สรุปประเด็น FTC Channel มุมมองคนรุ่นใหม่กับการออม
วันเสาร์สบายๆ แบบนี้ FTC Channel ชวนเพื่อนๆ มาพูดคุยกันแบบสบายๆ ในหัวข้อ “มุมมองคนรุ่นใหม่กับการออม” จากผู้รู้มากประสบการณ์ด้านสุขภาพการเงินอย่าง นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ FTC คุณสายพิณ ตรีกิตติวัฒน์ อดีตทนายความ นักจัดรายการวิทยุ วิทยากรอบรมและธุรกิจส่วนตัว คุณเบ็ญจมาส แสนบุญส่ง HR Officer บมจ.ผู้ให้บริการน้ำมันอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิและภูมิภาค และคุณธนาทาน พันธุมสุต นักธุรกิจ Online Marketing ดำเนินรายการโดย คุณธนภูมิ พันธุมสุต กรรมการการศึกษา FTC และ คุณพัณณ์พนิต จินตเพียกขุนทด เจ้าหน้าที่ FTC สำนักบริการนครราชสีมา ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองทางการออมในวิถีคนรุ่นใหม่
ช่วงแรก ลับคมมุมคิดการออมจากคนสามรุ่น โดยนพ.วัชรา
ผมถือว่าผมเป็นคนโชคดีที่เป็นรุ่นเกือบสุดท้ายของคนรุ่น Baby Boomer ได้เห็นชีวิตและทัศนคติของคนรุ่นปู่ รุ่นพ่อ รุ่นลูกรุ่นหลาน ที่ผมว่าน่าสนใจ คนรุ่นปู่รุ่นพ่อเราหาเงินได้ 1 บาทจะใช้เพียง 75 สตางค์เก็บออมไว้หนึ่งสลึง ต่อมาคนรุ่นผมหาได้ 1 บาทก็ใช้หมด 1 บาท แต่สมัยนี้คนรุ่นใหม่หาได้ 1 บาทใช้จ่าย 1.50 บาท คนรุ่นใหม่จะไม่ให้ความสำคัญกับการออมสักเท่าไร เมื่อวานได้ฟังข่าวรายงานว่า อัตราการก่อหนี้ของแต่ละประเทศเกิน 100% ของ GDP เหมือนเราหาได้บาทนึงแต่ใช้เกิน 1 บาท นี่เป็นกระแสของโลกไปแล้ว แต่ผมสังเกตพบความจริงอย่างนึงที่คู่ขนานกัน ข้อแรกผมไม่เคยเห็นคนรวยโดยไม่มีการออม และข้อสองผมไม่เคยเห็นคนที่ออมแล้วก็รวย นี่คือสองทางที่คู่ขนาน ตอนนี้ผมอยากฟังวิทยากรที่เราน่าจะได้เรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ๆ เหล่านี้
ช่วงที่ 2 พบ 3 วิทยากรผู้แบ่งปันแนวคิดฉบับคนรุ่นใหม่
คุณบี๋ สายพิณ กล่าวว่า พี่เคยเป็นทนายความ และเคยทำงานนักจัดรายการวิทยุ ทำงานด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคลดูแลด้านเทรนนิ่ง และเปิดบริษัทฝึกอบรมของตัวเอง ตอนนี้ทำธุรกิจแอมเวย์เป็นส่วนใหญ่ คำว่าคนรุ่นใหม่อยากบอกว่าอย่ายึดติดกับอายุ พี่มีคอนเซปท์ว่า “ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา” เราทำออนไลน์เป็นทุกอย่าง และไม่หยุดเรียนรู้หลังจากก้าวเท้าจากมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้เรายังเรียนรู้เรื่องการเงิน การลงทุน เรื่องสุขภาพ ดังนั้น คำว่าคนรุ่นใหม่ ไม่ได้หมายถึงบอดี้ แต่หมายถึงมายเซ็ท บางคนเป็นคนรุ่นใหม่แต่ยอมแพ้ ในขณะที่คนอายุมากยังคงกระตือรือร้น และอยู่บนเส้นทางความสำเร็จตลอดเวลา ทุกวันนี้เรายังออกกำลังกาย ดูแลตัวเอง ไม่มีโรคประจำตัว แถมยังสวยและรวยมาก เราคือคนรุ่นใหม่ (หัวเราะ)
คุณเบ็ญ เบ็ญจมาส กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานฝ่ายทรัพยากรบุคคล ที่บมจ. ผู้ให้บริการน้ำมันอากาศยานทั้งดอนเมือง สุวรรณภูมิ และภูมิภาค 7 จังหวัด เดิมเรียนจบด้านไอที ทำงานด้านกราฟฟิคดีไซน์ และผันตัวมาทำงานด้าน HR นอกจากนี้ยังทำด้านออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง ช่วยที่บ้านขายขนมกุ้ยช่ายผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอร์รี่
