สัญญาณอันตรายทางการเงิน

โดย Admin T
 วันที่ 18 พ.ย. 2564 เวลา 15:52 น.
 1470

สรุปบทความ FTC Channel

สัญญาณอันตรายทางการเงิน 

 

เสาร์ยามเช้าสบายๆ แบบนี้ FTC Channel เชิญผู้รอบรู้มาชี้สัญญาณอันตรายทางการเงิน เพื่อให้เพื่อนๆ สังเกตกันแต่เนิ่นๆ กับ คุณสุพัฒน์ ตั้งรัตนโสภณ  นักธุรกิจแอมเวย์ระดับเพชร คุณณัฐธนัญ สุภหัสดิ์ กรรมการ FTC ดำเนินรายการโดย คุณสุวิทย์ พูลสุขเลิศ  ประธานกรรมการการศึกษา FTC และคุณสุนิดา แย้มศรี เจ้าหน้าที่ FTC สำนักบริการขอนแก่น มาร่วมส่งสัญญาณเตือนให้รู้ก่อนอันตรายทางการเงินจะมาเยือน!

 

ช่วงแรก เปิดตัวทำความรู้จักวิทยากร 

คุณสุพัฒน์ ปัจจุบันทำธุรกิจแท็กซี่มิเตอร์  และทำธุรกิจโรงงานกระดาษ สถาบันติวนักศึกษารามคำแหง สถาบันสอนคอมพิวเตอร์หน้าม.ราม คนเราถ้ามีรายได้ทางเดียวถือว่าอันตราย ตัวผมเองทำแท็กซี่มิเตอร์มาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ และพี่น้องทุกคนก็ช่วยกันทำธุรกิจนี้จนถึงปัจจุบัน 

ปกติผมเคยผ่านวิกฤติมามากมายทั้งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติต้มยำกุ้งก็ผ่านมาได้ และรู้สึกชะล่าใจ แต่สถานการณ์โควิด-19 กระทบรุนแรงถึงขั้นที่แท็กซี่ผมต้องไปจอดในหลายๆ ที่ ต้องฝากเพื่อนหรือต้องจ่ายค่าที่จอดรายเดือน รายได้หายไปเยอะแต่รายจ่ายเพิ่ม ผมโชคดีที่ทำธุรกิจแอมเวย์และเป็นนักธุรกิจแอมเวย์ระดับเพชร เหมือนมีออกซิเจนอีกถังหนึ่ง ถ้าคนไหนไม่มีอาจหายใจลำบาก ในท่ามกลางวิกฤติอยู่ที่เราระมัดระวังตัวหรือไม่ ถ้าระวังดีเราก็อยู่รอดปลอดภัย สมัยก่อนคงเคยได้ยินว่า ถ้าจะออกจากงาน คุณต้องเตรียมเก็บเงินค่าใช้จ่ายเท่ากับเงินเดือนล่วงหน้า 6 เดือน แต่โควิดนี้มีคนเก็บเงินทันมั้ย แม้เก็บได้แต่สุดท้ายก็อันตรายอยู่ดี ต้องเก็บออมเยอะให้มากที่สุดที่เราจะทำได้

 

คุณขุน ณัฐธนัญ อดีตผมจบช่างอิเลคทรอนิกส์ ทำงานมาพักนึงก็เจอธุรกิจแอมเวย์ และทำงานประจำราวปีครึ่งก็ออกมาทำธุรกิจแอมเวย์อย่างเดียว ปัจจุบันทำธุรกิจแอมเวย์เป็นหลัก   

เดิมผมไม่รู้จักสหกรณ์ แต่มีโอกาสไปสัมมนากับคุณหมอวัชรา ได้ยินคุณหมอคุยเรื่องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ผมไม่เคยได้ยินคำว่าเครดิตยูเนี่ยนมาก่อน แต่พอกลับมาก็ศึกษาดูรายละเอียดและตัดสินใจสมัครสมาชิก FTC ผมเริ่มจากติดลบมีภาวะหนี้สิน เริ่มจากออมเดือนละ 500 จนตอนนี้ปลดหนี้ไปได้เยอะมากเหลือแค่หนี้ผ่อนบ้านเท่านั้นและมีเงินเก็บในสหกรณ์ เพราะเราไม่เคยมีรายเหลือ แต่พอเราเข้ามาเรียนรู้ในสหกรณ์เรื่องการวางแผนทางการเงิน ทำให้เรามองไปในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า ว่าถ้าวันนึงเรามีวิกฤติหนักๆ ก่อนหน้านั้นเราต้องวางแผนระยะยาว

ผมเคยมีรุ่นพี่ชวนไปลงทุนในธุรกิจส่วนตัว ตอนนั้นผมอายุ 22-23 ปี ต้องการสร้างชีวิต แต่ด้วยการที่เราขาดประสบการณ์ไม่มีความรู้ เรายังเด็กมาก

จึงมีหนี้ 3 ล้านเพราะโดนโกงในธุรกิจนั้น ทั้งๆ ผมเป็นคนใช้เงินน้อยมากไม่เล่นการพนัน ถ้าให้ผมมองสัญญาณอันตรายในธุรกิจ จากประสบการณ์ตรงธุรกิจที่มีหุ้นส่วนมีความเสี่ยงมาก ด้วยความไว้วางใจทำให้เราโดนโกงได้ ปัจจุบันผมทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ควบคู่กับทำแอมเวย์ ทำแบบไม่มีหุ้นส่วน เพราะเราเข็ดจากสองครั้งที่โดนโกง 

