คลินิกแก้หนี้ ทางออกคนเป็นหนี้

โดย Admin T
 วันที่ 11 พ.ย. 2564 เวลา 11:41 น.
 3626

สรุปบทความ FTC Channel

คลินิกแก้หนี้ ทางออกคนเป็นหนี้ 

“ไม่หนี และพร้อมจ่าย” 

 

เช้าวันเสาร์แบบนี้ FTC Channel ชวนเพื่อนๆ มาหาทางออกสำหรับคนเป็นหนี้แบบ “ไม่หนีและพร้อมจ่าย” จากผู้รอบรู้ด้านการเงิน คุณคมสัน สำราญเฟื่องสุข กรรมการเงินกู้ FTC คุณสายพิณ ตรีกิตติวัฒน์ เลขานุการคณะกรรมการเงินกู้ FTC ดำเนินรายการโดย คุณธนภูมิ พันธุมสุต  กรรมการการศึกษา FTC และคุณจุฑามาศ บุญรอด เจ้าหน้าที่ FTC สำนักบริการสุราษฎร์ธานี ร่วมชี้ทางสว่างทางการเงินเพื่อคนเป็นหนี้และยังไม่เป็นหนี้ต้องรู้ !

 

ช่วงแรก เปิดตัวทำความรู้จักวิทยากรสอนแก้หนี้

คุณเบิ้ล คมสัน เดิมที่บ้านทำกิจการส่วนตัว ผมเคยทำงานประจำเป็นพนักงานธนาคารมาก่อน ด้วยบุคลิกส่วนตัวเป็นคนขี้อาย ไม่ชอบยุ่งกับคน ไม่ชอบขายของ ถ้าทำงานเอกสารในธนาคารผมทำได้ แต่งานธนาคารต้องมีการขายบัตรเครดิต ขายประกันชีวิตต่างๆ ซึ่งขัดกับบุคลิกส่วนตัวมาก ถ้าต้องทำแบบนี้ไปตลอดคงไม่ตอบโจทย์ อีกอย่างผมเป็นลูกชายคนเดียวต้องดูแลครอบครัว เงินเดือนเริ่มต้นตอนนั้น 12,500 บาท แค่พอใช้พอดูแลตัวเอง แต่ถ้าจะดูแลคนที่เรารักได้แบบดีแค่งานประจำคงไม่พอ เลยหาอะไรทำเพิ่มเพื่อจะดูแลคนที่เรารักได้ จนได้เจอธุรกิจแอมเวย์ก็ตั้งใจทำจนประสบความสำเร็จเป็นแพลทตินั่มสองผู้สถาปนา

 

หลายคนอาจคิดว่าผมทำงานธนาคาร ต้องมีความรู้ด้านการบริหารการเงิน และจัดการการเงินส่วนบุคคลได้ดี แต่จริงๆ ไม่เกี่ยวเลย เพราะผมจบรัฐศาสตร์ เราเพียงมีความสนใจชอบเรื่องบริหารการเงินเป็นทุนเดิม และพนักงานธนาคารก็อาจเก่งในการดูแลบริหารการเงินของคนอื่น แต่หลายคนไม่มีความรู้ในการบริหารการเงินส่วนบุคคล อยากบอกว่าคนที่มีปัญหาผิดพลาดทางการเงินเป็นคนในธนาคารเองเยอะมากด้วยซ้ำ ผมเคยเจอบางท่านที่มีปัญหาติดเครดิตบูโร หรือมีหนี้บัตรเครดิตเป็นสิบใบ อีกสักครู่เราจะมาทราบว่าความผิดพลาดทางการเงินว่ามีสาเหตุจากอะไรบ้าง และจะมีแนวคิดแนวทางแก้ไขอย่างไร  

 

คุณบี๋ สายพิณ จบนิติศาสตร์ ทำงานด้านกฎหมายทำคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิสตรีทั่วราชอาณาจักร จากนั้นได้ทำงานเป็นนักจัดรายการวิทยุ เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล เปิดบริษัทฝึกอบรมของตัวเอง และทำธุรกิจแอมเวย์โดยให้ความสำคัญกับธุรกิจเป็นอันดับแรก ทำแอมเวย์ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันรายได้ต่อเดือนราวแสนกว่าบาทอยู่แบบประหยัดๆ อยู่ได้ และเป็นรายได้ที่มาตลอดเป็น Passive income 

วันนี้เรามาเรียนรู้เรื่องการจัดการเงิน จัดการชีวิต จัดการหนี้ แต่อยากบอกว่า หนี้เราคงไม่หายไปในพริบตา เพราะเราใช้เวลาสร้างหนี้มาก็ต้องใช้เวลาแก้หนี้ 

 

ช่วงที่ 2 จัดการการเงินแบบไหนไม่ติดกับดักหนี้ 

คุณเบิ้ล คมสัน กล่าวว่า วิธีจัดการการเงินมีหลายวิธี แต่การจัดการการเงินที่ดี เราควรทำงบวางแผนการเงินล่วงหน้าก่อนใช้เงิน การทำงบล่วงหน้าอาจได้ผลมากกว่า 

ผมอยากชี้ให้เห็นกับดักมุมมองของการที่เราอยากประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยที่เราไม่ได้ละเอียดกับมุมมองของความสำเร็จ เพราะเราทุกคนอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น หลายคนคิดว่า เจอปัญหาไม่ต้องกลัวก็สำเร็จเพิ่มสิ ความคิดนี้ถูกเพียงส่วนหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด เพราะในขณะที่คนหนึ่งทำความสำเร็จเพิ่ม แต่กลับยังคงสร้างปัญหาใหม่เพิ่มไปด้วย เมื่อสำเร็จเพิ่มปัญหาเดิมถูกแก้แต่อีกปัญหาใหม่ยังอยู่ คุณไม่ผิดหากจะซื้อรถใหม่ถ้าเรามีการวางแผนและการจัดการที่ดี เราสร้างความสำเร็จเพิ่มแต่ยังสร้างปัญหาใหม่ ดังนั้นความสำเร็จระดับเดิมก็แก้ไม่ได้แล้ว จึงต้องสำเร็จเพิ่มอีก วนไปเป็นวงจรแบบนี้ 