คุณพันช์ ธนาทาน กล่าวว่า ผมทำออนไลน์มาร์เก็ตติ้งทุกรูปแบบ ทำงานดูแลตัวเองตั้งแต่อายุ 19 ปี ดูแลครอบครัวและมีรถ บ้าน และทรัพย์สินมูลค่ารวมล้านบาทตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ปี
ช่วงที่ 3 การออมเงินในมุมคิดคนรุ่นใหม่
คุณเบ็ญ เบ็ญจมาส เดิมมองการออมว่า เป็นแค่เงินเก็บเงินเหลือจากรายได้ และเก็บในธนาคาร ตอนนี้ความรู้มากขึ้นเรามองว่าการออมไม่ใช่มีเงินฝากในบัญชีเท่านั้น แต่การออมในสินทรัพย์ ที่มีมูลค่าตอบแทนในอนาคตที่สูงขึ้น เช่น ทองคำ เพราะมูลค่าเงินลดลง แต่มูลค่าทองคำไม่หายไป
จากนั้นเราได้เรียนรู้เรื่องการออมหุ้นจาก FTC ได้รู้จักจากอัพไลน์แนะนำ และการแนะนำข้อมูลในงานแคมป์ พอเข้าใจก็สมัครสมาชิกและฝากทุกเดือนประจำกับ FTC ให้ระบบตัดเงินรายได้แบบอัตโนมัติผ่านบัญชีออมทรัพย์ทุกเดือนต่อเนื่องไม่ต้องกลัวลืมฝาก และอีกช่องทางหนึ่ง คือการสร้างมูลค่าสินทรัพย์ในบุคคล เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่คนยังต้องกินต้องใช้ และต้องการมองหารายได้เพิ่ม เราลงทุนทั้งความรู้ และประสบการณ์ใหม่ๆ ในการพัฒนาผู้คน
คุณพันช์ ธนาทาน สมัยก่อนมองการออมว่าเป็นเรื่องยากมากๆ แค่เราจะกินยังไม่พอ เราเลยไม่สนใจเรื่องการออมเลย แต่ช่วงเด็กๆ ผมโชคดีที่ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการชีวิต และการจัดการเวลาตั้งแต่สิบขวบจากการตามพ่อแม่ไปเรียนรู้ วันนึงความรู้พวกนี้กลับมา ตอนเราโตออกไปใช้ชีวิต ทำให้เรามีความรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เริ่มออม เริ่มคิด ตอนที่เรามีลูก
ตอนเราอายุ 18-19 ด้วยสิ่งของที่เราอยากได้ เราอยากไปเที่ยว อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นก็พยายามทำทุกอย่างให้มีรายได้ เริ่มจากการเป็นลูกจ้าง เป็นเด็กเสิร์ฟร้านอาหาร แต่รายได้น้อยเลยออกมาทำธุรกิจออนไลน์เรื่องปุ๋ย ดิน เราดูว่าโลกเราหมุนตลอด มีธุรกิจอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นจากแนวโน้มตลาด เช่น เราเห็นว่าคนนิยมต้นไม้ เราก็เริ่มศึกษาก่อน เตรียมพร้อมเพื่อทำธุรกิจเมื่อโอกาสมันบูมขึ้นมา
ผมเลือกทำธุรกิจส่วนตัวเพราะมองว่างานประจำไม่ตอบโจทย์ รายได้งานประจำคงที่ ยากมากที่รายได้จะเพิ่มแบบเท่าตัว แต่ในธุรกิจออนไลน์เรากำหนดได้ ขยันมากขึ้นเราได้เพิ่ม
คุณบี๋ สายพิณ กล่าวว่า หลายคนติดความคิดที่ว่าจะกินยังไม่พอจะเอาตังค์ที่ไหนมาออม แต่จริงๆ ถ้าสังเกตดู จะพบว่าคนทั่วไปมีความสามารถพิเศษในการใช้เงินให้พอดีกับรายได้ ตอนเรามีเงินเดือน 3,500 เราก็ใช้หมด 3,500 พอเรามีเงินเดือน 35,000 เราก็มีความสามารถใช้ให้หมด 35,000 ได้
มีเกณฑ์การใช้จ่าย 3 เกณฑ์ 1)ใช้จ่ายพอดีกับรายได้ 2)ใช้จ่ายเกินกว่ารายได้ และ 3)ใช้จ่ายต่ำกว่ารายได้ ถ้าเราอยากเป็นเศรษฐี เราต้องใช้เกณฑ์ที่สาม แต่เรามักเห็นคนรอบข้าง เค้ามักจะใช้เสมอตัวพอดีกับรายได้ ขึ้นตำแหน่งก็เปลี่ยนรถ ซื้อบ้านใหม่ ซึ่งอาการเหล่านี้แสดงถึงการมีมายเซ็ทของเราที่ไม่ถูกต้องในเรื่องการเงินการใช้จ่าย ทุกคนอยากรวย แต่ส่วนใหญ่ไม่มีการวางแผนการเงิน ทั้งไม่ออมและไม่ลงทุน
