การวางแผนการออมและการลงทุน

โดย Admin T
 วันที่ 29 ก.ย. 2564 เวลา 14:42 น.
 1436

สรุปประเด็น FTC Channel การวางแผนการออมและการลงทุน

 

FTC Channel ชวนเพื่อนๆ มาพูดคุยกันแบบสบายๆ ในเช้าวันเสาร์กับหัวข้อ “การวางแผนการออมและการลงทุน” จากผู้รู้มากประสบการณ์ด้านสุขภาพการเงินอย่าง นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ FTC และนักการเงินรุ่นใหม่ คุณกนต์ธร ขันติสุวรรณ Relationship Manager สถาบันการเงินชื่อดัง ดำเนินรายการโดย คุณสุวิทย์ พูลสุขเลิศ ประธานคณะกรรมการศึกษา FTC และคุณเขมรัตน์ บัวนาถ เจ้าหน้าที่ FTC สำนักบริการชลบุรี ร่วมแบ่งปันมุมมองทางการเงินและบอกเล่าประสบการณ์ การออมและการลงทุนในยุคดิจิทัล ที่ใครรู้ก่อน ปรับตัวก่อนได้เปรียบ!

 

ช่วงแรก ปรับจูนองศาความรู้และความคิด โดยนพ.วัชรา  

    โลกเปลี่ยนเร็วมากจนทำให้ตกใจมากเมื่อจู่ๆ ธนาคารไทยพาณิชย์แปลงร่าง  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเป็น SCBx น่าจะส่งผลต่อธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกที่จะเลียนแบบ SCB ดังนั้นเราจะใช้ชีวิตตามความเคยชินไม่ได้ อะไรที่เรียนมาแล้วเราต้องรู้จัก learn unlearn และ relearn ต้องรู้จักปล่อยวางความรู้เก่าและหาความรู้ใหม่ บางทีเราน่าจะได้รับจดหมายจากมหาวิทยาลัย ว่าความรู้ที่คุณเคยเรียนมา 20-30 ปีนั้นใช้ไม่ได้แล้ว กรุณามาปรับจูนสมองใหม่ (หัวเราะ) การที่เราอยู่ในธุรกิจแอมเวย์ เราถูกกระตุ้นให้ปรับตัวให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทุกวันนี้ผมและคุณสุวิทย์ เรียนรู้มากกว่าสมัยมหาวิทยาลัยเสียอีก เราได้เรียนรู้จากคนทุกแขนงที่ยินดีมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์กับเรา วันนี้ผมดีใจมากที่เราได้เรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ ที่เขาอาจเรียนในสิ่งที่เราไม่เคยได้เรียน และคิดในสิ่งที่เราไม่เคยคิด ผมรู้สึกตื่นเต้นมากและอยากเป็นนักฟังที่ดีแล้วครับ 


ช่วงที่ 2 รู้จัก FTC ผ่านมุมมองมนุษย์ไฟแนนซ์ โดย คุณโอม กนต์ธร 

ผมจบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตรร์ เริ่มทำธุรกิจแอมเวย์ตั้งแต่ตอนเรียน และทำแอมเวย์ควบคู่การทำงานประจำ ตั้งแต่จบมาผมเริ่มทำงานในตำแหน่ง Management Trainee ในโครงการพิเศษของ TMB ผมอยู่ในฝั่งสินเชื่อ เริ่มเรียนรู้ในการปล่อยสินเชื่อให้กับ SME กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ต่อมาได้มาดู Business Banking กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ไม่เกิน 1000 ล้านบาทต่อปี และปัจจุบันดูแลลูกค้ามหาชนที่เกียรตินาคินภัทร ดูแลกลุ่มลูกค้า Corporate ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงการคอนโดตึกสูงตรงข้ามตึก RS ย่านเกษตรนวมินทร์ผมดูแลวงเงิน 800 กว่าล้าน ดูแลลูกค้ากลุ่มสวนเสือศรีราชา และคอนโดแถวทองหล่อ ฯลฯ พอจะมีประสบการณ์สายการเงินไฟแนนซ์ตั้งแต่เรียนจบ ได้เจอกลุ่มลูกค้าหลากหลาย 

ผมเข้ามาอยู่ในธุรกิจแอมเวย์จากคุณพ่อคุณแม่ และอยู่ในสายงานของคุณสาธิต- คุณสุพรรณี ดิษฐจร (พี่กิม-พี่เด้ง) ที่คอยย้ำถึงเรื่องความสำคัญของการออม การวางแผนการเงิน และยกตัวอย่างการออมเงินที่ดีในรูปสหกรณ์ออมทรัพย์ ผมได้เริ่มเป็นสมาชิกตั้งแต่พี่เด้งให้ FTC ไปเปิดบูธในงานแคมป์ ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ใน FTC มา 4-5 ปีแล้ว 