เราพูดถึงธุรกิจทั่วไปบนโลกที่มีขึ้นมีลง มีปัจจัยที่คุมไม่ได้ มีบางจังหวะไม่ได้ดั่งใจ ถ้าคุณสร้างปัญหาไว้เยอะ แน่นอนว่าต้องเดือนร้อนแน่ๆ อยากเตือนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อย่าติดกับดักในการใช้เงิน เนื่องจากยุคใหม่เราใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจค่อนข้างเยอะ เช่น ซื้อรถ ซื้อ iPad ใหม่ เพราะเราต้องใช้ในการสร้างธุรกิจ แต่ถ้าเรามีเครื่องเดิมที่ใช้ได้ แต่กลับไปซื้อเครื่องใหม่ หรือเมื่อต้องซื้อมี iPad รุ่นราคา 10,000 กับ 30,000 คุณใช้แค่เปิดซูมเข้ายูทูบ คุณไม่ซื้อรุ่น10,000แต่กลับซื้อรุ่น30,000มาใช้ มันเกินความต้องการ แต่เหตุผลคือเราต้องใช้ทำธุรกิจเราจึงไม่ได้รู้สึกผิดอะไรเลย ทั้งโทรศัพท์ใหม่ iPhone ออกใหม่ รถคันใหม่ที่เรานำมาแสดงว่าเราสำเร็จเพิ่มเป็นตัวอย่างให้ดาวไลน์ เพื่อทำให้เราทำธุรกิจง่ายขึ้นเพราะเรามีทรัพย์สินภายนอกมาโชว์ นี่อาจจะจริงแค่ส่วนเดียว หากคุณเริ่มธุรกิจจากไม่มีอะไรเลย ก็สร้างความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้มาจากทรัพย์สินหรือปัจจัยภายนอก ถ้าวันนึงคุณประสบความสำเร็จแล้ว คุณต้องมีสิ่งของภายนอกคุณจึงจะสำเร็จเพิ่มเหรอ ทั้งๆ ที่คุณเริ่มจากไม่มีอะไรมาก่อน คุณยังทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ ที่จริงแล้วคุณสำเร็จได้จากตัวคุณเอง

ถ้าผมจะซื้อโทรศัพท์มือถือใหม่ ปกติผมจะไม่ซื้อรุ่นใหม่ล่าสุด สมมติมี iPhone 5 ออกใหม่ผมจะซื้อ iPhone 4 ถ้ามี iPhone 6 ผมจะซื้อ iPhone 5 มันจะถูกลงเยอะมาก เพราะเทคโนโลยีที่เราได้มาและคุณตื่นเต้นตอนนี้ มันก็จะตกรุ่นในปีหน้า และเชื่อเถอะว่าเทคโนโลยีล้ำๆ ที่เราได้มา เราไม่ได้ใช้ด้วยซ้ำ เวลาที่เราใช้มือถือเราก็ใส่ในกระเป๋า ไม่ได้เลี่ยมทองมาห้อยคอ นี่เป็นมายเซททางการเงิน ว่าคุณค่าอยู่ที่ตัวเรา ให้ใช้ตามกำลัง รู้ตัวเอง และมีความสุขจากตัวเอง ไม่ใช่ความสุขจากที่คนอื่นมอง อย่าไปหลงกับอะไรตรงนั้น เราซื้อได้ทุกอย่างเพื่อใช้อย่างเหมาะสม อยากเตือนเรื่องวิธีคิดของการใช้ออกเพราะสำคัญมาก 

 

คุณบอม ราชดำเนิน กล่าวเสริมว่า ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง เพราะผมเคยทำธุรกิจขายโทรศัพท์มือถือมาก่อน เวลาคุณหมอวัชราท่านจะซื้อมือถือ ท่านจะให้ผมช่วยจัดหาให้ ผมคิดว่าคุณหมอท่านมีรายได้สูงจะซื้อรุ่นไหนก็ได้ แต่ปัจจุบันท่านใช้แค่ iPhone 10 ในขณะที่คนรอบข้างสั่งผมซื้อ iPhone 12 ท่านสอนผมนี่คือนิสัยของการจัดการการเงินของท่านที่ผมเรียนรู้จากท่าน

 

คุณบี๋ สายพิณ ขอพูดต่อในเรื่องมายเซทที่เรามีมาตั้งแต่ยุคเจ้าขุนมูลนาย ในสังคมไทยที่เราใช้กันอยู่ ที่พอแต่งงานแล้วสามีบอกภรรยาว่า คุณไม่ต้องทำงานแล้วอยู่บ้านเลี้ยงลูก เดี๋ยวฉันเลี้ยงเธอเอง จู่ๆ ก็ตัดรายได้ไปทางหนึ่ง แล้วภรรยาที่จบปริญญาโทมาก็ออกมาเลี้ยงลูก พอลูกโตจะกลับไปหางานใหม่ จะยากเพราะเราห่างจากงานประจำไปนาน ยุคสมัยเปลี่ยน คนจบโทก็ต้องไปทำเบเกอรี่ขาย ขายของออนไลน์ นี่เป็นวิธีคิดที่ไม่ถูก หรือเราดูคนที่ทำธุรกิจอื่น เมื่อสำเร็จก็เช่ารถแลมโบกินี่มาถ่ายรูป หรือไปเที่ยวพักโรงแรมหรูๆ แล้วเซลฟี่อวดร่ำอวดรวย เพราะธุรกิจอื่นไม่มีอะไรที่จับต้องได้ แต่สังเกตคนที่ทำธุรกิจแอมเวย์ ยิ่งสำเร็จสูงยิ่งถ่อมตน บางคนเราไม่รู้เลยว่าท่านรวย วันนึงท่านบอกว่าเพิ่งซื้อรถเบนซ์มือสองมา ซื้อเงินสดจ่าย 800,000 นี่คือรวยและรู้จักใช้เงิน

พี่ชอบคำคนโบราณคำว่ารับผิดชอบ คือมีทั้งรับผิดและรับชอบ คำว่ามีสติสตางค์ คือเมื่อไหร่ที่มีสติถึงจะมีสตางค์ ไม่มีสติก็ไม่มีสตางค์ นี่คือวิถีชีวิต สังเกตว่าคนที่สร้างเนื้อสร้างตัวได้มีฐานะดี มายเซ็ทต้องดีก่อน  บางคนก่อหนี้โดยไม่พร้อม กู้ไปเถอะถ้าไม่พอตรงนี้ค่อยไปกู้ทางนั้นมาโปะ การจะแก้หนี้ด้วยการสร้างหนี้เป็นไปไม่ได้ การจะแก้หนี้ได้คือคาแรคเตอร์ของผู้เป็นลูกหนี้ คุณมาถึงจุดนี้ได้ยังไง ทำไมเกิดเหตุนี้ขึ้น บางคนมีนิสัยกินใช้เกินรายได้มาตลอด เห็นเพื่อนถือกระเป๋าแบรนด์เนมแสนกว่าบาทเราต้องถือด้วย เห็นเพื่อนส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ก็อยากส่งด้วย แต่ไม่ได้มองลึกๆ ว่าสามีเขาทำงานอะไร เขาเป็นคุณหมอเป็นนักธุรกิจรายได้ 200,000-300,000 เขาส่งลูกเรียนรร.อินเตอร์ไม่ผิด แต่เรารายได้รวมกันสองคน 70,00 นี่เป็นต้นเหตุของการกู้หนี้ยืมสิน หลายคนเข้าร้านทำผม 4,000 บาท ทำเล็บชุดละ 500 บาท แต่สำหรับบี๋เราทำสีผมเอง โควิดเราพัฒนาทักษะทางความสามารถของเราเอง