ส่วนใหญ่หลายคนที่ทำอาชีพแบบ Active Income เมื่ออายุ 60 ลงจากบัลลังก์จะเหลือศูนย์ มีเงินพอดำรงชีวิตนิดๆ หน่อยๆ ยิ่งในยุคโควิด เราเห็นนักธุรกิจกลายเป็นคนจน หรือพนักงานที่เคยทำงานบริษัทมั่นคงมากๆ ต้องมาขับ Grab ต้องมาขายหมูปิ้งต่างๆ นี่คือภาพสะท้อนของการที่ผู้คนมีมายเซ็ทที่ไม่ถูกต้องเรื่องเงิน คนจำนวนมากมองว่าเงินเป็นที่ระบายความเครียด ทำงานที่กดดันมากๆ พอสิ้นเดือนวันศุกร์ก็ไปหาที่ระบายความเครียดออก เงินก็ไหลพรวดออกไปทางเดียว หรือบางคนคิดว่าเงินเป็นเครื่องบำบัด ผู้หญิงจะบำบัดมากเลย ซื้อรองเท้าคู่ที่ 20 ทั้งที่มีขาคู่เดียว
ถามว่าวันนี้ “เงินออมคืออะไร” เงินออมคือความมั่นคงจากภายใน ถ้าเมื่อไรเรามีเงินออม จิตใจเราจะรู้สึกสงบสุขมั่นคงทางใจ บริษัทจะยื่นซองให้เราออกจากงาน ถ้าเรามีเงินออมใช้ได้หนึ่งปีเราจะไม่เครียดเมื่อเจอวิกฤติ เงินออมคืออุปกรณ์ในการสร้างฝันของเรา อยากมีบ้านอยากมีรถ เราต้องมีเงินดาวน์ อยากส่งลูกเรียนสูงๆ เราต้องมีเงินส่ง ถ้าไม่มีเงินออม ความฝันเหล่านี้ของเราไม่มีทางเกิดขึ้น ดังนั้นไม่ว่าเราฝันอะไรเงินออมเป็นจุดตั้งต้น การออมไม่ใช่แค่ฝากประจำออมในธนาคาร ดอกเบี้ยไม่ถึง 1% แต่ที่ FTC คุณได้ปันผลปีละ 3-4% ซึ่งคุ้มค่ามากๆ ใครที่ยังไม่มีเงินออม ช่องทางการออมที่ FTC น่าสนใจที่สุด มั่นคง ปลอดภัย ผลตอบแทนสูง
ถ้าเราออมหรือลงทุนทั่วไปข้างนอกจะบอกเลยว่า กำไรสูงความเสี่ยงก็สูงด้วย แต่ที่ FTC ปิดช่องว่างตรงนั้น ปันผลดี กำไรสูง แต่ความเสี่ยงต่ำมากๆ ต้องขอขอบคุณคุณหมอวัชรา และผู้นำที่ช่วยกันปูทาง ร่วมกันวางระบบที่มั่นคงปลอดภัย ทำให้เราออมได้อย่างสบายใจ และได้ผลตอบแทนที่ดี คุ้มค่า ใครที่ยังไม่ได้สมัครก็ขอเรียนเชิญ ด้วยความที่ FTC เป็นสถาบันการเงิน กฎหมายที่คุ้มครองกำหนดให้เราต้องกรอกเอกสาร เหมือนการเปิดบัญชีธนาคาร หลังจากนั้นเราจะมีแหล่งเก็บเงินที่ดี ผลตอบแทนดี เป็นที่ฝากชีวิตไว้ได้ในอนาคต
ช่วงที่ 4 การออมกับการลงทุนในทัศนะคนรุ่นใหม่
คุณเบ็ญ เบ็ญจมาส ให้มุมมองว่า การออมแต่ละประเภทให้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน ส่วน การลงทุนต้องมีความเสี่ยง ไม่อย่างนั้นผลตอบแทนต่ำเกินไปไม่น่าลงทุน แต่สำหรับ FTC เป็นรูปแบบการลงทุนที่มั่นคง ปลอดภัย ไร้กังวลมาก ดูจากผู้ก่อตั้ง ที่เราเชื่อมั่น เราฟังแล้วเราก็ตัดสินใจไม่ลังเลที่จะสมัครออมกับ FTC ตั้งแต่นั้น
การลงทุนไม่ใช่แค่เอาเงินไปลงในพอร์ตหุ้น หรือการลงทุนด้วยเงินเท่านั้น แต่ยังมีการลงทุนในประสบการณ์ความรู้ ที่จะทวีคูณขึ้นในอนาคต เหมือนการปลูกต้นไม้ ดังนั้นการลงทุนที่ดี เราต้องมองถึงผลกำไรผลตอบแทนในระยะยาวมากกว่า 5-10 ปีด้วย
คุณพันช์ ธนาทาน มองว่า การออมและการลงทุนเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเราลงทุนเพื่ออนาตค เราออมเพื่ออนาคตเหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราวางเงินออมและลงทุนไว้ที่ไหน ผลตอบแทนมากหรือน้อย เราเคยลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี่ตอนราคาถูกเมื่อ 6 ปีที่แล้วก่อนคนอื่น โชคดีที่พอราคาขึ้นเราก็ขายได้กำไรมา ภายหลังพอไปซื้ออีกก็เศร้าครับ บาดเจ็บพอสมควร อยากฝากว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ต้องศึกษาข้อมูลบริษัทที่เราจะลงทุนให้ดีมากๆ ใช้ความเชื่อมั่นในตัวเองมากไม่ได้
