สรุปบทความ FTC Channel
SCBx เมื่อก็อตซิลล่าเต้นระบำ เราเรียนรู้อะไรบ้าง?
เช้าวันเสาร์อากาศสดชื่นแบบนี้ FTC Channel ชวนเพื่อนๆ มาจับเข่าวิเคราะห์ประเด็นร้อนแบบเจาะลึก ในหัวข้อ “SCBx เมื่อก็อตซิลล่าเต้นระบำ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” จากผู้รอบรู้ด้านการเงินอย่าง นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ FTC คุณภุชงค์ วัชรปิยานันทน์ รองประธานกรรมการด้านเทคโนโลยี FTC ดร.สุเมธา โพธิ์ประสาท ที่ปรึกษา FTC และอดีตรองผู้จัดการฝ่ายฝึกอบรม SCB ดำเนินรายการโดย คุณสุวิทย์ พูลสุขเลิศ ประธานคณะกรรมการศึกษา FTC และคุณสาวิตรี อนันชพันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ FTC ร่วมเจาะลึกประเด็นร้อน เพื่อเตรียมรับมือกับคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่จะพลิกโฉมการเงินการธนาคารไปอย่างสิ้นเชิง
ช่วงแรก เตรียมรับมือกับคลื่นความเปลี่ยนแปลง โดย นพ.วัชรา
ทุกวันนี้เราอยู่บนโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง โลกไม่เคยหยุดนิ่ง การเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้นทุกขณะที่เราหายใจ หากสังเกตเราจะพบว่า โลกเริ่มเปลี่ยนแปลงรุนแรงหลายระลอก ระลอกที่หนึ่งคือการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อเราค้นพบเครื่องจักรไอน้ำ และต่อมาตัวเปลี่ยนที่สำคัญคือการค้นพบไฟฟ้า ต่อมาคือยุคคอมพิวเตอร์ ยุคอินเตอร์เน็ต ต่อมาตัวกระตุ้นสำคัญคือโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แต่ก่อนเราไม่เคยได้เจอกันในแพลทฟอร์มแบบนี้ เดี๋ยวนี้เราสามารถพบเจอผู้คนได้ไม่ว่าเขาอยู่ที่ไหนก็ตามโดยไม่ต้องเดินทาง
ในโลกการเงิน ตอนนี้มีการเกิดขึ้นของเงินสกุลใหม่ๆ ซึ่งเราต้องจับตามอง ธนาคารเป็นธุรกิจที่เคยเป็นเสือนอนกินมาเป็นเวลาร้อยปี โดยธนาคารแห่งแรกของไทย คือสยามกัมมาจล ที่น่าจะถือโอกาสของการดำรงอยู่มาก่อนเป็นเสือนอนกินต่อไป แต่สยามกัมมาจลได้เปลี่ยนเป็นไทยพาณิชย์ ต่อมาเปลี่ยนเป็น SCB ตอนนี้ได้เปลี่ยเป็น SCB ยกกำลังX ซึ่งจะเติบโตทบเท่าทวีขึ้นไปเท่าไรไม่รู้ เป็นเรื่องที่เราต้องจับตามอง และรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสมาร่วมฟังร่วมสนทนากันวันนี้
คุณสุวิทย์ เสริมว่า ในเรื่องการเงินเมื่อร้อยปีที่แล้วราวปีค.ศ. 1929 ได้เกิดภาวะการล่มสลายทางการเงินครั้งใหญ่ (The Great Depression) ซึ่งอาจเกิดขึ้นในวงจรร้อยปีในปีค.ศ. 2029 แต่ SCB เป็นองค์กรหนึ่งที่ส่งสัญญาณมา 5-6 ปีแล้วว่าเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นบทเรียนให้เราตื่นตัวเพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลง จากที่ SCB เป็นธนาคารแห่งแรกที่มั่นคง มีกระทรวงการคลัง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ถือหุ้น แต่ทำไมจึงลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและพริ้วได้ขนาดนี้ ต้องขอเรียนเชิญ ดร.สุเมธา มาให้ความกระจ่างกับเรา
ช่วงที่ 2 เหตุใดก็อตซิลล่าต้องลุกขึ้นมาเต้นระบำ โดย ดร.สุเมธา
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงเราก็ตกยุคเหมือนไดโนเสาร์ ที่จริงไทยพาณิชย์เป็นธนาคารที่เปิดมา 115 ปี เปรียบเหมือนไดโนเสาร์หรือก็อตซิลล่า ที่อุ้ยอ้ายมาก อยู่มานานมาก และยากมากที่จะลุกขึ้นมาเต้นระบำ
ผมเกษียณจาก SCB มาสองปีแล้ว ตอนเป็น Vice President ได้มีโอกาสได้ประชุมกับผู้ใหญ่บ้าง และผมยังติดตามความเคลื่อนไหวของธนาคารอยู่เสมอ คนภายนอกอาจมองว่า SCB เป็นองค์กรใหญ่ แต่จริงๆ ในมุมมองผมมองว่า SCB เป็นองค์กรที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ในปีพ.ศ. 2527 สมัยที่คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCB ได้นำตู้ ATM เข้ามาใช้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ตอนนั้นคนยังกลัวการใช้ ATM แต่ปัจจุบันมีทั่วไปหมด