เราเคยเรียนรู้เรื่องการหาเงิน แต่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องการคุยกับเงิน จึงไม่เข้าใจ เราเลยใช้อย่างเดียวและใช้ชีวิตเราไปแลกเงิน

 

ช่วงที่ 2 สำรวจสัญญาณอันตรายทางการเงินส่วนบุคคล

คุณขุน ณัฐธนัญ กล่าวว่า ปัญหาของคนส่วนใหญ่ คือมีภาระค่าใช้จ่ายมากกว่ารายรับ พอได้มารู้จัก FTC และมีโอกาสเข้ามาเป็นกรรมการ เราได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีคิดเรื่องการเงินมากขึ้น ทำให้ได้มุมมองทั้งความรู้เรื่องบัตรเครดิต ค่าใช้จ่าย รายรับรายจ่าย เริ่มวางแผนเพราะเมื่อ 20 ปีก่อน ผมมีรายได้น้อย รายได้จากธุรกิจแอมเวย์ 30,000 บาทแต่ผมมีรายจ่าย 35,000 บาท ต้องทำทุกทางเพื่อหารายได้เพิ่ม ทาง FTC  สอนมายเซ็ทเราใหม่ ว่าเราต้องหาด้วยและต้องออมด้วย พอเริ่มออมก็เริ่มมีแนวคิดว่าเราต้องมีรายได้หลายช่องทาง ทำให้เริ่มเปิดประตูสู่รายรับหลายทาง ทำให้เราค่อยๆ จัดการวางแผนว่าจะนำเงินไปใช้จ่าย และไปใช้หนี้เคลียร์อย่างไร โดยเฉพาะบัตรเครดิต

 

ปัจจุบันผมใช้บัตรเครดิต 2 ใบ ไม่ติดลบแม้แต่ใบเดียว และผมไม่ใช้บัตรเพื่อกินใช้ส่วนตัว ผมใช้บัตรเพื่อสั่งซื้อสินค้าให้องค์กร ไม่กดเงินสดในบัตรมาใช้ ไม่ใช้บัตรรูดโปรโมชั่นผ่อน 0%  เมื่อเขาจ่ายมาเราจ่ายคืนในบัตรทันที ผมค่อยๆ ยกเลิกบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดต่างๆ ผมถือหลักว่า “ไม่มีไม่จ่าย เงินไม่เข้ามือไม่จ่าย จ่ายเท่าที่จำเป็น ต้องจำเป็นเท่านั้นจึงจ่าย” นี่คือหลักที่ผมใช้จนถึงทุกวันนี้ ผมให้ความสำคัญกับเงินสดในมือ ไม่ใช้เงินในอนาคต เพราะเงินในบัตรเครดิตคือเงินในอนาคต หากเงินออกไปแล้วนำเงินกลับเข้ามาก็จบ แต่หลายคนไม่ใช่แบบนั้น พอเงินออกไปแล้วได้เงินมาก็กลับนำเงินไปใช้อย่างอื่นก็ติดลบแล้ว 

เราเคยได้ยินว่านำบัตรเครดิตมาลงทุนหมุนสร้างในธุรกิจ นี่คือการลงทุนเพื่อให้ได้ผลกำไร แต่เราต้องเข้าใจว่าเงินที่เราลงทุนเราใช้เงินที่เรามีอยู่แล้ว หรือเรานำเงินอนาคตมาใช้ลงทุน ถ้าเป็นเงินอนาคตมาลงทุนเมื่อได้เงินกำไรมา คุณต้องนำเงินมาจ่ายทันที ไม่อย่างนั้นเงินอนาคตจะฆ่าคุณเอง

 

คุณสุวิทย์ เสริมว่า มีสัญญาณเตือนก่อนล้มละลายทางการเงินเป็นสีแดง ส้ม เหลือง เขียว ฟ้า คุณขุนเคยอยู่ในระดับไหน? 

 

คุณขุน ณัฐธนัญ กล่าวว่า ผมเคยได้สัญญาณสีแดง ในชีวิตหนักที่สุดคือเคยได้รับจดหมายแจ้งจากธนาคารว่าจะฟ้องร้องถ้าเราไม่ทำการชำระหนี้ ชีวิตตอนนั้นล่มสลาย เพราะได้จดหมายตอนที่กำลังจะไปเที่ยวนิวซีแลนด์กับแอมเวย์พอดี  ปีนั้นผมไม่ได้มีสมาธิอยู่กับกิจกรรมเฉลิมฉลองอะไรเลย ผมเดินรอบเกาะโอ๊คแลนด์ตอนกลางคืนแบบไม่มีจุดหมาย ในสมองเต็มไปด้วยความเครียด กลับเมืองไทยถึงบ้านที่อ่างทองก็คิดจะทำร้ายตัวเอง คุณแม่เรียกกินข้าวทำให้ได้สติกลับมาสู้ใหม่ กลับมาคุยใหม่ บังเอิญผมได้อ่านหนังสือธรรมะ เจอคำหนึ่งว่า “วันที่เรามืดที่สุดแสดงว่าใกล้สว่างแล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นทางตัน เผชิญหน้ากับมันอย่างองอาจ” ทำให้ผมตัดสินใจไปคุย และทำให้เรามองปัญหาว่าปัญหาไม่ได้ทำให้เราย่ำแย่ แต่มีไว้มองว่ามันเป็นปัญหา และกลับไปแก้มัน เราต้องใจเย็นและตั้งใจ ไม่มีปัญหาอะไรที่ทำให้เราตาย หลังจากนั้นไม่กลัวอะไรอีกแล้ว เพราะครั้งนั้นใหญ่สุดในชีวิตแล้ว