คุณบี๋ สายพิณ เรื่องของการลงทุนเป็นเรื่องที่เราต้องใช้ความรู้จริงๆ เซียนยังพลาดได้เลย เจ้านายเก่าพี่ดูจอทั้งวัน ท่านลงทุนในหุ้น บางวันก็ได้เบนซ์คันนึง บางวันก็เสียเบนซ์คันนึง
พี่เคยลงทุนใน LTF 50,000 บาท พอครบห้าปีขายได้ 116,000 บาทกำไรมหาศาล แต่หลังจากนั้นไม่มีช่วงที่ได้ผลตอบแทนมากขนาดนั้นอีก คนส่วนใหญ่ที่เล่นหุ้นไม่เป็น แนะนำว่าลงทุนกองทุนในธนาคาร ให้คนที่เราไว้วางใจเป็นที่ปรึกษาดูแลให้เราเฉลี่ยซื้อ เพราะพี่สังเกตว่า คนจนกับคนรวยวิถีชีวิตต่างกัน คนจนเสพแต่เรื่องทุกข์ๆ ดูแต่ข่าวอาชญากรรม เรื่องดารา พอถึงข่าวการลงทุน ข่าวเศรษฐกิจเปลี่ยนช่องแทบไม่ทัน
ถ้าเราจะเริ่มลงทุนต้องเริ่มจากการออมเป็นก้าวแรกเราจึงมีเงินไปลงทุน แต่หากเรายังมีปัญหาหนี้ อยากขอชวนให้ทุกคนตั้งเป้าหมายการออมก่อน เริ่มออม 10% ของรายได้ที่เรามี ถ้าเรามีเงินออม เราสามารถเป็นเงินฉุกเฉินช่วยครอบครัวเราได้ หากเรามีทุนเรือนหุ้น เราสามารถกู้จากทุนเรือนหุ้นได้โดยไม่ต้องให้ใครค้ำประกันให้เราเลย อย่างน้อยเราไม่ต้องวิ่งหาเงินกู้นอกระบบ เราอาศัย FTC เป็นที่พึ่งให้เราได้ ดังนั้นเราต้องตั้งเป้าเรื่องการออมก่อน และต้องมีมายเซ็ทว่าเราต้องหาความรู้เรื่องการเงิน เหมือนลงเรียนทะเบียนวิชาการเงินอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง หรือสัปดาห์ละสามวัน เราต้องเปลี่ยนมายเซ็ทคำว่า “ของมันต้องมี” ทำให้เราไม่มีเงินเก็บ ตัวพี่รายได้แสนกว่าบาททุกเดือนแต่พี่ใช้มือถือธรรมดา ที่ถ้าใช้เป็นเราก็ใช้งานได้เยอะมาก
ตั้งเป้าหมายการเงิน การออม และหาความรู้เพิ่ม และลงทุนให้เหมาะกับบุคลิกของเรา เรารับความเสี่ยงได้มาก ปานกลาง หรือน้อย ก็ลงทุนตามนั้น แต่ไม่แนะนำให้ฝากในแบงค์อย่างเดียวเพราะผลตอบแทนกะจิ๊ดริด แนะนำให้ฝากที่ FTC และการออมการลงทุนควรแบ่งเป็นสองกอง กองทุนเพื่อเกษียณ และกองทุนเพื่อเหตุฉุกเฉิน ที่เราสามารถถอนได้ตลอดเวลา กองทุนรวมก็น่าสนใจ ต้องลองคำนวณดู
พี่ได้ลงเรียนการเงิน ให้คิดว่าถ้าเราเกษียณที่อายุ 60 ปี เราจะมีรายได้จากทางไหนบ้าง เช่น ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ หากเรามีอายุถึง 90 ปี ในอีก 30 ปี แค่ค่าข้าวสามมื้อต้องมีเงินสี่ล้าน แต่คนสูงอายุมักจะมีปัญหาหนักเรื่องสุขภาพ เราต้องมีเงินก้อนนึงที่ต้องเตรียมไว้ดูแลสุขภาพของเราเอง บางคนซื้อประกันสุขภาพ อีกช่องทางที่อยากแบ่งปันคือแอมเวย์ เราทานนิวทริไลท์มาตลอด ตั้งแต่อายุสามสิบกว่าจนปัจจุบัน 58 ปี เราไม่มีโรคประจำตัว เราไม่เสพสิ่งไม่ดีต่อสุขภาพร่างกาย เรามีวินัยในการออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนของเราที่จะไม่ต้องไปผลาญเงินออมของเราในอนาคต ถ้าเราบอกว่ามีชีวิตต้องใช้ ก็ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในการกอบกู้สุขภาพซึ่งมันแพงมากๆ
วันนี้เราออมก็จริง ลงทุนก็ใช่ แต่เรื่องสุขภาพก็สำคัญมากๆ เราต้องดูแล นี่คือภาพสะท้อนว่าเมื่อเรามีเงินออม เรามีช่องออกช่องไหนบ้าง ดังนั้นเมื่อเรามีเงิน พี่มองว่าเราต้องมีความรู้ในการบริหารเงินให้เป็น เรามีการใช้จ่ายได้ตามสมควรอย่าให้เกินตัว มีหนี้ได้แต่ไม่ควรเกิน 35% ของรายได้ ดังนั้นพี่สนับสนุนเรื่องการมีความรู้
ช่วงที่ 5 จัดการสภาพคล่อง เพื่อการออมและการลงทุน โดย นพ.วัชรา