เมื่อราว 6-7 ปีที่แล้วตอนที่ใกล้เปลี่ยนแพลทฟอร์มใหม่ ท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ในขณะนั้นถามว่าแล้วตู้ ATM 4,000 กว่าตู้เราจะเอาไปไว้ที่ไหน เมื่อเราลงทุนไปแล้วตอนนี้ก็เหมือนสูญเปล่า และในช่วง 3-4 ปี SCB เปลี่ยนผู้บริหารถึง 3-4 คนเพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมการบริหาร นำคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหาร ที่เป็นนัยสำคัญอีกข้อที่คนข้างนอกไม่รู้คือ SCB มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ 4 คน ไม่มีธนาคารไหนที่มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ 4 คนแบบนี้ แต่ละคนดูแลรับผิดชอบกันคนละเรื่อง ทั้งเรื่องไอที บุคลากรพนักงาน การตลาดประชาสัมพันธ์ ฯลฯ
ไทยพาณิชย์บอกเองเลยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เขาเห็นถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว และเป็นธนาคารที่มีการแต่งตั้งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่มากที่สุดในประเทศไทย นับเป็นธนาคารรายแรกๆ ที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียม เพื่อรักษาฐาน Market Share ไว้ เพื่อให้ลูกค้ายังทำธุรกรรมต่อไป แม้ค่าธรรมเนียมจะเป็นรายได้รองจากดอกเบี้ยก็ตาม เพราะการรักษาฐานลูกค้าไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ขอยกตัวอย่างการหาวิธีเพิ่มฐานลูกค้าธุรกิจ SME โดยจัดตั้งแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ อย่างแม่มณีขึ้นมา ธนาคารลงทุนไป 4,000 ล้าน ตอนนั้นธนาคารจ้างพนักงานแบบคอมมิชชั่นเบส ให้รุกเข้าโปรโมทกับร้านค้าในตลาดใหญ่ๆ ทุกห้องแถว สอนลูกค้าให้ใช้มือถือเปิดใช้แอพพ
ลิเคชั่นแม่มณีก็จะได้เงิน 50 บาท และเปิดใช้สอนให้ร้านค้ารากหญ้าว่าเมื่อเปิดใช้แอพจะสร้างการเคลื่อนไหวของธุรกิจได้อย่างไร โดยให้พนักงานไปตามตลาดใหญ่ๆ และซื้อสินค้า 1000 บาทกับร้านค้าที่เปิดแม่มณี และนำใบเสร็จไปให้เจ้าหน้าที่จะได้รับเงินคืน 500 บาท นี่คือโฆษณาครั้งยิ่งใหญ่มาก โดยการใช้ตัวบุคคลทำให้คนเรียนรู้และยอมรับที่จะใช้ จากที่กลัวก็จะเริ่มชินในการใช้ เป็นการ learning by doing และกวาดตลาดเก็บไว้
ในอนาคตกฎหมายสรรพากรน่าจะออกมา โดยมีแนวโน้มว่าจะให้ประชาชนคนไทย เลือกใช้บัญชีได้บัญชีเดียวในอนาคต วันนี้คุณอาจจะเปิดบัญชีไว้สิบบัญชี แต่ในอนาคตจะรวมเหลือบัญชีเดียว ดังนั้นการรักษา Market Share ตรงนี้คือหัวใจสำคัญในอนาคต ถ้าธนาคารไหนเตรียมการในการดูแลได้ทัน ก็จะรักษาลูกค้าได้ดี
การที่ SCB ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองแบบพลิกฟ้าพลิกดินอีกครั้ง ผมมองว่า วัฒนธรรมการบริหารจัดการเป็นเรื่องสำคัญ ธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีราวๆ 15-16 ธนาคาร และธนาคารรัฐที่ขึ้นกับกระทรวงการคลัง อีก 3 ธนาคาร ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือธนาคารกรุงเทพ ลักษณะการบริหารคือการปล่อยสินเชื่อเป็นพันล้านให้ธุรกิจขนาดใหญ่ ดูแลแอคเคาน์ใหญ่โดยคนคนเดียว ส่วนธนาคารกรุงไทยจะดูแลหน่วยงานราชการ ต่อมาคือธนาคารกสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงศรี ที่ดูแลลูกค้ารายย่อย SME และ SSME ดูแลตลาดรากหญ้าซึ่งมีปริมาณมหาศาล
เรื่องของการเปลี่ยนแปลงจะอยู่ที่วัฒนธรรมองค์กร
ธนาคารไทยพาณิชย์มีจำนวนบัญชีที่เปิดราว 16 ล้านบัญชีตามที่เปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะขยายในแพลทฟอร์มใหม่เป็น 200 ล้านบัญชี จึงเป็น SCBx แบบยกกำลังที่จะขยายไปได้เยอะมาก การเปลี่ยนแปลงแรกๆเมื่อ 4 ปีที่แล้วคือเปลี่ยนเป็น SCB10X คือเปิดบริษัทลูก 10 บริษัทภายใต้เงื่อนไขการบริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ แต่พอทำไป 4 ปี รู้สึกว่ามันอุ้ยอ้าย ไปไม่ได้มันติดขัด เลยปรับตัวใหม่เป็น SCBx