การที่ผมกลับมาได้สติ กลับมาได้เร็ว ต้องขอบคุณคุณหมอวัชรา ผมมีปัญหาก็ไปปรึกษาท่าน ท่านบอกว่า ถ้าจะขึ้นที่สูงอย่าแบกของหนัก ปลดภาระให้หมด ผมขายทุกอย่างทิ้งหมดเลย ขายรถขายอะไรที่มีอยู่แล้วทำให้ผมไปไม่ถึงเป้าหมายชีวิต ทำให้เราเคลียร์หนี้ยิบย่อยที่มันเป็นภาระ ผมกลับไปนั่งรถเมล์ใช้ชีวิตเรียบง่าย ปัจจุบันผมไม่มีจดหมายทวงหนี้จากสถาบันการเงินอีกเลย มีเพียงจดหมายแจ้งยอดเงินฝากสหกรณ์ เพราะเราเข้าใจมันแล้ว       

 

ช่วงที่ 3 สัญญาณอันตรายแรกที่เห็นแล้วปล่อยผ่านไม่ได้  โดย คุณขุน ณัฐธนัญ 

 

ตอนนี้เมื่อผมได้รับโบนัสมา หากแฟนบอกว่า เดือนนี้รู้สึกจะช็อต ผมจะกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว อะไรที่ทำให้เรามีรายจ่ายเพิ่ม ผมเป็นคนที่มอนิเตอร์ค่าใช้จ่ายของตัวเองตลอดเวลา ผมทำสมุดสะกดรอยเงิน เพื่อตรวจจับนิสัยตัวเองว่าเราได้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายอะไรบ้าง ปัจจุบันแม้จะมีแอพลิเคชั่น ผมก็ใช้แอพควบคู่กับสมุดจดด้วย เพราะถ้าระบบล่ม ก็คือหมดเลยที่เราจดไว้ ดังนั้นผมยังคงใช้ดิจิตอลและอนาล็อกควบคู่กัน หากไฟดับผมยังมีเทียนครับ 

 

คุณสุพัฒน์ กล่าวว่า เวลาเราใช้เงินเราต้องระวัง ตอนนี้ลูกๆ เริ่มโตแล้ว เริ่มใช้บัตรเครดิต เมื่อใช้จ่ายบัตรแล้วเราต้องรู้ว่าจะเอาที่ไหนมาจ่าย หลายคนใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าให้ดาวน์ไลน์ เมื่อส่งของได้เงินมา เรามีเงินในกระเป๋ามากขึ้นๆ เราก็เอาไปใช้จ่าย เมื่อคุณจ่ายคืนแต่ยังไม่ครบ หรือช้าไปนิดเดียว ธนาคารเค้าคิดดอกเบี้ยจากยอดใช้จ่ายจำนวนเต็มทั้งหมด นี่เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากๆ เป็นอย่างแรก ผมบอกลูกๆ เสมอว่า ถ้าลูกใช้จ่ายบัตรแล้ว ต้องเติมกลับเข้าไปทันที ห้ามเอาเงินเหล่านั้นมาใส่กระเป๋า เติมกลับเข้าไปในแบงค์ทันที มันก็จะมีโอกาสใช้เกินยาก ต้องมีระเบียบในการใช้เงิน เรียกว่าต้องบริหารจัดการการเงิน ผมมีงบว่าเดือนหนึ่งๆ ผมจะใช้ได้เท่าไร มีรายได้เข้ามาเท่าไหร่พยายามใช้ให้ไม่เกิน ถ้าเราหาเงินได้เยอะกว่ารายจ่าย การบริหารจัดการเงินง่ายมาก แต่ถ้าคุณหาได้น้อยกว่ารายจ่าย การบริหารจัดการต้องเข้มงวดมาก หลุดไม่ได้เลย ถ้าหลุดจะเกิดปัญหาในชีวิตขึ้นทันที หลายคนเกิดปัญหาจากตรงนี้ ใช้จ่ายไม่ระวัง สุรุ่ยสุร่าย โดยไม่รู้ว่าอะไรสมควรหรือไม่สมควรใช้ 

ปัจจุบันนี้มีกับดักมากมาย ทั้งบัตรเครดิต เรารูดใช้จ่ายโดยไม่ระวัง เราใช้เงินโดยไม่รู้ว่าเงินในกระเป๋าเราแฟบลงไปเท่าไหร่ หลายคนมีปัญหาเป็นหนี้เยอะจากบัตรหลายใบ สุดท้ายผมแนะนำว่าคุณจ่ายทีละบัตร บัตรไหนไม่ใช้ให้ตัดทิ้งไปซะเพื่อควบคุมไม่ให้ใช้เยอะเกิน บัตรเครดิตเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณมีความสามารถเป็นหนี้ได้เท่าไร คุณเปิดบัตรหลายใบหลายแบงค์ได้ง่ายมากเพราะเครดิตมันมีอยู่ แต่ถ้าเครดิตขึ้นแบล็คลิสเมื่อไหร่ลำบากแล้ว อย่าให้เกิดขึ้นนะครับ เพราะสำคัญมากคือเครดิตที่สร้างไว้ดี ผมจะระมัดระวังการใช้บัตรเครดิต แม้ผมจ่ายได้ แต่ผมระวังควบคุมให้เป็นนิสัยของเรา 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านสอนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง   ให้รู้จักการจด  จดเงินว่าหาเงินได้เท่าไหร่ ใช้จ่ายเท่าไหร่ หักลบแล้วมีเหลือมั้ย ถ้าเหลือคือสุดยอดที่สุดแล้ว ไม่สำคัญว่าหาได้มากหรือหาได้น้อย แต่อยู่ที่ระเบียบนิสัยในการใช้เงิน ถ้าเรารู้ว่าเราเงินน้อยก็ใช้น้อยให้มันเหลือดีกว่าขาด เพราะขาดหนึ่งบาทเราก็คือขาดทุนแล้ว กำไรหนึ่งบาทก็คือกำไรแล้ว ดังนั้นผมจะระมัดระวังมากทุกส่วนในการทำธุรกิจและการใช้เงิน ถ้าพลาดหนึ่งครั้งคือจบเลย ยิ่งอายุเยอะการแก้ตัวปิดประตูไปเลย คนรุ่นใหม่ก็อย่าคิดว่าทำธุรกิจล้มแล้วลุกใหม่ได้ ต้องคิดว่าทำแล้วต้องทำให้ได้ไปให้ดี ดังนั้นเรื่องระเบียบวินัยทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่สุด  

