้ มีปัจจัยอื่นกระทบเยอะ ผมเข้ามาก็ต้องปรับตัวพอสมควร
มองอดีตกับผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันผมขอเสริมอีกนิดหน่อย และมองอนาคตไปด้วยกัน ขอปูพื้นสักเล็กน้อย FTC เป็นองค์กรที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากที่อื่นเราดำเนินการด้วยตนเอง องค์ประกอบของสหกรณ์ต้องประกอบไปด้วย “สมาชิก” เรามีทั้งวิธีคิดและวินัย ที่ทำให้องค์กรเติบโตได้ดี กลุ่มคนที่มาบริหารคือ “คณะกรรมการ” ได้มาจากสมาชิกที่มีความรู้ความสามารถได้รับเลือกเข้ามาบริหาร ในปีนี้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถก็เรียนเชิญมาสมัครเป็นกรรมการได้ ทางเราไม่ได้ปิดกั้น และส่วนของผมอยู่ใน “ฝ่ายจัดการ” ก็มีพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ผมกำกับดูแลอยู่ราว 40 กว่าท่านรวมสาขาด้วย และส่วนที่เป็นปัจจัยภายนอกที่กำกับดูแลเราอยู่คือ “กรมส่งเสริมสหกรณ์” กำกับดูแลสหกรณ์ตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง มีกฎระเบียบต่างๆ ควบคุมให้อยู่ในระเบียบของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และมี “กรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์” ที่เข้ามาดูแลตรวจสอบการจัดทำบัญชีต่างๆ ของสหกรณ์ว่าถูกต้องหรือไม่
วันเกิดของสหกรณ์ฟรีเทรด วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2547 ปีนี้เราครบ 17 ปี 4 เดือนแล้ว กิจกรรมของสหกรณ์มี 4 ด้าน คือ หุ้น เงินฝาก เงินกู้ และการลงทุน สหกรณ์เราเติบโตได้อย่างไร ช่วงที่คุณสำราญเข้ามา เห็นได้ว่ามีการเติบโต ปีนี้เรามีทุนดำเนินงานของสหกรณ์แตะ 1,400 ล้านบาทด้วยอายุดำเนินงานเพียง 17 ปีเท่านั้น
ช่วงปี 2563 ที่โควิด-19 ระบาด ผมแอบคิดหนักเหมือนกันว่าถ้าเรามีทุนลดลงขาดสภาพคล่องจะทำอย่างไร แต่สมาชิกของเราเป็นนักธุรกิจที่มีรายได้มั่นคง ปีนี้เขาไม่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ แทนที่จะสะสมทุนเรือนหุ้นเดือนละ 1,000 ขอเพิ่มเป็นสะสม 5,000 10,000 50,000 ได้มั้ย นี่คือสาเหตุให้เราเงินเพิ่มขึ้นมาสวนกระแส อยากให้เห็นว่าทุนดำเนินงานที่เรามี เรามีรายได้จากสองทางเท่านั้นคือธุรกิจให้กู้และธุรกิจที่เราฝากแบงค์หรือลงทุนที่อื่นๆ คิดเป็นราว5% แต่ส่วนที่ได้จากเงินกู้สมาชิกคิดเป็น 95%
กำไรของสหกรณ์เทียบเคียงกับบริษัทเอกชน กำไรที่เราได้มา 100% เราคืนให้สมาชิก 83% ซึ่งต่างจากธุรกิจอื่นที่คืนอย่างมากก็ 30% อื่นๆ เป็นทุนสหกรณ์เพียง 5% และทุนที่ต้องคงไว้ตามกฎหมายราว 12% เชื่อมั่นได้เลยว่ากำไร 80กว่า% กลับคืนไปที่สมาชิกของสหกรณ์
ในอดีตทุนของสหกรณ์อาจจะต้องระดมทุนกู้ยืมมาจากสถาบันการเงินอื่น แต่ปัจจุบันเราไม่ได้ใช้เงินทุนจากการกู้ที่อื่น มีแต่เอาเงินไปฝากเพิ่ม เราใช้ทุนของตัวเองทั้งหมดในการบริหารงาน ดังนั้นสถาบันการเงินอื่นจะคิดมาเอาเปรียบเราไม่มีทาง และจากทิศทางการเติบโตผมเชื่อว่าเราคงไม่ได้พึ่งเงินทุนจากภายนอก