การรักษาลูกค้าฐานลูกค้ารากหญ้าจึงขึ้นกับว่าใครเปลี่ยนแปลงได้ไวก็รักษาฐานลูกค้าได้ก่อน กวาดลูกค้าเก็บไว้ได้มาก แต่ถ้าเป็นธนาคารกรุงเทพ หากล้มเพียงแอคเคาน์เดียวก็สะเทือนเป็นพันล้าน เทียบกับธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ถ้าจะกระเทือนถึงหนึ่งพันล้านอาจต้องใช้เป็นล้านบัญชี เพราะรายย่อยเยอะมาก ถ้าเฉลี่ยบัญชีละ 50,000 บาท ดังนั้นความเสียหายจะน้อยกว่า เพราะฐานลูกค้ามีขนาดใหญ่ และยุคนี้คนใช้มือถือทำธุรกรรมเป็นแล้ว รัฐบาลสอนให้คนใช้คนละครึ่ง แบ่งกันคนละครึ่งรัฐช่วยครึ่งหนึ่ง คนค้าขายก็เคลื่อนไหวได้ดี แต่หารู้ไม่ว่านี่เป็นการเข้าระบบเดินบัญชี ข้อมูลบัญชีส่งเข้าสรรพากรทั้งหมด สรรพากรเช็คข้อมูลได้ และเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้เลย อยากออกแต่ออกไม่ได้แล้ว นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนยอมรับ ธนาคารรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ และการจะรักษาฐานลูกค้าต้องเปลี่ยนไวกว่าคนอื่น
ถามว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ SCB มีความเสี่ยงหรือไม่ วันที่ 15 พ.ย.นี้จะรอดหรือไม่รอด ส่วนตัวผมมองว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้นโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 27-28% ถ้าท่านไม่เอาด้วยก็จบ แต่เชื่อมั้ยว่าบอร์ดบริหารมีการคุยกันมา 4-5 ปีแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เกิดขึ้น อย่างน้อยผู้ถือหุ้นต้องเห็นด้วย 90% ขึ้นไปถึงจะเปลี่ยนแปลงได้ ในวันที่มีประชุมมติต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 70% ยกมือประชาพิจารณ์ให้ผ่าน ถ้าวันที่ 15 พ.ย.นี้ไม่ผ่านคือล้มกระดาน ซึ่งตอนนี้ แบงค์ชาติรู้แล้ว SET รู้แล้ว สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์รู้แล้ว ผู้ถือหุ้นรู้แล้ว ดังนั้นผมว่าไม่ล้มเหลวแน่นอน การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องเกิดแน่นอน ซึ่งถ้าประกาศออกมาเป็นกฎหมายที่ตลาดหลักทรัพย์ยอมรับแล้ว ธนาคารอื่นๆ ก็จะอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
ผมขอยกตัวอย่างไทยพาณิชย์รวมกับเฟสบุค สมัยที่ผมทำงานอยู่ที่ธนาคาร เฟสบุคเคยมาสอนการใช้แพลทฟอร์มเฟสบุคกับธนาคาร การที่ไปปักหมุดแม่มณี เฟสบุคเก็บรายละเอียดทั้งหมดให้ และตอนนี้ไทยพาณิชย์รวมธุรกิจกับ AIS ที่มีฐานข้อมูลลูกค้า 40 ล้านราย ฐานลูกค้าไทยพาณิชย์เมื่อควบรวมแล้วก็กลายเป็น 50 ล้านบัญชี ถ้าพอขยายไปยังอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เค้ามองไว้อยู่แล้ว ฐานลูกค้าจะทวีเป็น X ขึ้นไปแบบที่คาดไว้แน่นอน ดังนั้นการที่ไทยพาณิชย์เก็บตลาดรากหญ้าจึงเป็นหัวใจสำคัญ เพราะไทยพาณิชย์เป็นธนาคาร universal เก็บตลาดแบบที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะลูกค้ารายใหญ่อย่าง Corporate หรือหน่วยงานราชการเท่านั้น
ไทยพาณิชย์อยู่ภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย การที่ไปสร้าง SCBx จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเทคโนโลยีทางการเงินของประเทศไทยในอนาคต
แบงค์ชาติควบคุมธนาคารเพื่อดูแลการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนของเงิน ดูค่าเงินเฟ้อต่างๆ เวลาแบงค์ชาติจะประชุมก็จะเชิญ 5 ธนาคารหลักเข้าร่วมประชุมด้วย เมื่อดูภาพรวมของตลาดโดยรวม ระบบการเงินแม้มีแบงค์ชาติควบคุม แต่ตอนนี้จริงๆ แบงค์ชาติไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ยกตัวอย่าง Alibaba มี Ali Pay นักท่องเที่ยวจีนมาไทยไม่ต้องใช้เงินบาทซื้อของก็ได้ โดยจะจ่ายกันที่ต่างประเทศแล้วโอนมาที่ร้านค้าที่อยู่ในไทย สุดท้ายรัฐบาลรู้แต่ทำอะไรไม่ได้ ด้วยการบริหารที่อุ้ยอ้ายในการบริหารจัดการ