ผมทำแท็กซี่ ผมเจอแขกขายถั่วคนหนึ่ง พูดไทยไม่ค่อยได้ ขยันเดินขายถั่วมากคนขับแท็กซี่บ้านผมก็ซื้อถั่วไปเรื่อยๆ จนผ่านไปวันหนึ่งบังเขาขี่จักรยานมา ผ่านไปหลายปีบังขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามา จนวันนึงผมได้ยินว่าบังมาทวงเงินคนขับแท็กซี่ ผมยืนดูอยู่ พอเขาไปผมก็เดินไปถามคนขับ ว่าคุณไม่อายบังเหรอ เขามาจากไม่มีอะไรเลย จนตอนนี้คุณไปกู้เงินเค้ามา ดอกเบี้ยก็โหดร้อยละ 20 ต่อเดือน เราเป็นเจ้าบ้านเราควรรวยกว่าเค้าจึงจะถูก แต่ทำไปทำมากลายเป็นเราจนกว่าเค้า เพราะเราระเบียบการใช้เงินไม่ดี สุดท้ายเป็นหนี้ ไม่ใช่บอกว่าเรากู้เงินไม่ได้ แต่ประเด็นสำคัญต้องดูว่ากู้เพื่ออะไร ถ้ากู้มาเพื่อสร้างรายได้เพิ่มควรกู้ เพราะบางคนไม่มีทุน กู้เพื่อสร้างรายได้ไม่เป็นไร ไม่ใช่กู้เพื่อกินใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ผมเคยช่วยคนเป็นหนี้นอกระบบหลายแสน ช่วยเขาแก้หนี้แต่ก็กลับมาเป็นหนี้อีก แปลว่าเงินแก้ปัญหาตรงนั้นได้แต่แก้นิสัยก่อหนี้ไม่ได้ ต้องแก้นิสัยด้วยตัวเราเอง ที่การสร้างระเบียบสร้างนิสัยการใช้จ่าย คิดก่อนตัดสินใจ อย่าตัดสินใจด้วยอารมณ์ให้ตัดสินใจด้วยเหตุผล เวลาจะซื้ออะไรนับ 1-100 ก่อน คิดว่าซื้อมาทำไม มีที่เก็บมั้ย มากเกินรึเปล่า  เงินหามาได้จริงแต่ต้องใช้ให้มีคุณค่าเป็นประโยชน์มากที่สุด จะได้ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน หากคุณจะผ่อน 0% คนที่มีระเบียบวินัยมากสามารถทำได้ แต่คนไม่มีระเบียบวินัยอย่าทำ ไม่อย่างนั้นจะต้องอยู่ในโหมดที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแบบมโหฬารมาก นี่ต้องระวังสุดๆ

 

คุณสุวิทย์ กล่าวเสริมว่า นิสัยทางการเงินเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะทางการเงิน ผมประทับใจคุณขุน ณัฐธนัญ ที่เคยพูดถึงการซื้อโทรศัพท์มือถือ แทนที่จะจ่ายผ่อน 0% สิบเดือน เรามีวิธีเก็บจนได้ครบค่อยซื้อ นี่คือการสร้างวินัยทางการเงิน 

 

คุณขุน ณัฐธนัญ กล่าวว่า ผมมีหลักการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล แยกความจำเป็นกับความอยากออกจากกันให้ได้ก่อน อะไรจำเป็นจ่ายไม่จำเป็นตัดทิ้งเลย ก่อนซื้ออะไรให้นับ 1-100 และฝึกผ่อนลมก่อนผ่อนจริง อยากซื้ออะไรก็ตาม คิดว่าต้องส่งเดือนละเท่าไหร่ คุณลองเก็บตามเดือนที่จะผ่อนฝึกเก็บให้ครบ แล้วค่อยไปซื้อเงินสดเลย 