วันนี้ เราต้องมีมายเซ็ทที่ถูกต้องกับเงินก่อน เราต้องรักเงินก่อน เห็นคุณค่าของเงิน ไม่ใช่เห็นเงินเป็นศัตรู ก่อนจะก่อหนี้เราต้องถามก่อนว่า นี่เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้มั้ย หรือเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่เกินจำเป็น หากเราอยากรวยหรืออยากรอดในสถานการณ์ต่างๆ  เราต้องใช้จ่ายต่ำกว่ารายได้ก่อน แต่คนปัจจุบันคนเราใช้จ่ายเกินรายได้ทุกคน การละลายความเครียดด้วยการใช้จ่ายเงิน คุณไม่มีทางสบายใจได้นานหรอก คุณสบายใจแค่สองสามวันที่ไปเที่ยว หลังจากนั้นต้องมีภาระต้องเครียดไปอีกนานที่เงินหายวับไปกับตาในสามวัน ดังนั้นถ้าวันนี้เราจะสร้างหนี้เราต้องถามก่อน เช่น หากเรามีเงิน 20ล้าน เราปลูกบ้านหลังใหญ่อยู่เอง 20ล้านก็ได้แค่อวดรวย แต่ถ้าเราแบ่งมาปลูกบ้านอยู่อาศัยเอง 5ล้าน แล้วอีก 15ล้านนำไปลงทุน อีก 5ล้านไปสร้างบ้านเล็กๆ ให้คนเช่า นี่คือเป็นหนี้เหมือนกัน แต่หนี้นั้นก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้นก่อนเกิดหนี้ใดๆ ถามตัวเองก่อนว่าหนี้ที่จะก่อเป็นสิ่งจำเป็นมั้ย เป็น Need หรือเป็นแค่ Want เห็นเพื่อนมีแล้วเราอยากมี เพราะทรัพย์สินหลายอย่างไม่ได้พาความสุขมาให้แต่พาความทุกข์มา บี๋มั่นใจว่าถ้า Oppo บี๋ตกพื้นบี๋ไม่สะเทือน แต่ถ้า iPhone13 ตกบี๋คงเจ็บกระดองใจ หรือถ้าเราถือกระเป๋าใบละแสน เรากล้าวางเหรอ ถ้าเราใส่ชุดผ้าไหมที่เราต้องส่งซักแห้งตลอด นี่เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นกับชีวิตเรา กลายเป็นภาระในการดูแล ตกลงเราเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือทรัพย์สินเป็นเจ้าของเรา นี่คืออยากสะท้อนเรื่องมายเซ็ทที่ถูกต้องก่อน      

 

ช่วงที่ 3 จัดการการเงินเพื่อความสุขเมื่อของบางอย่างมันต้องมี โดย คุณเบิ้ล คมสัน

เราอาจเคยไปฟังการบริหารการเงินจากคนอีกยุคนึง ที่คนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นอาจไม่ชอบ คิดว่าเราใช้จ่ายอะไรไม่ได้เลยเหรอ ชีวิตสั้นจะตายต้องหาความสุขบ้าง ผมขอยืนยันว่า เรายังสามารถใช้จ่ายเงินหาความสุข จ่ายเงินซื้อความฝันให้ตัวเองได้ แต่การทำทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของสติ การวางแผน และการอดใจเป็น ของทุกอย่างมีช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นวันที่คุณอยากซื้อความฝัน อยากมีชีวิตที่ดี ไม่ได้หมายความว่ามันต้องตอนนี้เดี๋ยวนี้ คุณอาจจะได้สิ่งของ แต่คุณไม่ได้พัฒนาตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่มีสติ มีปัญญาเลย ได้แค่สนองตัณหาตัวเองเท่านั้น 

ในปี 2563 ปีที่มีโควิด ทุกคนกระทบมาก แต่เป็นปีที่ผมถือว่าชีวิตผมดีมาก แม้ไม่ต้องออกจากบ้านแต่ผมรายได้ไม่ลดลง  ผมยืนยันว่าเราสามารถซื้อความฝันเราได้หลายๆ อย่าง ในเวลาที่เหมาะสมบนพื้นฐานของสติ ต้องวางแผนการใช้จ่าย รู้สถานการณ์ของตัวเอง บางคนประหยัดทุกเม็ดไม่ใช้จ่ายอะไรเลย แบบนี้ก็ไม่ใช่ ก็เป็นทาสของเงินเหมือนกัน 

คุณเริ่มทำงบการเงินเลย คิดจากรายได้เดือนที่ต่ำที่สุดของรายได้แอมเวย์เรา จัดสรรออมตามความเหมาะสมที่คุณบริหารจัดการได้จริงๆ  รายจ่ายต่อเดือนเท่าไหร่เขียนละเอียดออกมา ผ่อนมือถือเท่าไหร่ ผ่อนรถเท่าไหร่ ผ่อนบ้านเท่าไหร่ เงินสองก้อนนี้สำคัญมากๆ เราจัดสรรให้ตัวเองใช้ได้เดือนละเท่าไหร่ น้อยเกินไปก็ไม่ดี แล้วเราจะเห็นเองว่าเราเหลือเท่าไหร่ เราสามารถเก็บเงินที่เหลือไว้ซื้อความฝันในอนาคตเราได้เท่าไหร่ หรือไปผ่อนเท่าไหร่ ความฝันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น ความฝันคนๆ หนึ่ง รถที่คุณชอบที่สุดคือ Civic แต่คนสำเร็จคนอื่นขับเบนซ์ ขับ BMW เราไม่ต้องเปลี่ยนความฝันของเรา ต้องมีสติรู้จักตัวเอง ไม่ต้องเปรียบเทียบหรือตามใคร ถ้าคุณเข้าใจตัวเอง มีสติคุณจะบริหารจัดการได้ดีมากๆ  

    

ช่วงที่ 4 การจัดการการเงินสำหรับผู้รายมีได้เพิ่มเยอะและรายจ่ายเยอะ โดย คุณบี๋ สายพิณ

สมัยก่อนธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจประกัน มักจะสอนให้ทุบหม้อข้าวเผาสะพาน ตัดทางทุกทางเหลือประกันอย่างเดียว แต่ในธุรกิจแอมเวย์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำควบคู่งานประจำได้ หากคุณเพิ่งเริ่มมีรายได้ในธุรกิจขั้นต้น แล้วออกจากงานประจำ ตัดรายได้ตัวเองไปหนึ่งทางนั้นไม่ได้ เรามีแต่จะต้องหาทางเพิ่มรายได้ หากคุณออกจากงานประจำ เดิมมีผู้มุ่งหวังที่ทำงานด้วยกัน ที่กินข้าวด้วยกันทุกวัน ติดตามกันได้ทุกวัน แต่พอออกจากงานจะเข้าไปพบหรือติดตามก็ทำไม่ได้เหมือนเดิม ต้องแลกบัตรในการติดต่อ ต้องยุ่งยาก ดังนั้น หากเราทำงานประจำและพิจารณาทำธุรกิจแอมเวย์จริงจังดูสักที ทำจนประสบความสำเร็จ มีรายได้แอมเวย์ชนะมากกว่างานประจำสักสามเท่า จนภาระงานแอมเวย์ล้นมือต้องออกมาทำเต็มตัว หรือองค์กรเราเรียกร้องค่อยออกมา ถ้าเราไม่วางแผนการเงินก็จะกระทบกระเทือนกับภาระหลัก 