ในตลาดเชิงรุก แพลทฟอร์มเหล่านี้ก็เข้ามาอยู่แล้ว ธนาคารเห็นว่าแม้คุณไม่ทำอะไร Ali Pay ก็เข้ามา แพลทฟอร์มอื่นก็เข้ามา หรืออย่างตลาดล่างที่แบงค์ชาติควบคุมไม่ได้ เช่น UMay+ หรือโลตัสที่เมื่อคุณเป็นสมาชิกโลตัสก็ได้บัตรเครดิตสมาชิกของโลตัส ที่ไม่ได้อยู่ใต้เงื่อนไขของแบงค์ชาติ โดยทั่วไปเงื่อนไขการถือบัตรเครดิตของแบงค์ชาติคือ คุณต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทและถือใบแรกได้ไม่เกินสามเท่า หรือรวมแล้วไม่เกินห้าเท่าของรายได้ แต่รากหญ้าที่คนเดินไปขอเปิดบัตรเครดิตโลตัส อิออน ยูเมะพลัส ด้วยฐานเงินเดือน 7,500 และไม่ต้องมีเงินประกันสังคมก็ทำได้ สุดท้ายตลาดล่างส่วนนี้จะหายไป ธนาคารไทยพาณิชย์อยากจะเก็บตลาดลูกค้าส่วนนี้ไว้ ในเมื่อแบงค์ชาติไม่ควบคุมเลยแยกบริษัทออกมา 15-16 บริษัท และตั้งบริษัทขึ้นมาแบบที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับ 100% โดยแบงค์ชาติ แต่ให้ไปกำกับบริษัทไทยพาณิชย์และบริษัท SCBx แต่แบงค์ชาติไม่ได้กำกับ 100% ในบริษัท SCBx ที่อยู่ในรูป Holding Company ซึ่งต้องใช้กฎหมาย Holding Company เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายยานแม่ แต่ผู้นำเพียงคิดคำใหม่ให้น่าสนใจเท่านั้น พอแยกออกมา บริษัท SCBx Card ก็ไปทำตลาดล่างได้เลย ไปเปิดโรบินฮู้ด ซึ่งก็คือสิ่งที่มาแทนแม่มณีนั่นเอง ลูกค้าที่เป็นรถเข็นทั่วไปพอใช้โรบินฮู้ดไปส่งของ ธนาคารรู้พฤติกรรมการใช้ของลูกค้าคุณแล้วว่าคุณขายดียังไง ใช้ไปวันนึงธนาคารก็จะส่งข้อมูลไปว่าวันนี้คุณถูกอนุมัติสินเชื่อวงเงินเท่าไรจากพฤติกรรมที่คุณมี ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อจะหนีกฎเกณฑ์ของแบงค์ชาติ ซึ่งแบงค์ชาติในอนาคตก็ต้องมี เมื่อรอความอุ้ยอ้ายของรัฐบาลไม่ได้ ฉันรีบเปลี่ยนก่อนดีกว่า เพราะในเมื่ออิออนทำได้ เทสโก้ทำได้ UMay+ทำได้ แล้วทำไม SCBx จะทำไม่ได้
ขอพูดเรื่องการลงทุนอินไซท์สำหรับคนมีเงินสักนิด จริงๆ ธนาคารกรุงไทยเคยทำมาก่อนแล้ว ในรูปบริษัทลูกที่ชื่อ KTB Card แต่ไม่ได้ประกาศเท่านั้นเอง มูลค่าหุ้นการตลาดใหญ่กว่าธนาคารกรุงไทย 4 เท่า แนะนำว่าถ้าคนมีเงินและต้องการลงทุน เมื่อ SCBx Card เข้าตลาดก็สามารถซื้อเก็บไว้บ้าง แต่ใครจะเลือกลงทุนก็มีความเสี่ยง ใครที่มีหุ้นเดิมอยู่ก่อนก็มีสิทธิ์ก่อน เพราะในอนาคตตลาดรากหญ้ากู้กันเยอะมาก ซึ่งวันข้างหน้ามูลค่าตลาดนี้มหาศาลมาก
ธนาคารทุกปีจะมีการตั้งเป้าว่ากิจกรรมแบบนี้จะให้วงเงินสินเชื่อเท่าไร อย่างบัตรเครดิต หรือ Speedy Cash บัตรกดเงินสด ได้วงเงินแสนถึงสองแสนล้าน และเข้าเป้าเร็วมาก และมีเพดานคิดดอกเบี้ยที่ 19% คือทำกำไรได้สูง แต่พอเป็น non-bank ดอกเบี้ยขึ้นไปที่ 27-28% เมื่อส่วนแบ่งตลาดใหญ่มากและกำไรเพิ่มขึ้นมาสูงมาก แบบนี้ใครจะไม่ทำ
ช่วงที่ 3 มองปรากฏการณ์ก็อตซิลล่าเต้นระบำ โดย คุณโป้ง ภุชงค์
นี่เป็นความชาญฉลาดของ SCB และต้องชื่นชม CEO ที่เก่งมาก เพราะการจะเปลี่ยนแปลงองค์กรอายุร้อยกว่าปีที่มีวัฒนธรรม และเป็นองค์กรใหญ่ในองค์กรดั้งเดิม โดยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมา และย้ายตัวเองนำผู้บริหารพนักงานของบริษัทใหญ่เดิม เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัทลูกที่เป็น SCBx ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยวิสัยทัศน์ที่ทุกคนจะใช้จ่ายทางดิจิตัล แต่ระบบรูปแบบธนาคารเดิมๆ ที่อยู่ภายใต้แบงค์ชาติมีข้อจำกัดมาก เขาจำเป็นต้องเปลี่ยนและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง นี่เป็นตัวอย่างบทเรียนที่สำคัญ บางองค์กรคิดถึงแต่ข้อจำกัดก็จะทำอะไรไม่ได้ แม้ SCB เป็นองค์กรร้อยกว่าปี ยังสามารถที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงได้
และเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากๆ ที่ SCB มาร่วมกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น สินเชื่อรถยนต์ ก็มาจอยกับบริษัท Millenium ที่มีเครดิตและฐานข้อมูลผู้ใช้รถหรูทั้ง SCB เข้าไปจอยและปล่อยสินเชื่อเอง ต่อไปก็สามารถปล่อยสินเชื่อได้ง่าย และสามารถขยายไปถึงตลาดอาเซียน
ที่น่าตื่นเต้นคือการที่ SCB ไปรวมกับ CP ที่เงินทุนหนาและมีฐานข้อมูลลูกค้า TRUE อยู่แล้ว มีการร่วมกันพัฒนาด้าน FINTECH เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากจริงๆ เพราะตอนนี้ข้อจำกัดของธนาคารยังทำคอยน์ดิจิตัลไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขของแบงค์ชาติ มีบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ คิดทำคอยน์สกุลเงินขึ้นมาใช้เอง และเริ่มมีการซื้อขายได้จริงแล้ว