คนส่วนใหญ่เดินเข้าร้านมือถือ 90%ไม่มีเงินสด และมักผ่อน 0% และผ่อนในโปรโมชั่นที่เขามี คิดว่าจะได้จ่ายถูกแต่คำนวณแล้วแพงมาก แต่เวลาผมซื้อ ผมสนใจว่าผมจ่ายและใช้อย่างคุ้มค่ามั้ย ผมซื้อ iPhone12 จากร้านของดาวไลน์ เพราะมีคนซื้อสามวันมาเทิร์นคืน ดาวไลน์ผมขาย 18,000 บาท วิธีคือผมนำเครื่องเก่าไปเทิร์นตีราคาได้ 8,000 ผมจ่ายแค่ 10,000 และพอได้มือถือแล้ว ผมขายกล้องถ่ายรูปทิ้งเลย เพราะเชื่อว่าศักยภาพกล้องมือถือดีเทียบเท่ากล้อง DSLR ที่ผมใช้ กลายเป็นผมซื้อโทรศัพท์ฟรีและมีเงินเหลือเกือบ 20,000 ผมเทรดเข้าเทรดออกเพราะคิดว่าจ่ายอะไรออกไปต้องได้คืนมา ดูว่าจำเป็นมั้ย  ไม่จำเป็นไม่จ่าย และรู้จักพอประมาณ ผมเรียนรู้ว่า รู้อะไรไม่เท่ารู้จักพอ ถ้ารู้จักพอก็จบ

 

คุณสุพัฒน์ กล่าวว่า การซื้อโทรศัพท์หลายคนฟุ้งเฟ้อ แต่ผมสอนลูกว่าอยากได้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ผมจะสอนสร้างนิสัยให้เขารักในเครื่องมือต่างๆ ที่เขาจะซื้อ ผมบอกลูกว่าได้...แต่มีข้อแม้ลูกต้องเก็บเงินครึ่งนึง อีกครึ่งนึงพ่อออกให้ ลูกผมจะใช้มือถือยาวนาน จนกว่าจะไม่ไหวแล้วจึงเปลี่ยนรุ่นใหม่ อย่างผมก็ใช้ iPhone 10 จนถึงทุกวันนี้ ที่ตอนนี้เทคโนโลยี 5G จะมาเดี๋ยวผมคงจะต้องเปลี่ยนเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน 

อุปนิสัยเหล่านี้ต้องอาศัยพ่อแม่ปลูกฝังสั่งสอนลูก บางคนเป็นพ่อแม่รังแกฉัน เรามีเงิน อะไรที่ลูกอยากได้อะไรก็ให้ๆๆ จนลูกกลายเป็นคนฟุ้งเฟ้อโดยไม่รู้ตัว อยากได้อะไรต้องได้ แต่เวลาเขาหาเงินเองเขาจะหาไม่ได้จะเป็นปัญหา

    

ช่วงที่ 4 การก่อหนี้คือสัญญาณอันตราย โดย คุณขุน ณัฐธนัญ

เมื่อเราเห็นโครงการสินเชื่อดีๆ เช่น FTC มีโครงการให้กู้ช่วงโควิด แต่ผมแนะนำว่าคิดหาเพิ่มก่อนหาจ่าย  หาเพิ่มเราสบายใจเราได้ตังค์ หาจ่ายเราเหนื่อย โครงการสินเชื่อเหล่านี้มีไว้ช่วยเหลือสมาชิกที่เดือดร้อนจริงๆ คำว่า “เดือดร้อน” กับ “คิดว่าเดือดร้อน” ไม่เหมือนกัน บางคนไม่ได้เดือดร้อนจริงแต่ชอบคิดว่าเดือดร้อนก็ไปกู้  ขนาดผมเคยถูกธนาคารยื่น notice ถึงสามครั้งแต่ผมยังไปได้อยู่ไม่ยอมจนมุม ดังนั้นถ้าคุณยังไม่เดือดร้อนจริงๆ โปรดคิดให้ยาวก่อนจะสร้างหนี้เพิ่ม

 

 

คุณสุวิทย์ กล่าวเสริมว่า วัยรุ่น Gen Y สมัยนี้มีเงินพลาสติก มีแอพจ่ายเงินต่างๆ ต้องคอยเช็คตัวเอง รวมว่าเรามีหนี้เท่าไหร่ อย่าให้เกิน 30% ของรายได้ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต ทาง FTC มีโครงการช่วยเหลือสมาชิก แต่การใช้เงินนั้นแก้ปัญหานิสัยทางการเงินไม่ได้ ทางนโยบายสหกรณ์ คือเราให้ความรู้กับสมาชิกเพื่อให้สมาชิกมีนิสัยทางการเงินที่ถูกต้อง เด่วเงินจะตามมาเอง

 

ช่วงที่ 5 อย่าคบหนี้เป็นเพื่อนสนิท โดย คุณขุน ณัฐธนัญ

 

ถ้าเราผ่านบทเรียนแล้ว เราต้องนำมาเป็นครูของเรา ผมได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดมาแล้ว ต้องคิดให้มาก เรื่องการเงินต้องรอบคอบมาก 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครรู้ว่ามีโควิด แต่ผมโชคดีมาก ที่เราจัดการหนี้และรายจ่ายต่างๆ หมดสิ้น โควิดเลยไม่ได้กระทบกับผม รายได้จากแอมเวย์ก็คงที่ พอโควิดผ่านไป 6 เดือนผมไปที่ทรู ขอลดโปรโมชั่นโทรศัพท์เหลือเดือนละ 100 ไม่ต้องใช้แพคเกจสูง นอกนั้นใช้ wifi ในบ้าน  ผมวางแผนเพื่อลดค่าไฟเปิดแอร์แค่ 2 ชม. ตั้งเวลาไว้ จนลดค่าไฟเหลือเดือนละ 720 บาท  เรื่องการติดต่อสื่อสาร ผมมีโทรศัพท์รุ่นโบราณไว้โทรเข้าโทรออกเฉพาะ โทรทั้งปีจ่ายครั้งเดียวแค่ 550 บาท อยู่ที่เราวางแผนว่าจะลดค่าใช้จ่ายอย่างไร ผมคิดวางแผนหมดทุกเรื่องเพื่อเวลาเรามีรายรับเข้ามา รายจ่ายออกต้องเล็กลงเรื่อยๆ ไม่ใช่รายจ่ายใหญ่ขึ้นไม่งั้นเราจะเดือดร้อน นี่คือการป้องกันสัญญาณอันตราย