บางคนไม่วางแผนการเงิน เงินเดือน 15,000 ทำงานได้เท่าไรก็ส่งเงินให้ทางบ้านอย่างเดียวตัวเองกินอยู่ 3,000 ต้องส่งแบบนี้ 10 ปี ภูมิใจที่เป็นลูกกตัญญู แต่ต้องย้อนไปดูว่าที่บ้านกินอยู่ใช้จ่ายอย่างไร บางคนซื้อหวยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในขณะที่คนหาเงินต้องกระเบียดกระเสียน ดังนั้นมายเซ็ทเวลาเรามีเงินวางตรงหน้า เราต้องหาช่องทางให้เงินมีทางไปอย่างถูกต้องด้วย โดยไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นจะมองเรายังไง การออมมีเราต้องออมสองกระเป๋า คือ หลักการออมความมั่นคงถอนได้เมื่อเกษียณ เช่น Provident fund หรือ ออมกับ FTC ที่ถ้าเราถอนทุนเรือนหุ้นคือการปิดบัญชี  อีกทางคือกระเป๋าเงินออมสำรองฉุกเฉิน เมื่อเกิดวิกฤติเราไม่วิกฤติไปด้วย ที่เราเก็บออมเท่ากับค่าใช้จ่ายประจำ ไม่ว่าผ่อนบ้านผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิตรวมกันต้องจ่ายเท่าไรแล้วเก็บล่วงไว้หน้า 6 เดือน หากจู่ๆ ที่ทำงานปิดกิจการเราจะได้อยู่พอหายใจต่อไปได้อีกอย่างน้อย 6 เดือน แต่ถ้าคนที่มีรายได้มั่นคงมักจะเก็บเท่ารายได้ประจำสำรองไว้หนึ่งปี เช่น เงินเดือน 15,000 เก็บ 180,000 ถามว่าเก็บได้มั้ย ถ้าเป็นเป้าหมายของเราต้องทำได้  

หากเราเขียนเป้าหมายการเงินของเราชัดเจน เขียนเป้าหมายการแก้ไขหนี้ชัดเจน เราจะเห็นที่ไปของเงิน ตามรอยเงินถูกและตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกได้ ตอนนี้หลายคนอาจกำลังเป็นหนี้หลายก้อน ให้นำกระดาษ A4 มาเขียนแจกแจงหนี้ของเราว่ามีหนี้อะไรบ้าง ฝั่งนี้หนี้บัตรเครดิต เช่น เฟริสท์ช้อยส์ มีหนี้เท่าไหร่ จ่ายดอกเบี้ยกี่% และเราวางแผนที่จะจบหนี้ก้อนนี้เมื่อไหร่ และหลังจากนั้นเลิกบัตรใบนี้โดยแจ้งทางธนาคารตัดบัตรทิ้ง หรือถ้ามีหนี้รถ ปัจจุบันรถให้ผ่อนได้ 6 ปี 72 เดือน บางที่ให้ผ่อน 84 เดือนคือรถพังแล้วแต่ยังผ่อนไม่หมดก็มี เราต้องวางแผนว่าถ้าจะผ่อนรถต้องจบเมื่อไหร่ 

การที่เราเขียนหนี้ออกมาในกระดาษแบบนี้เพื่ออะไร เพื่อดูว่าหนี้ไหนดอกเบี้ยสูงให้รีบปิดหนี้ก้อนนั้นก่อน ให้เหลือหนี้ที่ดอกเบี้ยน้อย และขณะเดียวกันอย่ารอแค่รายได้จากงานประจำ ต้องเพิ่มช่องทางหารายได้เพิ่ม คุณมีทักษะอะไรทำเพิ่มได้ เช่น ทำอาหารอร่อย ทำขนมอร่อย เรารับพรีออเดอร์ จองขายก่อนทำแล้วส่งเลย ไม่มีความเสี่ยง เราต้องเริ่มต้นจากความจริงใจที่จะวางแผนแก้หนี้ 

ภาษิตโบราณกล่าวว่า เดินทางไกลอย่าแบกของหนัก บางทีเราแบกภาระหนักไป เช่น เป็นมรกตใหม่ เพชรใหม่ ที่ตำแหน่งใหม่ยังไม่เสถียร ถ้าเราสร้างองค์กรยังไม่แน่นพอ เวลาที่เข็มไปถึงแต่คุณสมบัติเรายังไม่ถึงอย่าเพิ่งรีบแบกของหนัก อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยนไปอยู่บ้านเดี่ยวตั้งแต่เรายังไม่พร้อมจริงๆ และอย่ารับการปลูกฝังมายเซ็ทผิดๆ ที่เมื่อพอทำงานบริษัทได้ ต้องมีบ้าน มีรถ ต้องแต่งงาน มีลูกสองคน มายเซ็ทนี้เป็นมายเซ็ทไปสู่ความจน หากไม่พร้อมไม่จำเป็นต้องมีลูก หรือแต่งงาน การเลือกคู่ก็สำคัญ เมื่อเราเอื้อมดอกฟ้าเราจะดูแลแบบกระถางลงดินเขาก็ไม่เอา เพราะภาระหนี้ที่เรามีในตอนนี้มันเกิดมาจากมายเซ็ทบางอย่างที่เราผิดพลาดไป แต่เราแก้ไขได้  ขอให้เราจริงใจกับการกลับมามองหนี้ของเราอย่างจริงจัง เพราะที่สุดแล้วอาจนำไปสู่การล้มละลายได้ ขอให้เอาจริงกับการแก้หนี้ของเรา หนึ่งคือไม่ก่อหนี้ใหม่ สองคือพยายามปลดจากพันธนาการหนี้เดิม  ถ้าเป็นหนี้นอกระบบไม่ควรดีลกับเขาตั้งแต่ต้น เพราะคำว่านอกระบบมีความโหดของดอกเบี้ยและผิดกฎหมาย เขาจะทวงหนี้อย่างไรก็ได้ มาขู่ พังร้าน แต่ที่น่ากลัวไม่แพ้กัน คือหนี้ในระบบ เช่น เรารูดบัตรเครดิต 10,000 เราจ่ายไป 9,999 เหลือหนึ่งบาท เขาไม่ได้คิดดอกเบี้ยจากหนึ่งบาทที่เรายังไม่จ่าย แต่คิดจาก 10,000 และระยะเวลานับ 45 วัน ไม่ได้คิดจากวันที่เราผิดนัดสัญญาชำระ คิดตั้งแต่วันที่เรารูดทำรายการ ใบที่มาหลัง statement ขอให้กลับไปอ่านดูให้ละเอียด ดอกเบี้ยบัตรเครดิตตอนนี้อยู่ที่ 28% นอกระบบโหดแค่ไหน ในระบบก็โหดแค่นั้นแต่มีกฎหมายรองรับ  