จุดแข็งของเงินดิจิตัลคือเมื่อโอนข้ามประเทศไปชำระเงินจะไม่มีค่าธรรมเนียม สามารถตกลงซื้อขายได้เอง SCB เห็นทิศทางตรงนี้ว่าสามารถเติบโตได้จึงลงมาทำเอง โดย SCBx ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาและร่วมมือกับ CP ลงทุนมหาศาล ด้วยแนวทางการเติบโตในวันข้างหน้าที่อาจจะแซง SCB ซึ่งหากก็อตซิลล่าอย่าง SCB ทำคอยน์เองจะเป็นคอยน์ที่มีความน่าเชื่อถือและปิดจุดอ่อนเรื่องคอยน์ในปัจจุบันได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ตลาดดิจิตัลต้องจับตามอง
นอกจากนี้ การที่ SCB ไปร่วมกับ AIS ผู้ประมูล 5G Technology ได้เป็นอันดับหนึ่งในไทย และ SCB ฉลาดมากที่มาร่วมกับ AIS เพื่อพัฒนาการทำสินเชื่อผ่านมือถือ เพราะ AIS มีฐานข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยในโลกโซเชียล และมีการเก็บข้อมูลการใช้งานเทคโนโลยี 5G ไม่ว่าใครจะลิงค์การเสิร์ชต่างๆ ซึ่งมี Big data ที่ใหญ่มากเก็บข้อมูลที่สามารถพิจารณาการปล่อยสินเชื่อรายย่อยได้แบบที่ดร.สุเมธาบอก และยังลิงค์กับ CardX อีก การทำข่าวประชาสัมพันธ์ที่ดี สร้างความน่าเชื่อถือยังสามารถเชิญผู้ลงทุนที่มีศักยภาพดึงดูดการระดมทุนได้ ผมชื่นชมในระบบที่เขามีการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ช่วงที่ 4 บทเรียนจากการเปลี่ยนแปลงของก็อตซิลล่า โดย นพ.วัชรา
ผมมองโครงสร้างของ SCBx ว่าการเปลี่ยนแปลงของ SCB ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างระแวดระวัง ผมเห็นโครงสร้างธุรกิจของ SCB ว่ามีสองกลุ่ม คือกลุ่มธุรกิจ Cash Cow ที่เป็นธุรกิจที่ชำนาญอยู่แล้ว และแบ่งอีกส่วนคือมีเรือลำเล็กๆ ที่ออกไปแสวงโอกาสในน่านน้ำใหม่
พอเห็นโครงสร้างแบบนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังสือที่เราเคยอ่านเรื่อง Who Move My Cheese ที่หนูจะมีสัญชาตญานการซอกแซก แต่คนแคระจะใช้สมองเยอะ จนวันนึงทั้งหนูและคนแคระไปเจอกันที่สถานีเนยแข็ง คนแคระรู้สึกว่านี่คือรังอาหารที่สมบูรณ์ และเพลิดเพลินกับความอุดมสมบูรณ์จนวันนึงเนยในสถานีร่อยหรอหมดลง คนแคระก็สงสัยว่าใครมาขโมยเนยของเราไป แต่ในขณะที่หนูยังคงรักษาสัญชาตญาณความซอกแซกจนไปเจอสถานีเนยแข็งใหม่ที่มีเนยมากกว่าเดิม เหมือนคนที่เพลิดเพลินกับความสำเร็จเดิมๆ วันนึงก็จะอดตาย SCB แม้จะใหญ่อย่างไรก็ยังปรับเปลี่ยน ยังต้องเรียนรู้ตลอดเวลา
ช่วงที่ 5 สะท้อนการพลิกโฉม SCBx แล้วย้อนมอง FTCx โดย นพ.วัชรา
หากมองจาก SCB ต้องมีการเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนผู้คน เปลี่ยนมายเซ็ท ก่อนจะเปลี่ยนอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ถ้าเรามี Fixed Mindset จมกับความสำเร็จเดิมๆ เราจะไปต่อไม่ได้ ความสำเร็จบางทีก็เป็นกับดักของชีวิต แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต้องเป็นแบบแอคทีฟ จะเกิดจากการที่เรามีสัญชาตญาณ และมีคลังสมอง
หากสังเกตดู FTC ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ประธานก็เปลี่ยน เรามีนักการธนาคารที่เชี่ยวชาญ และมีคลังสมอง เมื่อเราเจอคนที่มีศักยภาพอย่างคุณโป้ง คุณสาธิต คุณเบิ้ล คนเหล่านี้คือทรัพยากรบุคคลที่สำคัญมาก ในแง่ของกรรมการ คนเหล่านี้จะศึกษาจะซอกแซกมีสัญชาตญาณหนู ส่วนพนักงานก็มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ถ้ามาทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับ ไม่คิดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเอง หากเราไม่เปลี่ยนแปลง เช่นไม่มีความรู้คอมพิวเตอร์เลย ในโลกสมัยใหม่เราก็อยู่ไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถนำความรู้ความชำนาญแบบเดิมมาใช้กับบริบทใหม่ที่จะก้าวไปข้างหน้า อีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นโลกควอนตัมแล้ว เราอาจไม่ต้องรู้เยอะ แต่เราต้องสำรวจความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราต้องเปิดฟังเสวนาแบบนี้เพื่อเข้าใจความเปลี่ยนแปลง ต้องอาศัยการเรียนรู้ ไม่อย่างนั้นเราจะติดกับความรู้เดิม ที่สำคัญนี่เป็นความรู้ที่เราได้มาฟรี ที่เรานำเรื่องเข้าใจยากมาทำให้เข้าใจง่ายขึ้น เราต้องนำสมองมาอัพเดท เอาตัวเองมาอยู่ในสนามพลังสมองของความอัพเดท