หากในอนาคตทาง FTC มีรายได้จากแหล่งอื่นไม่ใช่มาจากสมาชิกฝ่ายเดียว และรายได้จากแหล่งอื่นที่ถูกกฎหมายนั้นสูงพอที่จะสามารถดูแลมวลสมาชิกและดูแลบริหารองค์กรได้ ในอนาคตการกู้ดอกเบี้ยอาจจะเป็นศูนย์หรือดอกเบี้ยต่ำเป็นการช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกกัน นี่เป็นสิ่งที่ผมฝัน เพราะเราก้าวข้ามอดีตจากการกู้ยืมทุน เหลือเพียงการทำรายได้จากจุดนี้เท่านั้น ตอนนี้ผมขอสรุปเป็นภาพรวม สวัสดิการที่เรามีตอนนี้คือ สก.1 สก.2 การให้กู้กับสมาชิกค่อนข้างสูงและปัจจุบันองค์กรเราเริ่มแข็งแกร่งด้านสถานะทางการเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มต่ำลดลง ซึ่งสวัสดิการต่างๆ ที่เรามีให้สมาชิกยังเหมือนเดิม เชื่อว่าในอนาคตถ้าเรามีแหล่งรายได้จากแหล่งอื่นที่สูงมากเพียงพอในการบริหารงาน อัตราดอกเบี้ยและอัตราดอกเบี้ยพิเศษจะทำได้ดีขึ้น และสวัสดิการก็จะหลากหลายขึ้น เราควรมองจุดที่หารายได้ที่ไม่ได้มาจากสมาชิกเพียงฝ่ายเดียว และเพียงพอต่อการบริหารงาน นี่เป็นสเต็ปถัดไปที่ท้าทาย ถ้าเราถึงจุดนั้นจริงๆ เราก็ไม่ต่างจากประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่จะสามารถเลี้ยงดูประชากรของประเทศได้ เราฝันไปด้วยกันกับสมาชิกทุกคน ท่านเป็นเจ้าของ ท่านเป็นผู้บริหารร่วมกันได้
จากตอนเริ่มต้นเรามีคนเคยดูถูกว่าเป็นสหกรณ์ห้องแถว ในอนาคตอันใกล้นี้ สหกรณ์ของเรากำลังจะมีอาคารสำนักงานใหญ่ FTC เพื่อลบคำสบประมาทนี้ ผมเป็นคนสำรวจหาที่ดินทั่วละแวกรามคำแหง-เสรีไทย ได้เจอที่ดินนี้ตั้งอยู่ในซอยรามคำแหง 161/2 (เยื้องซอยมิสทีน) ตอนนี้มีการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าตรงหน้าปากซอย เดินเข้ามาประมาณร้อยเมตร
คุณสุวิทย์ กล่าวเสริมว่า ตอนที่จะซื้อที่ดินแปลงนี้ เราแก้ปัญหาเรื่องคอมมิชชั่น โดยเชิญเจ้าของที่ดินมาในที่ประชุมกรรมการ และต่อรองราคาที่ดินต่อหน้ากรรมการทุกท่าน มีการผ่านมติเห็นชอบจากกรรมการ โดยไม่มีคอมมิชชั่นแม้แต่สตางค์เดียว ดังนั้นสหกรณ์ของเราโปร่งใสมาก
คุณบุญคุณ กล่าวว่า โชคดีที่ก่อนโควิด-19 โครงสร้างหลักของอาคารเราเสร็จแล้ว เหลือเพียงตกแต่งภายใน ที่ดำเนินการที่โรงงานของผู้ผลิตได้ แล้วค่อยยกมาที่ไซท์งานของเรา ถือว่าโควิดมีผลกระทบน้อย
คุณหมอวัชรา กล่าวว่า ผมได้เห็นการออกแบบมาตลอดทุกขั้นตอน หากเราเกิดสถานการณ์นี้ก่อนคงไม่มีความจำเป็นที่จะสร้างอาคารให้ใหญ่ขนาดนี้ เราคิดถึงสมาชิกทุกท่านที่ต้องการมาประชุมใกล้สำนักงานบริษัทแอมเวย์ก็ไม่มีห้องประชุม ดังนั้นอาคารจึงสร้างใหญ่ขนาดนี้ เราไม่มีห้องประธานที่ใหญ่โต เราวางโครงสร้างใหม่ก็คิดให้รอบคอบขึ้น และได้อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมที่ม.รังสิตเป็นผู้ออกแบบ ดังนั้นความหรูหราไม่ใช่ปัจจัยหลัก เราเน้นที่ฟังก์ชั่นการใช้งานที่คุ้มค่า เพราะพื้นที่ของเราราว 400 ตร.ว. ประมาณ 1 ไร่ เรามองทุกฟังก์ชั่นให้ครบตามการใช้งานที่กฎหมายเอื้อให้ทำได้