กว่าที่ผมจะรู้จักการออมอย่างถูกต้อง ก็อายุเกือบ 40 แล้ว เพราะก่อนหน้านั้นรายได้น้อย พอถึงแสนสองแสนก็ใช้พอดี แต่คุณพ่อผมเป็นสุดยอดนักเศรษฐศาสตร์ ท่านบอกผมว่า “ถ้าปลูกกอไผ่แล้วกินหน่อไม้หมด แล้วจะได้ไผ่ได้ยังไง” ผมฟังแล้วสะดุ้ง ทำให้ผมได้ฉุกคิด เพราะเมื่อเรามีเงินออมน้อยๆ เรามักมีความต้องการทุกที เพราะเราไม่เคยควบคุมความอยากของตัวเอง ยิ่งในวิกฤติเศรษฐกิจ ยิ่งเห็นได้ชัดว่าคนที่ไม่มีเงินออมลำบากกว่าคนที่มีเงินออมเยอะมาก
เราจะมีเงินออมได้อย่างไรหากเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการออมเป็นลำดับแรก หาเงินได้เท่าไรเราใช้ เราให้คนอื่นก่อนหมด ไม่เคยเก็บให้ตัวเองเลย แต่ที่จริงยิ่งเงินไม่พอยิ่งต้องหาวิธีออม จะลดค่าขนม ลดค่ากาแฟ นี่เป็นพื้นฐานสำหรับผู้เริ่มต้น สมมติเราเช่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท เราก็เก็บค่าเช่าบ้าน เงินที่เหลือเราก็ใช้หมดพอดี แต่หากค่าเช่าบ้านขึ้นเป็น 3,500-4,000 ผมเชื่อว่าเราจะสามารถหาเงินอีก 1,000 มาจ่ายค่าเช่าได้ ให้ลองคิดสมมติว่าค่าเช่าบ้านขึ้นแล้ว เราถึงจะมีเงินมาเก็บออมได้ การเก็บเงินอย่างสม่ำเสมอเป็นการฝึกนิสัย ยิ่งมาออมกับ FTC จะฝึกให้เราออมแบบมีวินัยมากขึ้น ด้วยผลตอบแทนที่มากกว่าธนาคาร แต่ไม่ได้บอกว่าธนาคารไม่ดี แต่ผลตอบแทนปีละ 3-4% ก็เหมือนผลตอบแทนการลงทุนในกองทุนรวม
สมัยนี้มี DCA (Dollar Cost Average) ที่คุณลงทุนกองทุนโดยเฉลี่ยเงินมาลงทุนทุกเดือน เดือนละ 2,000-3,000 บาท ไม่ต้องสนใจว่าราคาเท่าไร แต่พอเวลาผ่านไปสิบปี เงินที่คุณลงไปก็จะเป็น 200,000-300,000 อยากให้มองการออมกับ FTC แบบเดียวกับ DCA เหมือนกองทุน แต่ด้วยเศรษฐกิจแบบนี้ FTC ปีนี้อาจจะมีเงินปันผลไม่มากเท่าปีก่อนๆ เพราะกรรมการมีความห่วงใยสมาชิกที่เดือดร้อน เรามีโครงการพิเศษมากมายเพื่อช่วยเหลือสมาชิก ที่องค์กรอื่นๆ อาจจะไม่มี
การบริหารเงินของผม ก็เคยลงทุนในหุ้น ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ขาดทุนไปพอสมควร ผมไม่ได้โทษว่าการลงทุนหุ้นมีความเสี่ยง ไม่ได้โทษว่า High Risk , High Return แต่มองว่าถ้าคุณไม่ลงทุนในการค้นหาความรู้ให้ตัวเองนั่นคือความเสี่ยง ความไม่รู้คือความเสี่ยง การจะหาความรู้เรื่องหุ้นผมก็อ่านศึกษามาเรื่อยๆ แต่ยังไม่สำเร็จสักที ก็เลยมาจัดสรรการลงทุนของตัวเองใหม่
ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตคือ “สภาพคล่อง” ต้องเริ่มจากการกำหนดสภาพคล่องให้ตัวเอง เช่น คุณผ่อนบ้านผ่อนรถ แล้วมีเงินเหลือเดือนละ 20,000 นี่คือสภาพคล่อง คุณต้องรักษาสภาพคล่องตรงนี้ไว้ให้ได้ แล้วถ้ามีรายได้เพิ่มค่อยออม ค่อยลงทุน
การส่งงวดบางอย่างไม่ใช่การออม เช่น การส่งงวดรถไม่ใช่การออม แต่การส่งงวดบ้าน ส่งงวดที่ดิน เหมือนการออมแบบฝังดิน เพราะมูลค่ามันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องมีความรู้มาก ผมรู้สึกว่ามันเสี่ยงน้อยที่สุดสำหรับผม แต่ก็มีข้อเสียคือถ้ามากไปก็หมดสภาพคล่อง สิ่งสำคัญคือคุณต้องเก็บสภาพคล่องไว้