คุณอ้อม เสริมว่า การทำงานประจำแบบนานๆ ไป บางทีเราโดนแช่แข็งจาก กฎระเบียบที่หากทำผิดจะถูกตำหนิ ทำให้คนเราไม่กล้าคิดไม่กล้าเปลี่ยนแปลง อ้อมสังเกตว่าเจ้าหน้าที่บางท่านสามารถปรับตัวได้ไว เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่มีแอพพลิเคชั่น แต่บางท่านจะยังติดกับรูปแบบเดิมที่สมาชิกต้องวอล์กอินต้องเข้ามาที่เคาน์เตอร์เท่านั้น เดิมสายอาชีพเราไม่ได้มาในแบบพนักงานนั่งเคาน์เตอร์ เพราะเป็นเซลล์มาก่อน แต่พอมาทำงานสหกรณ์เราพบว่าเราสามารถใช้เทคโนโลยีที่สมาชิกสามารถออมหุ้นได้โดยไม่ต้องเข้ามา และจากการอบรมสมาชิกต่างๆ ก็ค่อยๆ หล่อหลอมเรามาเรื่อยๆ
คุณสุวิทย์ กล่าวว่า แม้แต่จีนที่เราคิดว่าเขาเป็น Fix Mindset แต่จริงๆไม่ใช่ มิเช่นนั้นจีนจะเป็นประเทศที่ส่งยานอวกาศไปดาวอังคารเป็นประเทศที่สองของโลกไม่ได้ ดังนั้นเรื่องกรอบระเบียบไม่ได้เป็นข้อเสีย เราใช้ระเบียบเป็นพื้นฐานเพื่อไม่ให้ผิดพลาด แต่เวลาที่เราปรับเปลี่ยนไปข้างหนัาเราต้องใช้ Growth Mindset เข้ามาเสริม หากเราต้องการเติบโต เราต้องนำตัวเองเข้าสู่บรรยากาศของสิ่งนั้น ที่จะผลักดันเราให้ก้าวไปข้างหน้าให้เราลงมือทำ
ดร.สุเมธา เสริมว่า ระบบการทำงานที่ผมเคยอบรม คือหลักสูตร Agile ที่การเสนอความเห็นต้องไม่ถูกปิดกั้น ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น ในการแก้ปัญหา
ช่วงที่ 6 แนวคิดสำคัญของสหกรณ์ FTC โดย นพ.วัชรา
เรื่องสหกรณ์เกิดขึ้นในยุโรปในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมาก จนกรรมกรไม่มีข้าวไม่มีขนมปังกิน นักคิดหลายคนในยุโรปที่มีจิตวิญญาณของนักบุญ คิดแก้ปัญหานี้ ท่านไรไฟเซน เป็นเทศมนตรี มองเห็นประชาชนในเมืองลำบาก จึงตั้งกองทุนขนมปัง ให้คนสามารถซื้อขนมปังในราคาที่พอรับไหว พอย้ายเมืองก็ตั้งธนาคารวัวนม เมื่อวัวตกลูกต้องนำแม่วัวมาคืน นี่คือการพยายามเฉลี่ยความมั่งคั่งในท้องถิ่นต่างๆ จนกระจายไปทั่วยุโรป และเมื่อมาถึงประเทศไทย ด้วยวิสัยทัศน์ของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเห็นว่า สหกรณ์จะช่วยแก้ปัญหาได้ พระราชทานแนวคิดส่งต่อให้พระราชโอรส มาปฏิบัติจนเกิดสหกรณ์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ตั้งแต่ร.5 - ร.9 ล้วนพูดถึงกระบวนการสหกรณ์ ที่ยุติธรรมที่สุดในระบบทุนนิยม เพราะทุกคนมีสิทธิเท่ากันคือหนึ่งเสียง สมาชิกต้องเป็นผู้เริ่มต้นฝึกวินัย
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสอย่างชัดเจน ว่าในระบบสหกรณ์ต้องไม่มีการบังคับใดๆ ต้องมาจากการตัดสินใจของตนเองไม่อยู่ในบังคับของใคร สมาชิกเช่นกันหากไม่มีอิสรภาพทางการเงินคุณจะถูกควบคุมสมองและจิตวิญญาณของคุณหมด ดังนั้นเราต้องฝึกมีวินัยและมีเงินออมของเราเอง เพื่อจะเป็นนายของตัวเอง
ไทยเรามีหน่วยงานควบคุมสหกรณ์สองหน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ คอยควบคุมป้องปรามไม่ให้เกิดปัญหาทุจริต และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ควบคุมตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารเงินและการใช้เงินสหกรณ์แต่ละแห่ง ผมเคยพยายามเรียกร้องให้มีการช่วยทำแพลทฟอร์มการบริหารสหกรณ์ให้สหกรณ์ลูก แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่ FTC ไม่ปล่อยให้ข้อจำกัดนั้นหยุดเราไม่ให้เดินหน้า FTC เริ่มต้นด้วยคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องพนักงานหนึ่งคน เริ่มจากลงทุนซื้อโปรแกรมถูกๆ สองแสนบาท เดี๋ยวนี้เราพัฒนาต่อเนื่อง จนมีตัวตนมีความน่าเชื่อถือชัดเจนขึ้น ตอนนี้เราได้รับความเอื้อเฟื้อเป็นพันธมิตรกับกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ของ ม.อ. ที่ก้าวหน้านำแอพพลิเคชั่นต่างๆ มาใช้ ทำให้ตอนนี้เรามีโปรแกรมและแอพพลิเคชั่นให้สมาชิกได้รับความสะดวก เราก็มองไปข้างหน้าว่า ถ้าโลกมี Digitl Currency ด้วยศักยภาพและพันธมิตรที่เรามี ผมเชื่อว่าเราไปได้