ช่วงที่ 3 มองอนาคตของ FTC ผ่านวิสัยทัศน์ของ นพ.วัชรา
ภายในของ FTC ผมคิดว่าเหมือนสังคมย่อยๆ เป็นเหมือนภาพจำลองเหมือนประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีการบริหารโดยรัฐบาลที่โปร่งใส และมีการสั่งสมทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ทั้งคุณสำราญ คุณสุวิทย์ และรุ่นน้องๆ อีกหลายคนที่หมุนเวียนกันเข้ามา มองว่าคงค่อยๆ มีการทรานส์ฟอร์มให้กรรมการเป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องคิด เช่น เงินที่กรรมการดูแลไม่ใช่เงินของกรรมการเอง แต่คือเงินของสมาชิกที่มอบความไว้วางใจให้กรรมการสหกรณ์ดูแล สมาชิกก็มีสองส่วน ทั้งสมาชิกที่ตั้งใจออมเงิน เขาก็สะสมเงินไปเรื่อยๆ บางคนมีหลายแสนหรือเป็นล้าน สมมติมีเงินหนึ่งล้านมาลงในทุนเรือนหุ้น เขาต้องได้เงินปันผล เราต้องมีความพยายามดูแลว่าทำอย่างไรให้คนที่นำเงินมาออมในทุนเรือนหุ้นจะได้รับเงินปันผลอย่างเหมาะสม เพราะถ้ามากเกินไปเราต้องไปขึ้นดอกเบี้ยกับสมาชิกที่เดือดร้อนทางการเงิน ซึ่งนั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของเราเพราะเราต้องการช่วย แต่ถ้าน้อยเกินไปก็ไม่คุ้มในเชิงของการลงทุน ตอนนี้เราทำได้ประมาณ 4% เราเคยทำได้ที่ 5% ซึ่งหากเรานำเงินไปซื้อกองทุนตามธนาคาร เราก็ได้ผลตอบแทนอย่างมาก 3-4% ต่อปี ดังนั้นเราต้องพยายามทำให้สมาชิกที่มอบความไว้วางใจมาบริหารการเงินผ่าน FTC ต้องได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสม ส่วนสมาชิกที่มากู้ หากเราสามารถมีแหล่งรายได้อื่นๆ ที่มากพอตามที่ผู้จัดการจินตนาการ ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ต้องลดลง แต่ผมไม่กล้าพูดว่าจะเหลือศูนย์ เช่นเราได้กำไรมากพอก็ต้องคืนกลับสู่สมาชิก
ผมมองว่าเราสามารถปรับเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงาน และการปรับตัวทางเทคโนโลยี สองประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ชี้อนาคตของสหกรณ์ องค์กรอื่นใดก็ตามถ้าไม่มีความโปร่งใสและไม่สามารถปรับตัวทางเทคโนโลยี องค์กรนั้นจะอยู่ไม่ได้ นี่เป็นเรื่องที่ท่านผู้จัดการและกรรมการทุกชุดจะต้องนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ อนาคตหากมีการใช้ดิจิตอลบาท เราก็ต้องมีแพลทฟอร์มที่สามารถรองรับดิจิตัลบาทได้ แต่คงไม่ไปถึงคริปโตเคอร์เรนซี่ เพราะเราต้องคิดถึงความปลอดภัยของเงินของสมาชิก
ช่วงที่ 4 การพัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่ FTC สู่อนาคต โดย คุณบุญคุณ