 

“สหกรณ์” ในมุมมองของผมเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็ก พอคิดถึงสหกรณ์โรงเรียนจะรู้สึกว่า old school และดูโบราณมากๆ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่มาบรรยายและพูดถึงหลักการของสหกรณ์ว่า จริงๆ แล้วนี่เป็น Economy Eco-system ที่น่าสนใจมากคือทุกอย่างมาจากมติการโหวต ทุกอย่างมาจากการลงมติ 100% เรามีสิทธิออกความเห็นว่าเราเห็นด้วยหรือไม่  แต่หากลงทุนที่อื่นอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงิน เราจะถูก monopoly ไม่มีส่วนในการตัดสินใจหรือแสดงความเห็น ที่สำคัญอัตราผลตอบแทน ROI ของสหกรณ์อยู่ในระดับที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่เราฟังแล้วคิดว่าน่าสนใจเลยเป็นสมาชิก FTC เรื่อยมา

 

ช่วงที่ 3 มุมมองการออมเงินจากนักการเงินรุ่นใหม่ โดย คุณโอม กนต์ธร

การออมเป็นพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญมากๆ แต่ที่โรงเรียนไม่ได้สอนเรื่องหลักการออม  ผมมองว่าการออมเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในการฝึกวินัย ที่เราสามารถทำซ้ำๆ ได้ทุกเดือน อันดับสองผมเชื่อว่าทุกคนคงได้อ่านในหนังสือเงินสี่ด้าน ในหนังสือนิยามคำว่า “Wealth” หมายถึง ถ้าวันนี้คุณไม่มีงาน หยุดงานไป หรือไม่สามารถทำงานได้ เราสามารถอยู่ได้นานกี่เดือนในเงินเก็บที่เรามี ซึ่งไม่เหมือนกับการหาเงินได้มากเพราะการหาเงินได้มากไม่ได้บอกว่าคุณ Wealth ดังนั้นการออมเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะเป็นการบอกว่าเรามี  Wealth ที่เราสามารถอยู่ได้กี่เดือนหากเผชิญวิกฤต และยุคนี้การออมมีหลายวิธีมาก เราสามารถเลือกได้

 

ตอนนี้อยู่ในยุคที่เราเผชิญโควิดมา 2 ปีกว่า เศรษฐกิจก็ไม่ดี กำลังซื้อลูกค้าลดลง ผมมองว่าการออมยังจำเป็น ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราออมได้มากขนาดไหน แต่ผมมองว่ามันเป็นการฝึกวินัย วินัยเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง ในธุรกิจแอมเวย์ นอกจากความเป็นผู้นำ เรายังต้องมีการบริหารจัดการการเงินให้เราอยู่ได้แบบปลอดภัย ผมจึงมองว่าการออมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราไม่รู้ว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร และหากเราดูกราฟการเงินจะพบว่า วิกฤตจะเกิดขึ้นทุก 10 ปี ในวันนั้นจะมีของถูกเกิดขึ้น ที่หากเรามีเงินออมไว้เราสามารถเป็นเจ้าของสิ่งนั้นและนำมาต่อยอดทำกำไรสร้างคุณค่าเพิ่มได้ในอนาคต อย่างเราเจอวิกฤตโควิดในปี 2019 ย้อนกลับไปคือ Hamburger Crisis และย้อนกลับไป คือวิกฤตต้มยำกุ้ง ย้อนกลับไปคือเราเจอวิกฤต Business Crisis ทุก 10  ปีพอดี

 

เวลาเรามีรายได้ ไม่ใช่ออมแบบไม่มีทิศทาง ต้องมีการออมไว้ลงทุน ออมไว้ยามฉุกเฉิน ออมไว้เพื่ออนาคต เราต้องวางแผนเริ่มต้นการออมเพื่อฉุกเฉิน 6-12 เดือน  ในแบงค์ที่ผมอยู่คือ Investment Banking เป็น Private Wealth  ซึ่งคำว่าเงินออมฉุกเฉินเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องอิงสภาพคล่องที่เมื่อเกิดวิกฤต เราต้องสามารถดึงเงินตรงนั้นออกมาใช้ได้ หลายคนอาจมีเงินออมแต่กระจายหลากหลาย  ซึ่งบางที่สภาพคล่องต่ำ ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดและนำมาใช้ได้ทัน ผมดูแลลูกค้าธุรกิจเห็นเลยว่าทุกธุรกิจต้องมี Cash Flow คือเงินที่เป็นกระสุนสำรองแบบนี้ไว้ตลอด ถ้าขาดสภาพคล่องก็ต้องเบิกเงินในธนาคารมาเป็นกระสุนสำรอง ถ้าเปรียบเป็นรถยนต์ต้องมีน้ำมันก๊อกสองสำรองไว้เสมอ