คุณสุวิทย์ กล่าวว่า ในเรื่องของสหกรณ์ บางทีกำลังทรัพย์ของเราอาจไม่พอช่วยเพื่อน แต่หากเรานำกำลังเงินเล็กๆ มารวมกันเราสามารถช่วยเพื่อนได้ ความเป็นสหกรณ์คือการใช้ชีวิตอย่างพอดีพอเพียง และจิตวิญญาณของสหกรณ์เป็นความรับผิดชอบต่อตัวเราและต่อสังคม หลายคนไม่เข้าใจคิดว่าเรามาเป็นสมาชิกสหกรณ์เราจะกู้อย่างไร สหกรณ์จะช่วยเราอย่างไร ซึ่งความจริงเราต้องเริ่มจากช่วยตนเองก่อน และมาช่วยกันในรูปของสหกรณ์
ช่วงท้าย ท้าทายความคิด เราจะร่วมสร้าง FTCx Exponential Growth ได้อย่างไร
คุณโป้ง ภุชงค์ กล่าวว่า ที่จริงเรายังไม่มีปัญหาอะไร ทิศทางการเติบโตก็มี แต่เหมือนที่คุณหมอวัชรากล่าวว่า เราต้องโฟกัสการหาเนยแข็งก้อนใหม่
สหกรณ์เราถือเป็นสหกรณ์ต้นแบบด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต้องขอขอบคุณประธานที่ปรึกษาคุณหมอวัชราที่มีวิสัยทัศน์ วางรากฐานและผลักดันให้เกิดขึ้น
ต่อไปคือเราจะทำอย่างไรให้ FTC เป็นสหกรณ์ของคนรุ่นใหม่ การจะเป็น FTC ยกกำลัง X ต้องการพลังคนรุ่นใหม่ โดยเราสามารถแนะนำลูกหลาน เพื่อนร่วมธุรกิจอายุไม่เกิน 40 ปี ให้รู้จัก FTC มากขึ้น ตอนนี้เราสามารถทำธุรกรรมโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นได้ทั้งหมด หากมีคนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น เราสามารถเก็บข้อมูลได้เป็น Big Data ไม่ต่างจากที่ SCB ทำ เราเป็นกลุ่มคนทำธุรกิจเดียวกันทั้งหมด เราสามารถรู้ได้ว่าเรามีรายได้ประมาณนี้ รายจ่ายประมาณนี้ ตอนนี้เรามีสมาชิกหมื่นกว่าคน แต่ถ้าเรารู้ว่ามีสมาชิกแอมเวย์เป็นล้านในอนาคต เราสามารถเติบโตได้อีกมาก ทั้งการลงทุน และการกู้ที่เราทำได้ง่ายมาก เพราะเรามีเครดิตต่อกัน
รูปแบบธนาคารเดิมๆ เราเคยเชื่อมั่นในคนเยอะๆ ตึกใหญ่ๆ ต้องมีเงินทุนมากๆ แต่ในยุคปัจจุบันมีเรื่องของอัลกอริธึ่มเครดิตเริ่มเปลี่ยน จากการมีคนเยอะมีตึกใหญ่ มาเป็นความน่าเชื่อถือจากฐานข้อมูลที่ปลอดภัยแก้ไขไม่ได้ และความมั่นใจในฐานข้อมูลทางการเงิน เดิมจากการกรอกข้อมูลเครดิตบูโร บอกอาชีพรายได้ ตอนนี้เปลี่ยนเป็นข้อมูลการใช้จ่ายจริง มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
FTC และ Amway อยู่ควบคู่กันมา หากเรามีสมาชิกมากขึ้น ทุกคนใช้เทคโนโลยี มีการจับจ่ายใช้สอย เราสามารถเติบโตได้อีกมาก และเราสามารถร่วมมือกับสหกรณ์มากมาย เราอาจมีแอพพลิเคชั่นที่เป็นต้นแบบ และสหกรณ์อื่นๆ มาใช้งาน เชื่อว่าทิศทางการเติบโตของ FTC ยังมีอีกมากมาย
เรื่องของบุคลากรเจ้าหน้าที่ หากเรายังสามารถพัฒนาตนเองทำอะไรได้มาก ก็จะเติบโตได้มาก ท่านสามารถมี Career Path ที่เติบโตไปพร้อมกับ FTC ได้ เพราะอย่างไร FTC ก็เติบโต อยู่ที่ท่านจะเติบโตไปกับ FTC ได้ขนาดไหน
ดร.สุเมธา ผมเห็นด้วยกับการที่เราต้องส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเรียนรู้ระบบการเงิน โดยเฉพาะระบบการบริหารจัดการของ FTC เพราะคนรุ่นใหม่มีความรู้ทางเทคโนโลยี แต่ขาดความรู้เรื่องการลงทุน หากวันนี้ได้เริ่มมาฝังตัวเรียนรู้ล่วงหน้า ในอนาคตคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเข้ามาบริหารได้
วัยรุ่นสนใจเรื่องการลงทุน มีคนรุ่นใหม่มาถามผมว่า การลงทุนในหุ้นต้องลงทุนอย่างไร คริปโตเคอร์เรนซี่เป็นอย่างไร บิตคอยน์คืออะไร เขาถูกชักจูงจากช่องทางต่างๆ หากฐานความรู้ไม่แน่นอาจถูกหลอกได้ ดังนั้นเราควรให้ความรู้แบบนี้กับคนรุ่นใหม่ เข้ามาเรียนรู้เรื่องการลงทุน การบริหารจัดการ วันข้างหน้าเขาต้องก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหาร FTC ส่วนตัวเขารู้เทคโนโลยีเมื่อมีองค์ความรู้เรื่องการลงทุนและการบริหารจัดการก็สามารถเข้ามาบริหารจัดการ FTC ในอนาคต