บี๋เคยเห็นคนไปกินข้าวกับเพื่อน เวลาคิดเงิน 5,000 เขารูดบัตรเครดิตและหารกับเพื่อนสิบคนจ่ายเงินสดมารวม 4,500 แต่เขาไม่ได้เอากลับเข้ามาในแบงค์จ่ายบัตรที่รูดแต่เอาไปใช้จ่าย พอ statement บัตรเครดิตมาหาเขา 5,000  แต่เงิน 4,500 ที่เพื่อนแชร์มาคือละลายหายไปหมดแล้ว ดังนั้นถ้าเราจะแก้หนี้ความรู้ทางการเงินสำคัญมากๆ เรื่องใหญ่ที่มหาวิทยาลัยไม่เคยสอนเรา ถ้าจะแก้หนี้ หนึ่งให้มาศึกษาความรู้ทางการเงินกับ FTC ทุกวันเสาร์ สองศึกษาเพิ่มเติมจากยูทูบ และหนังสือตำราการเงิน ตลาดหุ้นต่างๆ เปิดช่องทางการเงินให้กระจ่าง วิธีหาเงินเพิ่มศักยภาพทางการเงินของเรายังไม่พอ แต่เราต้องสามารถวิเคราะห์รายได้ของเรา ว่ารายได้ไหนเป็นรายได้ถาวรของเราจริงๆ ไม่ใช่เดือนพ.ย.มีโบนัส 400,000 รีบเอาไปดาวน์รถ มันไม่ใช่ โดยอาจจะนำรายได้ทั้งปีมาบวกกันหารเฉลี่ย 12 เดือน หรือคิดจากรายได้ที่ต่ำที่สุดของเราในรอบสามปีแล้วบริหารจากตรงนั้น  อีกอย่างต้องวิเคราะห์รายจ่ายแต่ละก้อนของเรา ที่เราไปอุปถัมภ์คนอื่นโดยที่ไม่ควรอุปถัมภ์  แต่เราสืบทราบว่าเขาเอาไปเล่นหวยทุกเดือน คุณก็ไม่ควรได้รับการสนับสนุนเงินก้อนนี้  เพราะคำว่าหวย แยกเป็น ห คือ หายนะ ว คือวอดวาย ย คือย่อยยับ ดังนั้นหากจะปลดหนี้เราต้องตัดอบายมุขออกจากชีวิตเราทั้งหมด ทั้งเล่นหวย เล่นการพนัน กินเหล้า สูบบุหรี่ มีเมียเยอะ 

 

ช่วงที่ 5  ถ้าก้าวพลาดไปแล้วควรเริ่มจากจุดไหน ไปต่ออย่างไร? โดย คุณเบิ้ล คมสัน 

การที่เราผิดพลาดทางการเงินไม่ใช่สิ่งที่ผิด อย่าโทษตัวเอง เพราะบางคนเป็นภาวะที่ต้องเป็น เช่น ภรรยาป่วย ต้องใช้เงินจำนวนมาก เกิดได้ทุกชนชั้นทุกอาชีพ เรื่องของการเงินคือเรื่องของมายเซ็ท ความรู้ทางการเงิน และกำลังใจที่ดี มีสติ การแก้ปัญหาเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน ปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

 

อันดับแรกขอให้ตั้งสติก่อน สองต้องรู้สถานะทางการเงินของเรา เหมือนเวลาคุณหมอจะรักษาคนไข้ต้องรู้อาการก่อน ทำแบบที่คุณบี๋บอกคือหยิบมาเขียนทุกอย่าง เพื่อให้รู้ว่าสถานการณ์การเงินเราโคม่าขนาดไหน เขียนแบบจริงๆ หากคุณไม่เขียนจะไม่รู้จะแก้ไม่ได้ 

 

สามอย่าให้หนักกว่าเดิม อย่าก่อหนี้เพิ่ม อย่าเอาเงินกู้ดอกเบี้ยสูงมาโปะดอกเบี้ยต่ำ หรือจากบัตรเครดิตไปบัตรกดเงินสด ไปยืมญาติ ไปกู้นอกระบบที่ทำให้แย่กว่าเดิม อย่าแก้ปัญหาแค่เฉพาะหน้า ให้แก้ปัญหาระยะยาว ดูว่าพอมีหนทางมั้ยที่จะหาเงินก้อนใหญ่พอที่ทำให้รายจ่ายเราลดนำมาปิดหนี้ก้อนนี้ได้ ทำให้กระแสเงินสดกลับเข้ามา อาจจะลดดอกเบี้ย หรือยืดระยะเวลาชำระหนี้ได้ 

 

สี่ดูรายการทรัพย์สินหนี้สินที่จัดการได้แต่เราไม่จัดการ เช่น เราผ่อนรถเดือนละ 15,000 หากขายรถคันนี้ไปขับคันเดิม หนี้จะหมดเลย อย่าเพียงประหยัด แต่ลดรายจ่ายที่อาจมีผลทางหน้าตาความรู้สึก หรือบ้านที่ใหญ่เกินตัว ก็ขายเลยจะลดรายจ่ายได้ทันที และอาจได้กำไรจากการขายทำให้คุณโล่งไปเลย อย่างที่ผมบอกเรื่องหลุมพรางความสำเร็จที่เราต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องการใช้ของที่ดี นี่คือกับดักที่ใหญ่มาก ถ้าคุณถอดตรงนี้ได้ คุณจะมีความสำเร็จที่แท้จริง  เพราะเป็นความสำเร็จที่ทำให้ชีวิตคุณมีความสุข การใช้รถถูกลง อยู่บ้านหลังเล็กลงไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นการยอมรับสภาพความเป็นจริงและพร้อมเริ่มต้นใหม่

 

ถ้ามีหนี้ สำคัญมากที่เราต้องใช้หนี้ เพราะวันที่คุณใช้หนี้จนหมดจะทำให้ชีวิตคุณภูมิใจและไปต่อได้ เพราะวันที่เราไปเอาเงินเขามา เขามีพระคุณต่อเรา การที่เราคืนเงินเขาได้คือเรารู้พระคุณและกตัญญู และให้คุยหากถูกโทรติดตามให้พยายามคุยกับทุกเจ้า เรื่องการเงินเราต่อรองได้ เพราะเราไม่ได้ผิด อย่าปล่อยไปไม่รับรู้รับทราบจะยิ่งทำให้แย่ ลองคุยว่าจะจัดการได้มั้ย ขอคำแนะนำว่าปรับเปลี่ยนหนี้หรือลดหนี้ได้หรือไม่ และเราต้องหาความรู้เพิ่มเติมด้วย ถ้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ สามารถเข้ามาปรึกษาที่สหกรณ์ FTC เพื่อหาทางแก้หนี้กัน