หลังจากส่วนที่เหลือจากสภาพคล่อง การออมประจำ การออมในหุ้นสหกรณ์ การออมในที่ดิน แล้วคุณสนใจอยากลงทุนเพื่อความโฉบเฉี่ยวท้าทาย อยากลงในกองทุน ETF ซึ่งอยู่ระหว่างการเล่นหุ้นและกองทุนรวมก็ต้องลองศึกษา การไม่ศึกษาคืออันตรายทุกเรื่อง หรือสนใจในคริปโตเคอร์เรนซี่ก็ไม่แปลก แต่ถ้าคุณเล่นตามกระแส โดยไม่หาความรู้ นั่นคือความเสี่ยงคือการพนัน ถ้าคุณเล่นบิตคอยน์แล้วมองว่าเป็นการลงทุน ผมว่าไม่ใช่ เพราะถ้าเราลงทุนในหุ้น ในปตท. คุณรู้ว่าเขาทำธุรกิจอะไร ดูแนวโน้มราคาโลกได้ แต่บิตคอยน์ คริปโตนั่นไม่ใช่ ยิ่งคุณไม่ได้ศึกษา ยิ่งเป็นเพียงการแทงว่าวันนี้จะขึ้นหรือลงก็เหมือนการพนัน
ขอฝากไว้ว่าการออมคือพี่หรือพ่อของการลงทุน ถ้าคุณไม่เริ่มด้วยการออมก่อน คุณก็ไม่มีเงินไปลงทุน
ช่วงที่ 6 เทคนิคเริ่มต้นการออมที่คนรุ่นใหม่อยากแบ่งปัน
คุณเบ็ญ เบ็ญจมาส แชร์เทคนิคการออมว่า เริ่มจากออมกับ FTC นี่แหละ เป็นการออมที่ไร้กังวล เริ่มต้นได้เลย ใครที่ยังไม่เข้าใจ ก็มีคลิปย้อนหลังศึกษาได้
คุณพันช์ ธนาทาน แชร์เทคนิคส่วนตัวคือ การเก็บแบงค์ 50 แบงค์ 100 แบงค์ 500 ใบใหม่ๆ ก็จะเก็บไว้ เก็บได้ปีกว่าแล้ว และผมจะไม่ค่อยพกเงินสด แต่เก็บไว้ในธนาคาร
คุณบี๋ สายพิณ แบ่งปันว่า ให้เริ่มต้นจากความรักก่อน รักเงินก่อน ความรักที่เรามีต่อเงินแม้เงินบาทเดียวเราก็ต้องรู้สึกผูกพัน ทุกครั้งเวลาได้รับเงินมา ให้เราขอบคุณเงินนี้ที่เข้ามาในชีวิตเรา เวลาเราใช้เงินเราจะระมัดระวัง เราจะให้เกียรติเงินของเรา
พี่จะจัดกระเป๋าเงินทุกคืน เราจะเรียงเงิน แบงค์ 1,000 เราจะจัดไว้ในช่องลับ ไม่ให้เห็นเราจะได้ไม่ใช้ เราจะเหลือแบงค์ 500 แบงค์ 100 แบงค์ 20 เวลาจะใช้เงินทุกครั้ง พยายามพิจารณาก่อนใช้ ให้เกียรติเงินที่เราหามาได้ ไม่เห็นเงินเป็นศัตรูที่ต้องรีบเฉดออกจากกระเป๋า
ถัดมาให้รักตัวเอง ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพื่อให้ไม่มาผลาญเงินเก็บเรา และรักตัวเองในแง่ที่ว่าให้ตัวเองก่อน พอเราเงินออกมาเรานำเข้าออมใน FTC ก่อน และดูว่ามีบัญชีออมหรืออยากลงทุนที่ไหนให้ทำก่อน ถ้าเหลือเท่าไรเราจะใช้เท่านั้นได้พอดี ถ้ามีเงินเยอะมือเติบใจเติบ
อีกเรื่องคืออยากฝากให้ฝึก ทำบันทึกการเงิน คำนวณรายจ่ายประจำ Fix Cost ค่าส่งบ้าน ส่งรถ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ค่ายาค่ารักษาพยาบาล ค่าตัดผม ค่าเสื้อผ้า เราจะเห็นว่าเงินเดือนๆ หนึ่งใช้ไปกับอะไรบ้าง การจดเป็นสิ่งสำคัญทำให้เราเห็น และบริหารจัดการได้ ให้รู้ว่าเงินที่ได้มาไปทางไหนเดือนหน้าต้องปรับการใช้จ่ายอะไร รวมถึงทำพิมพ์เขียวการเงิน ที่สำคัญจัดเวลาเรียนรู้เรื่องการเงิน คิดซะว่าเราลงทะเบียนเรียนวิชาการเงินที่จะให้ผลตอบแทนคุ้มค่ามาก และอยากให้จัดเวลาออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ถ้าเราสุขภาพแข็งแรง การเงินแข็งแรง จิตใจเราจะแข็งแรงด้วย และติดตามความรู้ทาง FTC หัวข้อที่ท่านสนใจเราจะหาความรู้มาอัพเดทกัน
ช่วงท้าย สรุปแนวคิด
คุณบอม ธนภูมิ สรุปว่า เราต้องตั้งเป้าหมายการออมก่อน อาจจะเริ่มจากลดค่ากาแฟลง สามารถประหยัดเงินได้เยอะ เมื่อครู่ผมเปิดแอพพลิเคชั่น FTC ดู ตอนนี้ก็ได้มีการออม 139 งวดแล้ว หากไม่ได้ออมก็ไม่รู้ว่าเงินนี้จะไปไหน
คุณอุ้ม พัณณ์พนิต ประทับใจในแนวคิดที่ว่า การใช้เงินแก้เครียดทำให้เราเครียดกว่าเดิม ยิ่งสมัยนี้แอพช้อปปิ้งเยอะมาก และมีการจัดโปรโมชั่นต่างๆ ที่ยั่วยุมาก เราต้องยับยั้งชั่งใจในการช้อปออนไลน์มากกว่าเดิม รู้สึกว่าสิ่งที่ได้ฟังวันนี้เป็นประโยชน์มาก