องค์กรของเราค่อนข้างโชคดีที่คนของเราเติบโตมาในยุคที่มีเทคโนโลยี เรามีส่วนน้อยที่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน ถือว่ายังอยู่ในความควบคุมได้ เพราะระบบของเราหากคุณไม่ทำคือไม่ได้เพราะจะกระทบชาวบ้าน ผมไม่ต้องการให้พนักงานแถมเวลาให้สหกรณ์ ผมต้องการให้ทุกคนทำงานถึง 6 โมงเย็นแล้ววางมือ ออกไปมีไลฟ์สไตล์ของคุณเอง เพราะหากมีใครคนใดคนหนึ่งที่ช้าและเข้ากับเพื่อนไม่ได้ สมมติฝ่ายบัญชีจะปิดบัญชี แล้วมีหน่วยใดหน่วยหนึ่งที่ช้า เพื่อนจะเลิกงานหกโมงไม่ได้ จะกระทบฝ่ายอื่น อนาคตผมจะบีบด้วยกลไกแบบนี้ หากคุณไม่รู้จักการประมวลผล ไม่รู้จักนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ คุณจะอยู่องค์กรเรายาก เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาเจ้าหน้าที่ที่ทำงานทุกท่าน ให้มี Career Path ที่ชัดเจน เรามองไปข้างหน้า
ช่วงที่ 5 ความมั่นคงด้านข้อมูลไซเบอร์ของ FTC โดย คุณบุญคุณ
เงื่อนไขการให้บริการที่เราเชื่อมโยงสู่ภายนอกคือแบบสอบถามสมาชิก การที่จะเข้ามาสามารถดูข้อมูลได้เพียงอย่างเดียว อีกอย่างคือบัญชีออมทรัพย์ที่สามารถถอนเงินได้ เซิร์ฟเวอร์ของสหกรณ์เป็นเพียงตัวกลางหนึ่งที่เข้ามาหาข้อมูลได้ แต่ข้อมูลจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่เรา เรามีเซิร์ฟเวอร์แยกไว้หลายที่ มีการอัพเดทข้อมูลตลอดแบบเรียลไทม์ มีคนเฝ้าระวัง 24 ชม. สมาชิกสามารถวางใจได้ในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล นอกจากนี้ ปปง. คอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ถือว่ามั่นคงปลอดภัยไม่แพ้ธนาคารเลย สถาบันการเงินต่างๆ จะมีรูปแบบมาตรฐานเรื่องความมั่นคงปลอดภัยใกล้เคียงกัน เพราะเราผ่านกระบวนการจากแบงค์ชาติเช่นเดียวกับธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ
ช่วงที่ 6 ฝันสู่อนาคตที่เป็นจริงกับ FTC โดย นพ.วัชรา
หากเรามองไปสู่อนาคตเราต้องมองก่อนว่าต้นทุนของเรามีอะไร ต้นทุนที่สำคัญที่สุดที่เรามีคือมวลสมาชิกที่ดี ยากที่เราจะหาจากกระบวนการสหกรณ์อื่นได้ เราได้รับการจัดอันดับสหกรณ์ในระดับดีเลิศ การที่เรามีมวลสมาชิกที่ดีก็จะได้กรรมการที่มีคุณภาพ และประการที่หนึ่งเรามี Capital Bank คือทุนเรือนหุ้นที่แข็งแกร่งมาก ประการที่สองคือ Land Bank ที่ทวีมูลค่ามากกว่าที่เราเก็บในรูปเงินสดเงินทุนสำรองสหกรณ์ ประการที่สามคือ Brain Bank ทรัพยากรทางสมอง เรามีคณะกรรมการชุดก่อตั้งที่หมดวาระแล้ว ก็ไม่ได้หันหลังจากไป ยังมีส่วนหนึ่งที่ยังหมุนเวียนเข้ามาเป็นกรรมการชุดใหม่ หรือเป็นที่ปรึกษาของ FTC ที่ผมไม่สามารถเอ่ยนามได้หมด ซึ่งเป็นคลังสมอง และด้วยจิตารมณ์ที่บริสุทธิ์ที่เป็นเกราะป้องกันภัย เราผ่านวิกฤติมาหลายครั้งด้วยความเข้มแข็งของจิตารมณ์ที่เหมือนเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องคุ้มครองสหกรณ์ เมื่อครั้งที่คุณสำราญพิจารณาที่จะย้ายสมบัติของสหกรณ์จากเกาะสมุยมาตั้งที่สุราษฎร์ธานี ฝนตกหนักมากและเราก็ผ่านขึ้นเรือเที่ยวสุดท้ายมาได้อย่างเฉียดฉิวและปลอดภัย หรือเดิมที่เราเคยใช้สหกรณ์คลองจั่นเป็นที่พักเงิน แต่กรรมการของเราได้ทราบข่าวไม่ดีก่อนจึงทำให้เราย้ายเงินออกมาได้ทันก่อนที่จะเกิดความเสียหาย เรามีปาฏิหาริย์เหล่านี้เกิดขึ้นมากมาย นี่ผมถือว่าเป็นอำนาจของจิตารมณ์อันบริสุทธิ์ของสหกรณ์