 

คุณสุวิทย์ กล่าวว่า คนรุ่นใหม่มักมีความคิดอันตรายอย่างหนึ่ง คือ คิดว่าต้องพยายามหารายได้มากๆ แล้วชีวิตจะมีความสุข แต่จริงๆ ก็มีปัญหาตามมาเพราะไม่มีวินัยทางการเงิน ในสหกรณ์พยายามสอนสมาชิก ช่วยให้สมาชิกฝึกออมเงินอย่างสม่ำเสมอ และวินัยทางการเงิน 

 

ช่วงที่ 6  สหกรณ์ช่วยป้องกันสัญญาณอันตรายทางการเงินได้ โดย คุณขุน ณัฐธนัญ

คนทั่วไปเข้าใจว่าสหกรณ์คือต้องเข้ามาออมเข้ามากู้ แต่ถ้าเราเข้ามาสู่ระบบสหกรณ์แล้วศึกษาจริงๆ สหกรณ์สอนเราว่า เราต้องเปลี่ยนนิสัยทางการเงินของเรา ให้รู้จักเงินมากขึ้น เราจะรู้จักออมเงินได้ และเงินออมนี่แหละที่จะมาช่วยแก้ปัญหาทางการเงินระยะยาวของเราในอนาคต คนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเพราะไม่มีเงินออม หากเรามีเงินออมสัก 100,000 บาทแล้วเกิดปัญหา  การเงิน 30,000 บาทเราก็ไร้กังวล แต่ถ้าเราไม่มีเงินออม เรามีปัญหาทางการเงินแค่ 5,000 เราก็เดือดร้อนแล้ว 

สหกรณ์มีอบรมอะไรผมเข้าเรียนรู้หมดเลย เราได้ความรู้เยอะมาก สหกรณ์สอนให้เราเป็นคนมีวินัยทางการเงินและเป็นคนมีระเบียบมากขึ้น ใช้อะไรให้คิด หลักการที่ในหลวงร.9 ท่านสอนว่า เงินเมื่อกู้มาต้องนำมาสร้างประโยชน์ ไม่ใช่สร้างภาระให้เรา ผมก็ใช้หลักแบบนี้ สหกรณ์ก็สอนแบบนี้

เมื่อก่อนผมผ่อนบ้านกับธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ส่งดอกเบี้ยให้ธนาคาร แต่พอสหกรณ์มีโครงการเทรดให้เราเข้าร่วมได้  ทุกวันนี้ผมก็เปลี่ยนมาส่งเงินค่าบ้านให้กับสหกรณ์เท่ากับที่เคยส่งธนาคาร แต่ผมได้เงินดอกเบี้ยเฉลี่ยคืน ได้เงินปันผลคืน และสามารถนำเงินนี้ไปลดหย่อนภาษีได้ เราได้สิทธิประโยชน์ 3-4 ต่อ  เมื่อผมมีหนี้อยู่กับสหกรณ์ถ้าผมเสียชีวิต ก็มีเงินสวัสดิการคุ้มครองเงินที่เราเป็นหนี้กับสหกรณ์ถึง 500,000 บาท มีเงินสมทบในเงินเก็บออมของเราที่มีในสหกรณ์อีก 1 เท่า ในระบบของสหกรณ์มีรายละเอียดที่ให้ความคุ้มครองให้สิทธิประโยชน์กับสมาชิก ซึ่งมีประโยชน์มากๆ นี่คือสิ่งที่ผมได้จากสหกรณ์

 

มีคำถามว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์กู้แต่ยาก  คุณขุน ณัฐธนัญ ให้ความเห็นว่า ถ้ามองดีๆ การกู้ยากทำให้คุณมีเวลาคิด ในการที่จะเป็นหนี้นานขึ้น ไม่งั้นถ้ากู้ง่ายก็จะเหมือนคุณรูดบัตรเครดิต ดังนั้นเราต้องคิดใหม่ เราสามารถประวิงเวลาก่อนเป็นหนี้ออกไปอีกระยะนึง ให้เรามีสติคิดมากขึ้นว่าเราหาช่องทางอื่นได้มั้ย การที่กู้ยากแสดงว่าคุณสมบัติคุณยังไม่ได้ เขาเลยยังไม่ให้คุณเป็นหนี้เพิ่ม

 