สหกรณ์ 7 ประเภทที่มีอยู่เป็นหมื่น ก็ไม่มีแบบ FTC ที่ให้ความรู้ที่ทันสมัยแบบนี้ เราอัพเดทเรื่องราวทันสมัยตลอดเวลา หากเราต้องการเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด เราต้องเตรียมตัวล่วงหน้า
นพ.วัชรา พอเห็นภาพอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ FTC ผมรู้สึกว่าอาคารสวย แต่มองว่าอาจจะใหญ่ไปสักหน่อย เพราะปีที่เราคิดกับปีที่สร้างยังไม่เกิดโควิด พอตอนนี้ออฟฟิศขนาดใหญ่อาจไม่มีความจำเป็นสำหรับหน่วยงานต่างๆ เท่าไรนัก แต่โชคดีที่ทำเลติดกับทางเดินขึ้นสถานีรถไฟฟ้า ดังนั้นสินทรัพย์นี้ยังประเมินราคาไม่ได้
ในเรื่องของสินทรัพย์โชคดีที่เรามีสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินที่เป็นหลักประกันความมั่นคั่งของFTC มากพอควร เราลงทุนกับอาคารสำนักงานแห่งใหม่ราวร้อยล้าน แต่ที่ดินตรงนี้มูลค่าขึ้นแน่ อีก 5-10 ปี มูลค่าจะขึ้นเป็นสองร้อยล้านแน่นอน นี่คือสินทรัพย์ที่จับต้องได้ที่ทวีมูลค่า และเรามองถึงสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ ที่เราพัฒนาแอพพลิเคชั่นเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี เราไปถึงจุดนั้นได้ และที่สำคัญเรามีสินทรัพย์คือมวลสมาชิกที่มีวินัย มี Growth Mindset พยายามอัพเดทตัวเองตลอดเวลา สมาชิกที่มี Growth Mindset จะนำมาซึ่งกรรมการที่มี Growth Mindset เรากำลังเพาะบ่มจิตวิญญาณของสหกรณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นบุคลากรที่มีค่ามากกับสหกรณ์ในอนาคต
คุณสุวิทย์ กล่าวสรุปว่า เราเห็นการเปลี่ยนแปลงภายนอก การเปลี่ยนแปลงรอบตัว และย้อนกลับมามององค์กรของเรา ที่เราพยายามพัฒนา FTC ให้เติบโต เพื่อสมาชิกทุกท่าน ถึงเรามีธุรกิจกันอยู่แล้ว แต่เรายังคงทำเพื่อจิตวิญญาณของสหกรณ์
ของฝากจาก FTC ช่องทางการติดต่อและวิธีการใช้แอพพ
ลิเคชั่น FTC โดย คุณอ้อม สาวิตรี
ตอนนี้ทาง FTC มีแอพพลิเคชั่นและช่องทางการติดต่อที่หลากหลาย โดยมีระบบสอบถามข้อมูลทั้งเว็บไซต์ www.ftccoop.com สามารถเข้าไปดูข้อมูลส่วนบุคคลได้ และ แอพพพลิเคชั่น COOP สามารถสอบถามข้อมูลและดูข้อมูลต่างๆว่า ถูกต้องหรือไม่ อีกหนึ่งแอพพพลิเคชั่นใหม่คือ CoOp Network มีไว้เพื่อถอนเงิน โอนเงิน และรับเงินกู้ โดยท่านต้องติดตั้งแอพพลิเคชั่น มีขั้นตอนเพียง 2 สเตปง่ายๆ 1)ลงทะเบียน 2)ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น
ขั้นตอนการใช้งาน เพียงติดต่อเจ้าหน้าที่ทางไลน์ของ FTC หรือดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอใช้บริการแอพพลิเคชั่นทางเว็บไซต์ FTC และกรอกข้อมูลให้เรียบร้อย ส่งไปรษณีย์ พร้อมสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาหน้าบัญชีธนาคารส่งมาที่ FTC เพื่อยืนยันตัวตน เมื่อ FTC ได้รับเอกสารตรวจข้อมูลเรียบร้อยเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับ ท่านสามารถดาวน์โหลดแอพพ
ลิเคชั่น CoOp Network มาติดตั้งในมือถือและใช้งานได้ทันที หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อทางไลน์ @freetrade
ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้
วันนี้เราได้รับฟังบทเรียนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของก็อตซิลล่าด้านการเงินการธนาคารอย่าง SCB สู่ SCBx จากผู้รู้ทุกท่าน เพื่อนๆ สามารถนำหลายประเด็นมาปรับใช้กับองค์กรและตนเองได้ ดังนี้
1. ปรับทัศนคติสู่ Growth Mindset
2. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมปรับตัวตลอดเวลา
3. ออกแสวงโอกาสในน่านน้ำใหม่
4. อัพเดทความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ
5. ผสานพลังความเชี่ยวชาญใหม่ๆ จากพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน
เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ จากผู้รู้การเงินได้ทาง FTC Channel ทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น. สำหรับท่านที่ชอบอ่านเรามีบทความสรุปประเด็นแต่ละสัปดาห์ทางเว็บไซท์ FTC อย่าลืมติดตามกันนะ