คุณเบ็ญ เบ็ญจมาส กล่าวว่า สุขภาพเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการออม หากเราออมได้เยอะ แต่สุขภาพไม่ดี ก็ทำให้ล้มเหลวทางการเงินได้ นอกจากกลายเป็นศูนย์อาจจะติดลบด้วย นอกจากการออมสุขภาพตัวเอง ก็ออมสุขภาพคุณพ่อคุณแม่ด้วย พอเห็นเขามีความสุข สุขภาพดี เรายิ่งดีใจ
คุณพันช์ ธนาทาน กล่าวว่า วันนี้ทำให้เห็นความสำคัญของการออมมากขึ้น ต้องวางแผนให้พร้อม และเห็นความสำคัญว่า เรื่องการรักษาพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะมากจริงๆ ล่าสุดภรรยาคลอดลูก แต่มีภาวะครรภ์เป็นพิษต้องคลอดก่อนกำหนด รัฐบาลไม่รองรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เลยต้องจ่ายเองทั้งหมด เป็นความจริงเลยว่าเงินเก็บไปอยู่กับโรงพยาบาลทั้งหมด ค่าใช้จ่ายรายวันที่ รพ. วันละ 15,000 บาท ทั้งหมด 28 วัน
คุณบี๋ สายพิณ มองว่า หลักคิดง่ายๆ เรื่องการเงิน เราต้องมีทางเข้าของเงินเยอะๆ และมีช่องทางออกน้อยที่สุด ก่อนจะซื้ออะไร เราต้องคิดว่าเรารับผิดชอบได้ตลอดรอดฝั่งมั้ย ก่อนเราจะรับภาระเป็นหนี้ที่ผูกพันระยะยาวเราต้องคิดดีๆ ก่อน เช่น ซื้อที่ดิน ผ่อนรถ ฯลฯ ถ้าเรามีเงินเย็น อยากทำทำได้เลย แต่ถ้าเป็นเงินร้อน ก่อนทำต้องคิดถึงภาระผูกพัน
เรื่องรายได้ต้องมีหลายช่องทาง อย่าคิดว่ามีงานประจำอย่างเดียวพอแล้ว เราต้องมีงานประจำ มีงานพิเศษ มีธุรกิจแอมเวย์ที่เติบโตด้วย พอมีรายได้ที่มั่นคงครอบคลุมรายจ่าย จะออกจากงานประจำ ต้องออกทีละคน คนที่รายได้น้อยออกก่อน คนที่รายได้เยอะออกทีหลัง นี่คือการบริหารจัดการ
แม้แต่การอยากได้รถสักคัน เราเคยคำนวณก่อนมั้ยว่ารถราคาเท่าไร ดาวน์เท่าไรผ่อนเท่าไร เช่น รถหนึ่งล้าน ผ่อนเสร็จกลายเป็นล้านสี่ สี่แสนเราควรต้องเสียมั้ย ให้เราลองออมเงินที่ต้องผ่อนต่อเดือนใส่บัญชีไว้เลยทุกเดือนๆ ก่อนซื้อรถ พอถึงเวลาก็ถอนเงินนี้ไปซื้อรถ นี่คือวิธีคนโบราณ ที่ทำธุรกรรมด้วยเงินสด ไม่ให้ดอกเบี้ยกินเงินเขา เพราะเงินคือชีวิต เงินเดือนคือสิ่งที่ได้มาด้วยความยากลำบาก ต้องแลกมาด้วยชีวิต แต่เราใช้เงินไปในสิ่งที่ไม่คุ้มค่า น่าเสียดาย
วันนี้ถ้าเรามีโอกาสมีงานหลายช่องทางอย่าปฏิเสธ เราต้องพร้อมที่จะเปิดรับโอกาส เรียนรู้ งานทุกงานถ้าไม่ได้เงิน เราก็ได้ประสบการณ์ พี่ไม่เคยเกี่ยงงานหนัก เพราะงานหนักจะทำให้เราเติบโต มายเซ็ทเราจะเติบโตตามความรับผิดชอบที่เราได้รับ
เราต้องมีพิมพ์เขียวทางการเงิน เราควรมี Dream Chart เรื่องการเงิน ว่าเราจะมีเงินล้านบาทเมื่อไหร่ สามล้านบาทเมื่อไร และจะมีช่องทางไหนบ้างทำให้เราได้เป้าหมายนั้น
ตอนนี้การหาความรู้เรื่องการบริหารเงินหาได้ง่ายมาก เราเลือกที่สามารถปฏิบัติได้จริง เช่น ลองเอาเหรียญใส่กระปุกไว้ทุกวันผ่านไปวันนึงก็เต็มกระปุกก็คือเงิน เราลองคำนวณดูว่าวันนึงเรากินกาแฟวันละ 200 บาท เดือนนึงก็ 6,000 บาท หากเราประหยัดได้ก็ควรทำ ยิ่งช่วงโควิดเราน่าจะรวยขึ้น เพราะไม่มีร้านอาหารให้นั่ง ประหยัดค่าน้ำมัน ก็นำสิ่งที่ประหยัดได้ตัดเข้าบัญชีที่จะเกิดดอกออกผลให้เราได้
ถ้าเรารู้ว่าเราใช้จ่ายง่ายใจอ่อน ก็เก็บบัตรเครดิตไว้ที่บ้าน ถ้าเราต้องจ่ายก็ใช้เงินสด เวลาจ่ายเงินสดเราจะสะเทือน พี่เรียนรู้เรื่องการหาเงินออนไลน์ อย่างระบบของแอมเวย์พี่ทำเป็นหมด แต่พี่ไม่สนใจไม่เรียนรู้เรื่องช่องทางจ่ายเงิน พี่ทำแอพช้อปปิ้ง หรือแอพสั่งอาหารออนไลน์ไม่เป็น เพราะเราไม่อยากใช้เงินไปกับพวกนี้ ก็เลือกที่จะไม่เรียนรู้ได้