ช่วงที่ 7 เก็บเงินและลงทุนในระบบสหกรณ์ดีอย่างไร โดย คุณสุพัฒน์

เริ่มแรกคุณต้องเก็บออมก่อน สหกรณ์เป็นที่ให้คุณฝึกฝน หลายคนมีความรู้สึกว่าทำไมต้องลงทุนออมหุ้นกับสหกรณ์ทุกเดือนๆ รอให้เรามีแล้วค่อยไปฝากไม่ได้เหรอ แต่สหกรณ์ดีมากที่สร้างอุปนิสัยทางออมตั้งแต่เริ่มต้นให้เรา สหกรณ์ให้คุณสะสมเงินออมแต่ละเดือนเท่าที่ไหวตามกำลัง คุณออมทีละ 1,000-2,000 ผ่านไปแป๊บเดียว ก็มีเงินเก็บเป็นแสนเป็นล้านได้ นี่เป็นเงินทุนตั้ต้น แล้วเราสามารถเอาไปลงทุนได้ ประเด็นสำคัญคุณลงทุนแล้วคุณมีเงินออมมั้ย เพราะลงทุนแรกๆ ไม่ใช่หวือหวาต้องใช้เวลาถักทอ จนลูกค้าติดเรา ดังนั้นเราต้องมีสายป่านมาต่อทุนโดยที่เราไม่ขัดสน ถ้าสายป่านมาจากการกู้เราก็กลับสู่วงจรเงินกู้เป็นหนี้ การลงทุนต้องดูว่ามีอนาคตมั้ย เราต้องมีสายป่านยาวพอให้ลงทุนต่อได้ เพราะกิจการแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ผมทำแท็กซี่ก็ต้องมีเงินก้อนนึงไว้ ถ้าจะซื้อรถผมก็ซื้อเงินสดเลย ถ้าเรามีเงินสดก็อย่าไปเสียดอกเบี้ยให้ธนาคาร ถ้าคุณมีทุนเองเยอะหน่อย ก็กู้น้อยหน่อย ไม่เป็นภาระมาก 

คุณต้องสร้างอุปนิสัยในการออม ออมในสหกรณ์ดีที่มีเงินปันผล ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารทั่วไป สหกรณ์เปิดโอกาสให้พวกเราสะสมเก็บเงิน จนถึงจุดนึงเราสามารถถอนเงินส่วนนึงมาลงทุนได้ บางคนอาจจะลงทุนหุ้นก็ได้ ลงในคอยน์ก็ได้ แต่ต้องไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน ที่สำคัญเราต้องมีเงินออมเก็บไว้เยอะพอ เพราะวิกฤติเราไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไร ถ้ามีเงินออมไว้ก็จะช่วยเราให้ผ่านวิกฤติปัญหาต่างๆ ได้ 

 

ผมเชื่อมั่นใน FTC เพราะการที่สหกรณ์จะปล่อยเงินสินเชื่อให้ใคร เรารู้ว่าเป็นกลุ่มนักธุรกิจและการปล่อยเงินสินเชื่อแบบระมัดระวัง คณะกรรมการ FTC  มีความน่าเชื่อถือ มีผู้นำที่ดี ผู้ริเริ่มและดำเนินการที่เรามั่นใจ การกู้กับสหกรณ์นั้นถือว่าง่ายที่สุดแล้ว เพราะมีเงินของคุณอยู่ในนี้ คุณฝากเงินมามากพอมั้ยนานพอมั้ย เขาก็พิจารณาวงเงินเวลาคุณจะกู้ก็ง่ายนิดเดียว หากคุณเข้ามาฝากปุ๊บแล้วหวังจะกู้เลยนั้นเป็นไปไม่ได้  สหกรณ์ FTC เป็นสหกรณ์ที่มีมาตรฐานที่ดีอยู่แล้ว ผมจึงไว้ใจและฝากเงินส่วนหนึ่งที่นี่ ที่สำคัญเราต้องรู้ว่าอะไรที่ทำเงินมากที่สุด เราต้องไปตรงนั้น อยากเชิญชวนมาฝากเงินและรับเงินปันผลที่ไม่ต้องเสียภาษี เพราะเงินปันผลอย่างอื่น หรือดอกเบี้ยธนาคารต้องเสียภาษี และอัตราดอกเบี้ยสหกรณ์ก็น่าสนใจพอสมควรเลย 

 

คุณสุวิทย์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของ FTC ตั้งขึ้นเพื่อให้ทุกท่านมาออมเงินในลักษณะที่มาสร้างนิสัยทางการเงินที่ดี เพราะเราเชื่อว่าองค์กรหนึ่ง หากอัพไลน์มีนิสัยทางการเงินที่ไม่ดี องค์กรนี้จะไปต่อได้อย่างไร หากอัพไลน์มีหนี้สิน มีปัญหาความน่าเชื่อถือทางการเงิน ต่อให้มีเข็มสูงก็ไปไม่รอด นิสัยของเราจะดึงดูดสิ่งที่เหมือนกันเข้ามา คนเหมือนกันจะเข้าใกล้กัน ผมประทับใจคำพูดของประธานที่ปรึกษา FTC นพ.วัชรา เคยกล่าวว่า สหกรณ์เป็นชุมนุมของคนมีบุญ หมายความว่า คนที่นิสัยใจคอที่เป็นคนรักครอบครัว มีความมั่นคงทางการเงิน มีชีวิตที่มีความสุข และเก็บออมเพื่อประโยชน์ของลูกหลานในวันข้างหน้า   


ช่วงที่ 8 ข้อคิดเพื่อป้องกันสัญญาณอันตรายทางการเงิน

คุณขุน ณัฐธนัญ ฝากข้อคิดว่า เรื่องการเงินเป็นเรื่องของการวางแผนและการทำความเข้าใจ การบริหารเงินเป็นเรื่องของจิตใจไม่ใช่คณิตศาสตร์ ต้องแยกความจำเป็นกับความอยากให้ได้ เราต้องมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน จ่ายให้น้อยกว่ารับเสมอ  หลักที่ผมใช้คือ รายได้ - เงินออม = รายจ่าย พอมีรายได้นิสัยของเราเปลี่ยนจากที่เคยได้เงินมาแล้วใช้ แต่เดี๋ยวนี้พอเราได้เงินโบนัสมาปุ๊บเราต้องออมเข้าสหกรณ์ก่อน 