ชีพจรการเงินอันดับแรกคือ เราต้องมีเงินฉุกเฉินสำรองไว้อย่างน้อย 6-12 เดือน โดยคำนวณจากรายจ่ายประจำของเราว่าเรามีค่าน้ำค่าไฟ ค่ากินข้าว ผ่อนรถ ต่างๆ เท่าไหร่ สมมติเดือนละ 10,000 บาท ที่เป็นเงินสด เราต้องมีเงินออมสำรองแยกไว้เลย 60,000-120,000 บาทโดยไม่ถอนมาใช้จ่าย เป็นเงินที่เราต้องมี ซึ่งหลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

 

คุณสุวิทย์ เสริมว่า การศึกษาเรียนรู้เรื่องการออมและการลงทุนปกติสอนกันเป็นคอร์ส แต่เรามาคุยหารือกันเพียงสั้นๆ อยากให้ทุกท่านคิดไว้เลยว่า วิกฤตมาโดยไม่เคยบอกกล่าว โดยเฉพาะวิกฤตสุขภาพ แม้ตอนนี้เราจะแข็งแรงอยู่แต่เมื่อวิกฤตมาเมื่อไร หากเราต้องเข้ารพ. ไม่ว่ารพ.รัฐหรือเอกชน เงินหมื่นเงินแสนจะหมดไปเร็วมาก  เราไม่สามารถต่อรองราคาในการใช้บริการได้ หมอเรียกราคาเท่าไรเราต้องยอมจ่าย ดังนั้นอยากเน้นย้ำว่าเราต้องให้ความสำคัญในเรื่องการออมก่อนที่จะคิดไปลงทุนอะไรก็ตาม

 

ช่วงที่ 4 การออมเพื่อการลงทุน โดย คุณโอม กนต์ธร

    ผมอยู่สายการเงิน ผมเลยต้องลองศึกษาทุกอย่างด้วยตนเอง ทั้งการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี่และหุ้น เพราะผมต้องคุยกับทางลูกค้าเอง ทั้ง CFO Finance หรือเจ้าของธุรกิจ และบอร์ดธนาคาร เราต้องรู้กว้างทุกเรื่อง หากวันนี้คุณมึเงินสำรองฉุกเฉินแล้ว 6-12 เดือน และมีเงินเหลือมากพอ คุณอยากลองลงทุนได้ไม่มีปัญหา แต่ต้องยอมรับว่ามันมีความผันผวนมาก ผมต้องถามก่อนว่า คุณมึความแข็งแรงทางใจมากพอจนถึงกับว่าทนเห็นเงิน 50,000-100,000 บาทหายไปต่อหน้าต่อตาแล้วทำใจได้รึเปล่า เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง มีความผันผวนมาก เช่น ในคริปโตเคอร์เรนซี่ที่บูมมากในไตรมาส 2 และช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาคริปโตลงหนักมาก ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ทำเงิน 60,000 หายไปต่อหน้าต่อตาจากคริปโตเคอร์เรนซี่ 

 

 

    คุณสุวิทย์ กล่าวเสริมว่า ที่สำคัญการออมเพื่อลงทุน เราต้องวางแผน ต้องสะสมให้มากพอ และในระหว่างออมก็ต้องศึกษาไปด้วย ว่าควรลงทุนอย่างไร เหมาะสมกับเรามั้ย และเรารับความเสี่ยงได้เท่าไหร่ ถ้าท่านไม่มีความรู้เลย สามารถมาลงทุนใน FTC ฝากในรูปทุนเรือนหุ้น ฝากในรูปออมทรัพย์ไว้ปลอดภัยแน่นอน FTC เราประกันเงินฝากให้ท่านแน่นอน 

เทคนิคการออมตามทฤษฎี หากเรามีเงินรายได้ 100 บาทเราจะแบ่ง 50% เอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 30% ใช้เพื่อความสุขส่วนตัว และเงินอีก 20% นำมาออมเผื่อเงินฉุกเฉิน แต่ทั่วไปในความจริงหากเรามีเงินออมได้ 5% สม่ำเสมอก็ได้ถือว่าสุดยอดแล้ว

 