 

FTC เป็นสถาบันการเงินที่ให้เราคนแอมเวย์บริหารการเงินส่วนบุคคล การออมหุ้นสามารถใช้เงินหนึ่งก้อนแล้วได้เงินสองกระเป๋าเลย ปกติเราต้องออมสองก้อน แต่ด้วยสวัสดิการของสหกรณ์ เราได้ทั้งเงินออมเงินเก็บ ได้เงินปันผลทุกปี และเงินนั้นสามารถเป็นเงินสำรองฉุกเฉินได้ด้วย ซึ่งมันเจ๋งมากเลยแต่คนไม่เข้าใจ คุณลองมีเงินออมหุ้นสัก 100,000-200,000 ดูสิ ในวันที่ฉุกเฉิน คุณสามารถเอาเงินพม.ออกไปได้เลย ยิ่งตอนนี้มีแอพลิเคชั่นด้วยยิ่งง่ายยิ่งเร็ว สามารถใช้เงินพม.ได้ภายในวันนั้นเลย นี่คือเงินสำรองฉุกเฉินชั้นยอด  จะมีที่ไหนที่มีเงินสำรองฉุกเฉินที่ให้ผลตอบแทนเราได้ด้วย นี่แหละคือสหกรณ์แต่คนมองไม่ออกมองไม่ทะลุ

 

คุณบอม ธนภูมิ เสริมว่า เงิน พม. ดีจริงๆ เพราะไม่ต้องแบกหน้าไปรบกวนเพื่อนหรือใครๆ เงิน พม. ช่วยชีวิตผมไว้ เพราะตอนนั้นหลังจากที่ผมขับแอคคอร์ดไปติดอยู่ที่ปอยเปตจนบัดนี้ผ่านมาสิบปีแล้ว ตอนนั้นผมตั้งสติ หาสาเหตุ และเข้าไปปรึกษา FTC และทุกเดือนที่เราอยู่ปอยเปต แอมเวย์จ่ายเราทุกเดือน แต่เราตัดภาระโดยขายรถทิ้งก่อน ที่สำคัญคือมีหนี้เราต้องใช้หนี้ ทำให้ผมภูมิใจในการเดินหน้าต่อ 

ฝากถึงผู้ที่พลาดไปแล้วและเป็นสมาชิกทำเรื่องกู้ ขอให้เข้ามาปรึกษาที่ FTC เพราะเงินที่คุณยืมจากเพื่อนหนึ่งคนคุณมีกรรมกับคนหนึ่งคน แต่กับสหกรณ์ เป็นเงินเฉลี่ยของคนจำนวนมาก ดังนั้นคุณมีกรรมกับคนเป็นหมื่นๆ คน ดังนั้นต้องใช้คืน ขอให้เข้ามาปรึกษากัน

 

คุณบี๋ สายพิณ คำถามนี้อยู่ในใจของหลายคน โรงเรียนสอนแล้วค่อยสอบ แต่ชีวิต สอบแล้วค่อยสอน เช่น เราไม่รู้แค่ไปเซ็นค้ำประกันให้เค้า หรือเราลงหุ้นกับเพื่อนแล้วล้ม ถูกเขาโกง คนดีที่ล้มเยอะนะ เพราะคนไม่ดีที่ล้มเค้าไปเร็ว คนดีจะสู้จนหยดสุดท้าย หากวันนี้เราเกิดปัญหา ให้เราเรียนรู้ว่าควรทำอย่างไร 

ทางแก้หนี้ทางแรกคือให้พยายามเจรจากับเจ้าหนี้ โดยคุยเจรจากับหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงสุดก่อน เจรจาว่าเราได้ส่งเต็มกำลังความสามารถแล้ว ส่งมาเท่านี้แล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจตอนนี้เราตกงาน แม้แต่ธนาคารเราก็คุยได้ ว่ามีทางประนอมหนี้ทางไหนบ้าง บางทีหากจ่ายเลยสามารถลดไปเป็นแสน สองปลดภาระที่ไม่จำเป็นกับชีวิตออกก่อน เช่นบางคนส่งลูกเรียน ม.เอกชนดังๆ ลูกอยากเรียนเพราะตามเพื่อน แต่เราได้ดูมั้ยว่าพ่อแม่เขาทำการค้า แต่แม่เราเป็นข้าราชการแล้วเราจะตามไปเรียนเอกชนกับเพื่อน พ่อแม่มักจะกู้แล้วส่งลูกไปเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้จะไม่รอด เพราะไปเรียนแบบนี้มักมีค่าใช้จ่ายแฝง ทั้งค่าหอ ค่ากินอยู่ ค่าชอปปิ้งเดินห้าง ค่านู่นค่านี่สารพัด จนสุดท้ายต้องรีไทร์ออกมา 

เหมือนซื้อรถหนึ่งคัน มีค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน ค่าจอดรถ ค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ค่าใช้จ่ายถล่มทะลายหลังจากเรามีรถ ถ้าเราไม่มีภาระต้องเดินทางไกลใช้รถสาธารณะได้ ชีวิตเราตัดรายจ่ายได้เพียบเลย การมีรถแล้วกลับมาไม่มีรถเป็นเรื่องฉลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะเราได้บริหารจัดการชีวิตเรา    

วิธีแก้วางแผนการเงินกับลูกกับคนในครอบครัวยังไง ต้องคุยกับลูกว่าตอนนี้แม่มีสถานการณ์แบบนี้รายได้เท่าไหร่ จ่ายหนี้เดือนละเท่าไหร่ มีทางออกอะไรบ้าง  อาจจะดรอปไว้ออกมาทำงาน แล้วค่อยกลับไปเรียนต่อ บางคนทำงาน 7-11 กะกลางคืนส่งตัวเองเรียน หรือบางคนกู้กยศ.เรียน ที่ดอกเบี้ยต่ำสามารถชำระคืนเมื่อเรียนจบทำงานได้ ดังนั้นการวางแผนการเงินเราต้องคุยไม่ใช่นั่งดูก่ายหน้าผากคนเดียว เราต้องคุยกับสามี ลูกและพ่อแม่ หาเราเคยส่งเงินให้แม่เดือนละหมื่น วันนี้เรามีภาระหนี้สิน เราต้องคุยกับแม่เราว่าให้เงินแม่ลดลงช่วงนี้ได้มั้ยขอไปแก้หนี้ก้อนนี้ก่อน เหมือนเราได้ปลดพันธนาการทีละเปาะ เหมือนเราเป็นก้อนด้ายยุ่งๆ กระจุกหนึ่ง ก่อนอื่นเราต้องหาปลายด้ายให้เจอก่อน แล้วค่อยๆ แกะ