เริ่มต้นออมมากหรือน้อยไม่สำคัญ เป้าหมายของการออมคืออุปนิสัย ให้ค่อยๆ ออมทีละเล็กทีละน้อย การมีเงินเยอะไม่ได้แปลว่าปัญหาจะลดลง เงินไม่ได้แก้นิสัย แต่อุปนิสัยเล็กๆ น้อยๆในการออมจะแก้นิสัยทางการเงินได้ เราไม่สามารถมีทุกอย่างเท่าที่เราต้องการได้ จงเลือกสิ่งที่สำคัญก่อน และไม่มีใครใส่ใจเรื่องการเงินของเราเท่ากับตัวเราเอง

สุดท้ายต้องรู้จักพอ

 

    คุณสุพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า คนจะฝากเงินกับสหกรณ์ได้ต้องเป็นสมาชิกแอมเวย์ก่อน เพื่อที่จะได้ทราบที่มาที่ไปของบุคคลเหล่านี้ ทำให้สหกรณ์น่าเชื่อถือ เงื่อนไขนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคงและรากฐานที่ดี 

    คนที่สร้างรายได้ทางเดียว ผมยืนยันว่าต้องสร้างรายได้หลายทาง ถ้ามีรายได้แค่บาลานซ์รายจ่ายคุณจะไม่มีเงินเก็บออม ถ้าคุณหารายได้เพิ่มมากขึ้น ชีวิตคุณก็ดำรงอยู่ได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตเราไปได้ดีคือการมีระเบียบวินัยในการใช้เงิน พอเพียงอยู่บนบรรทัดฐานของความถูกต้องในชีวิตเรา คนมีมากใช้มากหน่อยแต่ต้องมีเงินเหลือเก็บออม คนมีน้อยก็ใช้น้อยหน่อยและมีเหลือเก็บออม เมื่อออมแล้วนำไปเพิ่มพูนรายได้ที่มากขึ้น การลงทุนอย่าลงตามที่คนบอกว่าดี แต่ให้ใช้วิจารณญานก่อนลงทุนจึงจะมีอนาคต ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องอยู่ในระเบียบวินัย ใช้เงินให้มีประโยชน์มีคุณค่ามากที่สุด หากเราบริหารตัวเองให้ดี จัดการทางการเงินให้ดี อดออมให้ดี ทุกอย่างจะผ่านไปได้ดี 

 

ของฝากจาก FTC โครงการเพื่อนชวนเพื่อน โดย คุณอ้อม สุนิดา

แอพลิเคชั่น  Co Op Network ใครยังไม่โหลดต้องรีบด่วนๆ เพราะสามารถถอนเงิน โอนเงิน รับเงินกู้ ง่ายเพียงแอพเดียว

ข่าวดี! ขยายเวลาโครงการเพื่อนชวนเพื่อน สำหรับสมาชิกที่ชวนเพื่อนมาสมัครสมาชิกสหกรณ์ 3 คน รับเงินหุ้นพิเศษ 600 บาท จนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2564 

ท่านที่สนใจอยากเป็นสมาชิกสหกรณ์ สามารถส่งเอกสารทางไปรษณีย์ได้แล้ว โดยดาวน์โหลดใบสมัครและตัวอย่างการกรอกจากเว็บไซท์ www.ftccoop.com จากนั้นกรอกรายละอียดและส่งไปรษณีย์มาที่ FTC และเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับท่านเพื่อยืนยันตัวตนอีกครั้ง 

ท่านใดที่ต้องการสอบถามหรือขอคำปรึกษาทางการเงินสามารถติดต่อ FTC ได้ทุกช่องทางการติดต่อทั้ง สำนักงานใหญ่ สำนักบริการภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่และนครราชสีมา หรือไลน์ @freetrade 

 

ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้

วันนี้เพื่อนๆ ได้ข้อคิดดีๆ และรู้จุดสังเกตสัญญาณอันตรายทางการเงิน จากวิทยากรทั้งสองท่านที่นำประสบการณ์จริงมาแบ่งปัน แอดขอสรุป 6 แนวทางติดเบรคอันตรายก่อนสถานะทางการเงินของเพื่อนๆ จะส่งสัญญาณไฟแดง 

1. สร้างมายเซ็ทและนิสัยที่ถูกต้องในการใช้จ่าย เช่น ไม่ใช้เงินอนาคต มองบัตรเครดิตว่าคือความสามารถในการก่อหนี้ ไม่ใช้เงินของเรา รูดแล้วรีบคืน  
2. สร้างวิธีสะกดรอยเงิน สำรวจรอยรั่วและอุดรอยรั่วทางการเงินด้วยการจดบันทึก หรือใช้แอพลิเคชั่นบันทึกรายรับรายจ่าย 
3. สร้างรายได้มากกว่าหนึ่งทางเสมอ

4. สร้างวินัยการออมก่อนใช้จ่ายด้วยหลักการ  “รายได้ - เงินออม = รายจ่าย”

5. บริหารเงินออมและลงทุนอย่างเหมาะสม 

6. รู้จักพอเพียง แยกความจำเป็นกับความอยากให้ได้ และเลือกจ่ายเฉพาะที่จำเป็น 

 

อย่าลืมกลับมาพบกับแนวคิดดีๆที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและการลงทุนให้เพื่อนๆ ทาง  FTC Channel ทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น.