เช่น หากเรามีเงินเดือน 15,000 บาท ถ้าออมได้เดือนละ 3,000 บาทคือต้องยกย่องแล้ว หากเรากินใช้แค่ 7,500 บาทถือว่ายากมากๆ เพราะค่าครองชีพประเทศไทยสูง แต่หากทำได้แบบนี้คือสุดยอดมากๆ  

 

คุณโอม กนต์ธร กล่าวว่า ส่วนตัวผมออมได้เกือบ 20%  โดยกระจายการออมในเรื่องที่สำคัญ อันดับแรกคือการออมกับ FTC ในทุนเรือนหุ้นทุกเดือน

สองคือออมในหุ้นที่เรามีพื้นฐานและมีปันผล สามคือออมในประกันสุขภาพ และประกันสะสมทรัพย์ ผมมองว่าประกันสุขภาพในยุคนี้ยังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเราเจ็บป่วย ค่าใช้จ่ายเยอะ และส่วนที่เหลือจึงออมเป็นเงินสด 

 

คุณสุวิทย์ เพิ่มเติมข้อมูลเรื่อง 7 ประเภทการออมอย่างชาญฉลาดที่ไม่ต้องเสียภาษี ประเภทแรกคือเงินฝากเผื่อเรียกหรือสลากออมสินหรือธกส. ประเภทที่สอง เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยรวมไม่เกิน 20,000 บาท ประเภทที่สาม เงินฝากประจำหนึ่งปีขึ้นไปสำหรับผู้มีอายุ 55 ปี ประเภทที่สี่ เงินฝากปลอดภาษี ที่สำคัญเราเน้นเรื่องนี้คือประเภทที่ห้า เงินฝากกับสหกรณ์ออมทรัพย์  ไม่ต้องเสียภาษี ประเภทที่หก ลงทุนในกองทุนรวมที่ไม่มีปันผล ประเภทที่เจ็ด ลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 

 

คุณโอม กนต์ธร กล่าวเสริมว่า สมมติว่าเราได้ปันผลจากหุ้น 100 บาท เราจะได้เงินจริงแค่ 90 บาทเพราะถูกหักทันที 10% แต่ในสหกรณ์เราได้ปันผลเฉลี่ย 3-4% เต็มเม็ดเต็มหน่วยแน่ๆ ทุกปี ในเงินลงทุนใกล้เคียงกันหากเราซื้อหุ้น VRI ระยะยาวตัวหนึ่ง ได้ปันผลปีละ 5% ถือว่าเก่งมากแล้ว ถ้าปันผล 7% ถือว่าหุ้นเทพมากๆ ที่สำคัญสหกรณ์เงินต้นไม่มีลด แต่หุ้นเวลาปันผลราคาลงเพราะหุ้นมีความผันผวน เงินต้นเราอาจไม่อยู่เท่าเดิม ในขณะที่เงินสหกรณ์เราได้ปันผลและเงินต้นเราอยู่ครบแน่ๆ เรียกว่า “เงินต้นไม่หายกำไรสม่ำเสมอ” ที่สำคัญเงินที่ลงทุนหุ้นสหกรณ์ถอนออกมายาก แสดงว่าเราจะออมยาวไปถึงเกษียณได้ กลายเป็นความมั่งคั่งของเราระยะยาว หากมีเหตุฉุกเฉิน เราสามารถใช้ทุนเรือนหุ้นกู้เงินตัวเองได้ผ่านแอพพลิเคชั่น หักลบกลบหนี้แล้ว เราเสียดอกเบี้ยน้อยมาก แสดงว่ากู้กับสหกรณ์เงินต้นยังอยู่ปันผลยังได้ เปรียบเทียบกับการออมในหุ้นหรือคริปโตเคอร์เรนซี่ หากมีเหตุฉุกเฉินเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าวันนี้จะขายได้เท่าไร และเมื่อขายหุ้นไป หรือถอนเงินฝากมาใช้ เราต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ 

 

 

คุณสุวิทย์ กล่าววว่า เมื่อเรามีเงินแล้วอยากลงทุนแล้ว แต่ที่ต้องระวังอีกอย่างคือเรื่องการก่อหนี้ ซึ่งตามทฤษฎีหากเรามีรายได้ 100 บาทและต้องจ่ายหนี้ 40 บาท หรือราว 30% ของรายได้ ถือว่าอยู่ในภาวะตึงสุดๆ แล้ว หนี้มีสองแบบ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ และหนี้ค่าใช้จ่าย

คุณโอม กนต์ธร เสริมว่า เวลาคำนวณในงบการเงิน หนี้ต่อส่วนทุนไม่ควรเกินหนึ่งในสาม ถ้าเกินถือว่าบริษัทนั้นตึงแล้ว  