ที่สำคัญเราต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน ที่เขาจะรู้ช่องทางและมีทางออกหลายๆ ทางที่เรามองไม่เห็น เพราะเราอยู่ในภาวะมืดแปดด้าน  แต่แสงสว่างเล็กๆ ของผู้รู้ทางการเงินจะช่วยแกะปมให้เรา และคนที่จะช่วยเราเรื่องนี้ได้มากๆ คือ FTC เพราะเป็นที่ของผู้ที่มีความรู้ทางการเงิน พอเขาอ่านปัญหาเราออกก็จะชี้ช่องทางว่าไปทางไหนได้บ้างทำให้เราสะดวกง่ายขึ้น เพราะหลายคนมีหนี้ก็มาขอปิดทุนเรือนหุ้นเอาไปใช้หนี้ แต่แบบนี้จะอันตรายมาก เพราะทุนเรือนหุ้นเป็นเงินก้อนสุดท้ายของเราที่เราบริหารเก็บไว้หลังเกษียณ จู่ๆ เราเอาออกไป สวัสดิการต่างๆ หายไปหมด หากเราคงทุนเรือนหุ้นไว้ในสหกรณ์  95%ของทุนเรือนหุ้นของเรา เป็นเงินพม.ที่เราสามารถทำเรื่องกู้ไปใช้ได้ในยามจำเป็นโดยไม่ต้องผ่านกรรมการใดๆ เพราะเรามีทุนเรือนหุ้นค้ำประกัน แบบเช้ากู้เย็นได้เลย เช่น 95% ของเงิน 500,000 สามารถใช้เงินพม.แก้ไขได้ แต่เราต้องแก้ที่ต้นทางลงไปด้วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ซ้ำซ้อน อย่าใจดีเกินเหตุ อย่าทำอะไรเกินตัว ต้องดูหน้าตักเราด้วย 

บางบ้านสอนลูกเรื่องการออม ลูกออมได้เท่าไรแม่สมทบให้ 1 เท่า แต่แนะนำให้มาออมที่ FTC เงินมันงอกจริงๆ ทั้งปันผล และเมื่อเกิดวิกฤติเราสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ ไม่ต้องพิงคนอื่ย เราจะมีความมั่นคงที่จะจัดการหนี้ของเราได้

 

ช่วงที่ 6  ทำไมต้อง FTC ?

คุณเบิ้ล คมสัน เราทุกคนต้องบริหารการเงิน และ FTC คือสถาบันการเงินสำหรับบริหารการเงินส่วนบุคคลของพวกเราชาวแอมเวย์ การที่เราจะบริหารการเงินแล้วมีคนที่เข้าใจเราจริงๆ จะมีสักกี่คน ดังนั้นสถาบันการเงินมีเยอะ แต่สถาบันการเงินที่เข้าใจเรามันไม่มี 

    เวลาที่เราพิจารณาเงินกู้มันง่ายมากๆ  เราแค่เขียนโปรแกรม ใส่ข้อมูลในอัลกอริธึ่มแล้วดู credit score ก็จบแล้ว ใครให้ได้ก็ให้ ให้ไม่ได้ก็โยนทิ้ง แต่เรามีความเข้าใจกันมีเจตนารมณ์ของสหกรณ์ ที่อยากจะช่วยเหลือ ให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ผมไม่ได้บอกว่ากู้ง่ายหรือสนับสนุนให้คนมากู้เยอะๆ แต่คนที่มีความจำเป็นต้องใช้ ตรงนี้ทำให้คุณมีโอกาสมากขึ้นในการแก้ปัญหา บางคนสถานะการเงินของคุณถ้าไปธนาคารเขาไม่มองเลย เพียงแต่ถ้าคุณมาที่เรา เราเคยพิจารณาเงินเพื่อช่วยเหลือใครบางคน เคสเดียวใช่เวลา 1-2 ชม.ก็เคย นี่คือส่ิงที่แตกต่างอย่างชัดเจน 

มายเซ็ทของผมมองว่า ในยุคนี้เราได้ถูกเลือกจากบรรดาสมาชิกให้มาทำหน้าที่แทนเขา หน้าที่ของเราคือเราพยายามจัดการให้เขา เพราะบางคนไม่มีความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ทุกคนที่เข้ามาปรึกษา เราช่วยจัดการการเงินของเขาทั้งระบบ เราประเมินดูทุกอย่างว่าเอาไปแล้วแก้ปัญหาเขาได้มั้ยชีวิตเขาดีขึ้นมั้ย บางคนขอมาหนึ่งแสนบาทเพื่อไปแก้ปัญหา แต่เราดูว่าหนึ่งแสนแก้ปัญหาเขาไม่ได้ เราให้สามแสนก็มี เพราะเรารู้ว่าสามแสนที่เราให้ไปมันแก้ปัญหาเขาได้จริงๆ และมันแก้ปัญหาเขาได้

 

เราคือเพื่อนที่เข้าใจกัน เราสามารถคุยปรึกษากันได้ เพื่อนคนนี้เป็นเพื่อนที่รักคุณ  อยากทำให้คุณมีชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ อยากให้คุณประสบความสำเร็จในชีวิต ประสบความสำเร็จทางการเงินไปด้วยกัน 

    ผมอยู่ต่างจังหวัด เป็นคนไม่ค่อยแข็งแรงตื่นเช้าไม่ค่อยได้ ทุกครั้งที่ต้องขับรถข้ามจังหวัดมาประชุมสหกรณ์ผมต้องตื่นเช้ามากๆ  แต่เรารู้ว่าทุกครั้งที่เรามาประชุมสหกรณ์ เรามีความสุข เพราะเรากำลังทำให้บรรดาเพื่อนสมาชิกของเรามีชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือความแตกต่างที่ชัดเจนมากๆ ของ FTC 

 

FTC เป็นที่ฝากฝังชีวิตทางการเงินของเราได้ ถ้าเรามีความรู้ทางการเงินไม่สูงมาก ที่นี่เป็นที่เริ่มต้นที่ดีมากๆ ในการบริหารทางการเงิน พอเรามีความรู้มากขึ้นเราก็แบ่งไปลงทุนอื่นๆ ทั้งหุ้น กองทุน หรือคริปโต แต่ที่นี่เป็นที่เริ่มต้นการออมระยะยาว และเป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาทางการเงินที่ดีมากๆ เวลามาปรึกษาปัญหาทางการเงิน ขอให้บอกให้หมดทุกอย่าง เพราะเราคือเพื่อนกัน เราเปิดเผยกัน จริงใจกัน เราพยายามถามทุกวิถีทางที่จะช่วยเต็มที่ที่ช่วยได้ อยากให้ทุกคนประสบความสำเร็จไปด้วยกันทั้งทางธุรกิจและการเงิน อยากให้มีชีวิตที่ดีและมีความสุขไปด้วยกัน  

 