คุณหมอวัชรา วันนี้เราได้มีโอกาสเรียนรู้แบ่งปันเรื่องอนาคตทางการเงิน คุณสายพิณมีมุมมองที่กว้างละเอียดรอบด้าน เป็นประสบการณ์ของผู้ที่สร้างตัวด้วยความวิริยะอุตสาหะ ด้วยการวางแผน เป็นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้และเลียนแบบได้ เชื่อว่าวิทยากรแต่ละคนเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นในแต่ละขั้นตอนจริงๆ หากอยากมีอนาคตทางการเงินที่ดี ก็ติดตาม FTC Channel ทุกๆ วันเสาร์ 10 โมงเช้า
ของฝากจาก FTC แอพพลิเคชั่น CoOp Network ทำธุรกรรมสะดวกง่าย...เพียงปลายนิ้ว โดย คุณอุ้ม พัณณ์พนิต
แอพพลิเคชั่นใหม่ของ FTC ชื่อ CoOp Network ช่วยอำนวยความสะดวกให้ทุกท่านสามารถทำธุรกรรม ทั้งการถอนเงิน โอนเงิน รับเงินกู้หมุนเวียนได้สะดวก ง่าย ทุกเวลาแบบเรียลไทม์ ผ่านมือถือของท่าน
ความแตกต่างจากแอพลิเคชั่นเดิมใช้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของสมาชิก ทั้งบัญชีเงินฝาก จำนวนทุนเรือนหุ้นสะสม หรือสินเชื่อมียอดคงเหลือเท่าไร สำหรับสมาชิกที่ยังไม่ได้ติดตั้ง แอพ CoOp Network สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง Android และ iOS
คำถามจาก Facebook และ Zoom
Q : สมัครสมาชิก FTC ทำได้ทางใดบ้าง?
คุณอุ้ม พัณณ์พนิต : หากสมาชิกที่สะดวกเดินทางมาสมัครที่สำนักบริการสหกรณ์โดยตรง สามารถเดินทางมาได้ ท่านที่ไม่สะดวกเดินทางสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการสมัคร ทางเว็บไซต์ของ FTC มีรายละเอียดการกรอกแบบฟอร์ม และจัดส่งเอกสารมาที่สำนักงานใหญ่ พร้อมสำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัตรแอมเวย์ สำเนาทะเบียนบ้าน จากนั้นรอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับแจ้งให้สมาชิกมายืนยันตัวตนที่สหกรณ์ การสมัครถึงจะสมบูรณ์
ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้
วันนี้เราได้มุมมองและประสบการณ์การออมและการลงทุนจากวิทยากรรุ่นใหม่ทุกท่าน ทำให้เข้าใจว่า ถ้าจะเริ่มต้นการออมไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ แต่สามารถเริ่มจัดสรรการออมให้เหมาะกับสัดส่วนรายได้ของเราได้ เมื่อมีเงินออมมากพอ เราก็สามารถเลือกลงทุนในรูปแบบการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ตามลักษณะนิสัยของเรา
แอดขอสรุปเทคนิคการออมสำหรับผู้เริ่มต้น ด้วย 2 รัก และ 2 รอบ
1. รักในเงิน รักและรู้สึกขอบคุณเงินรายได้ที่เข้ามา เห็นคุณค่าและให้เกียรติเงินที่เราหามาได้ ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
2. รักตัวเอง จ่ายให้ตัวเองก่อนด้วยการออมใน FTC ก่อนที่จะใช้จ่ายกับรายจ่ายอื่นๆ
3. รอบคอบกับเงิน ทำบันทึกการเงินและค่าใช้จ่าย เพื่อเห็นทางเข้าของรายได้ และทางออกของรายจ่ายว่าไปทางไหนบ้าง เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ
4. รอบรู้การเงิน ศึกษาอัพเดทข้อมูลด้านการเงินและการลงทุนสม่ำเสมอ เพราะความไม่รู้คือความเสี่ยงสูงสุด
ถ้าเพื่อนๆ ชอบความรู้ดีๆ จากผู้รอบรู้ทางการเงินและการลงทุนแบบนี้ อย่าลืมติดตาม FTC Channel ทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น. แล้วเจอกันนะ!