คุณสุวิทย์ กล่าวว่า นี่ถือเป็นคำอวยพรและทำให้สมาชิกทุกท่านวางใจว่า FTC เรากำลังเดินทางไปสู่เส้นทางที่มั่นคง ปลอดภัย สมชื่อกับ Friendly Trusted Companion
ของฝากจาก FTC โดย คุณอ้อม สาวิตรี
ตอนนี้หลายคนสงสัยว่ามีแอปพลิเคชั่นของสหกรณ์อะไรบ้างที่ต้องดาวน์โหลดมาใช้งาน อันดับแรก คือ ช่องทางการสอบถามข้อมูลของสหกรณ์ทางอินเตอร์เนท นั่นคือเว็บไซท์ www.ftccoop.com ท่านต้องเข้าไปตั้งรหัสผ่านในเว็บไซท์นี้ก่อน จึงจะนำไปใช้กรอกในแอปพลิเคชั่น แอปพลิเคชั่นแรกคือ แอปพลิเคชั่น COOP ที่มีไว้ตรวจเช็คข้อมูลส่วนบุคคล ดูหุ้น ดูเงินฝาก ดูรายการเรียกเก็บเงินประจำเดือน
แอปพลิเคชั่นต่อมาที่ฮอตมากๆ คือ แอปพลิเคชั่น CoOp Network ทำให้สมาชิกสะดวกสบาย ทั้งการถอนเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป และโอนเงินจากออมทรัพย์ทั่วไปเข้ายังบัญชีออมทรัพย์พิเศษ และสามารถรับเงินกู้หมุนเวียนจากแอปพลิเคชั่นได้ สเตปการใช้งาน สมาชิกต้องทำการลงทะเบียนก่อนจึงสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นนี้มาใช้งานได้ โดยใช้บัตรประชาชน และ สมุดบัญชีธนาคารที่ต้องการผูกกับบัญชี FTC ท่านนำเอกสารนี้วอลค์อินเข้ามาที่ FTC หรือท่านใดไม่สะดวกสามารถแอดไลน์ FTC ดาวน์โหลดและกรอกเอกสาร จากนั้นส่งเอกสารมาพร้อมสำเนาบัตรประชาชน และหน้าบัญชีธนาคาร ถึงฝ่าย IT
ข่าวดีสำหรับท่านที่ต้องการทำธุรกรรมในวันหยุด FTC เปิดบริการพิเศษทุกสำนักบริการ ให้บริการรับสมัครสมาชิกใหม่ และการทำธุรกรรม ในวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00-15.00 น. ท่านใดสนใจสามารถแอดไลน์
@freetrade ท่านจะได้รับทราบทุกข้อมูลจากเรา
ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้
วันนี้เราได้รับทราบเจตนารมย์ของการก่อตั้ง FTC รวมถึงได้ทราบวิสัยทัศน์และนโยบายการดำเนินงานจากท่านประธานผู้ก่อตั้ง และผู้จัดการใหญ่ของ FTC แอดเชื่อว่าเพื่อนๆ จะรู้สึกมั่นใจที่จะเข้ามาร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด มีทัศนคติที่ดีในการบริหารการเงิน และนำจิตารมณ์ของการช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกที่เดือดร้อนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ร่วมพลังใจกันและเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมความก้าวหน้าของ FTC เราพร้อมเป็นเพื่อนที่ทุกคนไว้วางใจและฝากอนาคตทางการเงินได้อย่างมั่นใจ มั่นคง ยั่งยืน
หากเพื่อนๆ สนใจสมัครเป็นสมาชิกของ FTC สามารถสอบถามข้อมูลทางไลน์ @freetrade และที่สำนักบริการทุกสาขา และอย่าลืมติดตามสาระความรู้ดีๆ จากผู้รอบรู้ทางการเงินและการลงทุนได้ทาง FTC Channel ทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น.