คุณบี๋ สายพิณ​ ฝากทิ้งท้ายว่า ขอให้กำลังใจ วันนี้เราไม่ได้สู้วิกฤติทั้งหลายในโลกนี้เพียงลำพัง FTC ตั้งขึ้นด้วยอุดมการณ์ของผู้ที่ทำธุรกิจแอมเวย์เหมือนกัน เราก่อตั้งเมื่อปี 2540 เป็นปีที่วิกฤติเศรษฐกิจกระทบอย่างรุนแรง ปีนั้นคนแอมเวย์ล้มเยอะมาก เพราะเราไม่มีสถาบันการเงินที่เข้าใจเนเจอร์ของคนทำธุรกิจแอมเวย์มารองรับ ต้องเป็นหนี้ข้างนอก เวลาล้มแรงบาดเจ็บเยอะ วิสัยทัศน์ของคุณหมอวัชรา และระดับเพชรในยุคนั้นได้ร่วมกันตั้งสถาบันการเงินแห่งนี้ขึ้นมา เราพิสูจน์ตัวเองมา 24 ปี เราเป็นสถาบันการเงินที่ติดท็อประดับดีเยี่ยมสามปีติดต่อกัน และขึ้นสู่ระดับดีเลิศ ดังนั้นประเด็นความมั่นคง และการจ่ายผลตอบแทนคุ้มค่า ได้เยอะกว่าการฝากธนาคาร เวลาเราฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยนิดเดียว เวลากู้ดอกเบี้ยสูงและเงินไม่เคยย้อนกลับมา แต่ในFTC เวลาฝากปันผลเราได้เยอะ เวลาต้องกู้เงินดอกเบี้ยที่เราส่งก็ยังถูกคิดปันผลเฉลี่ยกลับมาให้เราทุกปี และที่สำคัญเราได้ทำบุญด้วย เพราะเงินที่เรามีวินัยในการออม จะเป็นกองทุนที่ช่วยสนับสนุนเพื่อนเราบางคนที่ลำบากอยู่ในระหว่างสร้างตัว เขาไม่ต้องไปกู้ที่สถาบันการเงินไหน แต่เงินจาก FTC ได้ไปช่วยเขา 

อยากให้เราตั้งหลักด้วยการออมก่อน คนที่มั่นคงทางจิตใจที่สุดคือคนที่มีเงินออม  วิกฤติอะไรจะมาก็ทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะมีความมั่นคงเรื่องเงินออมอยู่ แต่ในยามมีหนี้เพียงหันมาที่ FTC ก็อยู่ตรงนี้เสมอขอเพียงเข้ามาคุย ไม่ต้องอายที่จะเข้ามา 

เพราะการเข้ามาคือการปรับโครงสร้างหนี้ เวลาที่เรารู้ว่ามาผิดทางเราต้องรีบยูเทิร์น เราต้องลงมือแก้ตั้งแต่วันนี้ หากความรู้ด้านการเงินที่เราตกหล่น สามารถฟังย้อนหลังได้ทางเฟสบุคและยูทูบ ดูว่าคำอธิบายชี้แนะใดที่ตอบโจทย์เรา แม้เราไม่มีหนี้แต่ความรู้เหล่านี้เราสามารถเป็นโค้ชชีวิตสอนแนะนำดาวน์ไลน์ได้   

 การเรียนรู้ด้านการเงินเป็นเรื่องสำคัญ  เพราะถ้าเราบริหารจัดการการเงินได้ ชีวิตเราดีขึ้นแน่นอน



 

ของฝากจาก FTC โครงการเพื่อนชวนเพื่อน โดย คุณมินท์ จุฑามาศ

ตอนนี้ทาง FTC มีโครงการเพื่อนชวนเพื่อน สำหรับท่านที่เป็นสมาชิกสหกรณ์อยู่แล้วสามารถเชิญชวนเพื่อนมาสมัครเป็นสมาชิกครบสามท่าน ผู้แนะนำจะได้รับหุ้นพิเศษ 600 บาท นอกจากนี้ท่านที่เป็นสมาชิกอยู่แล้วยังมีสวัสดิการต่างๆ จากสกหรณ์อีกด้วย

การสมัครสมาชิกใช้เอกสารเพียงบัตรประชาชน บัตรแอมเวย์ และสำเนาทะเบียนบ้าน โดยโครงการนี้จะสิ้นสุดภายในเดือนธันวาคมนี้ ท่านสมาชิกที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ทางไลน์ @freetrade หรือสำนักงานใหญ่ FTC และสำนักบริการที่ท่านสะดวก

 

ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้

วันนี้เราได้รับฟังแนวคิด แนวทาง และมายเซ็ทสำคัญ ในการแก้หนี้จากวิทยากรผู้รอบรู้ทางการเงินทั้งสองท่าน โดยได้เน้นย้ำว่า การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าอาย เมื่อเป็นหนี้ขอให้ตั้งสติ ไม่หนี และพร้อมจ่ายคืน ก่อนจากกันแอดขอสรุป 7 วิธีจัดการหนี้แบบขยี้ที่ต้นเหตุ เชื่อว่าเพื่อนๆ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อแก้หนี้และตัดวงจรหนี้ได้ ดังนี้

1. ตั้งสติและปรับมายเซ็ทต่อหนี้และการเป็นหนี้ให้ถูกต้อง เมื่อเป็นหนี้ต้องไม่หนี คิดจ่ายคืน และไม่ก่อหนี้เพิ่ม ที่สำคัญต้องไม่กู้ยืมเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น แต่โฟกัสการแก้ปัญหาระยะยาว

2. ตรวจเช็คสถานะทางการเงินและสถานะหนี้แต่ละก้อนอย่างละเอียด โดยเขียนเงินต้น ดอกเบี้ย และกำหนดระยะเวลาที่วางแผนจะจบหนี้แต่ละก้อน

3. กล้าเจรจากับเจ้าหนี้อย่างจริงใจ เพื่อขอผ่อนผันหนี้ หรือลดภาระหนี้สิน

4. พูดคุยสถานการณ์เรื่องหนี้กับคนในครอบครัวอย่างเปิดเผย เพื่อร่วมกันวางแผนลดรายจ่ายหรือเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นภาระเกินตัวให้เป็นสภาพคล่องพร้อมปลดหนี้  

5. มองหาช่องทางเพิ่มรายได้ หาเงินก้อนมาปิดจบหนี้ที่ดอกเบี้ยสูง

6. เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการเงินอย่างจริงจัง เพื่อจัดสรรเงินออม วางแผนลงทุน เงินเกษียณ 

7. ปรึกษาผู้รู้ทางการเงินเพื่อหาทางออกและไม่กลับไปสู่วงจรหนี้อีก 

 

ถ้าเพื่อนๆ นึกไม่ออกว่าจะปรึกษาใคร...คิดถึงเพื่อนที่รู้ใจทางการเงิน คิดถึง FTC อย่าลืมกลับมาพบกับผู้รอบรู้การเงินที่จะมาแบ่งปันแนวคิด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและการลงทุนให้เพื่อนๆ ทาง  FTC Channel ทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น. อย่าลืมติดตามกันนะ!