 

คุณสุวิทย์ กล่าวว่า ในด้านการเงินส่วนบุคคลสิ่งที่เราควรทำสองอย่าง นอกจากงานประจำที่ทำแล้ว เราต้องหาวิธีสร้างคุณค่าของเราเพิ่มขึ้นมีรายได้ที่สอง ถ้าทำธุรกิจแอมเวย์ก็เรียนรู้ที่จะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จมั่นคง ใครจะทำออนไลน์ก็ต้องเรียนรู้ก่อน ดังนั้นการลงทุนในความรู้สำคัญเพราะ High Education จึงจะ High Return 

 

 

ช่วงที่ 5 การออมและการลงทุนควรสมดุลอย่างไร โดย คุณโอม กนต์ธร

การออมเราพอรู้แล้วว่ามีการออมแบบไหนบ้าง ส่วนของการลงทุนมีหลายอย่าง ผมได้ลองทุกอย่าง เพราะถ้าไม่ลองทุกอย่างด้วยตัวเองจะไม่เข้าใจ ในอดีตเราอยากรวยเร็ว และอยากรู้ ผมเคยยืมเงินคุณแม่มา 100,000 บาท ลงทุนในหุ้นครั้งแรกไม่มีความรู้และยังเด็ก จากแสนนึงเหลือห้าหมื่น  พอภายหลังเราต้องมาศึกษาเรียนรู้ใหม่ เราก็ปรับพอร์ตใหม่ โดยใช้เงินของเราเอง และคืนเงินคุณแม่ไป 

 

หุ้นราคาขึ้นลงผันผวน ความรู้สึกของการลงทุนในหุ้นมันเครียด เพราะเราต้องอยู่หน้าจอตลอดเวลา ถ้าวันนี้เราเทรดหุ้นได้กำไร 10% ทุกปี เราจะเก่งเท่า วอร์เรน บัฟเฟต ถ้าเคยอ่านหนังสือวอร์เรนบอกว่า เขาได้กำไรจากหุ้นเพียงปีละ 10% เท่านั้น ซึ่งยากมากที่เราจะมีกำไรจากหุ้น 10% ทุกปี  ตอนนี้มีสตรีมมิ่งผ่านมือถือให้เราดูได้ทั้งวัน ส่วนคริปโตเคอร์เรนซี่ เหมือนหุ้นเลย แต่คริปโตไม่มี floor ไม่มี ceiling สามารถขึ้น 300% แล้วติดลบ 400-500%ได้ในวันเดียว เครียดหนักกว่าเดิมไม่มีปิดเสาร์อาทิตย์ ในหุ้นยังมีงบการเงินให้ดู คริปโตเคอร์เรนซี่ไม่มี แค่อีลอน มัสก์  ทวิสต์นิดเดียวหรือรัฐบาลจีนจับกุมเหมือง ติดลบเป็นร้อยเปอร์เซนต์ ถ้าเรามีความรู้ไม่พอและรับความเสี่ยงได้ไม่เยอะ เราจะไม่เหมาะกับการลงทุนรูปแบบนี้ ผมมีอาการหัวร้อนๆ เหงื่อแตก ช่วงที่คริปโตลงเยอะๆ จาก 50,000 เหรียญลงไปที่ 29,000 เรียกว่าหัวใจต้องแข็งแกร่ง (หัวเราะ) แต่สำหรับผมมองว่า การลงทุนให้ผลตอบแทนที่ดี จำเป็นที่เราต้องมีการลงทุนด้วย เพราะการออมอย่างเดียวได้ผลกลับคืนมาน้อย ดังนั้นเราต้องศึกษาเรียนรู้

 

     คุณสุวิทย์ เสริมว่า คนโบราณบอกว่าขยันหา (ทำงานหาเงิน) รักษาดี (ออมให้ถูก) และมีโอกาสในการลงทุน เราต้องทำสามส่วนนี้ให้สมดุล แต่การลงทุนมีความเสี่ยง 

อยากให้ทุกท่านเข้ามาเรียนรู้และใช้ FTC เป็นโรงเรียนฝึกสร้างสมดุลการออมและการลงทุน

นอกจากนี้ผมอยากให้ทุกท่านเห็นภาพว่าการออมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากพอ ต้องใช้ระยะเวลาด้วย หากเราเริ่มออมอายุยังน้อยตอนอายุ 20 ที่เงินหนึ่งพันบาทเท่ากันจนถึงเกษียณที่ 60 ปีเราจะมีเงิน 931,960 แต่เริ่มออมต่างกันที่ 40 ปี จะได้ผลต่างกัน ดังนั้นการออมต้องมีความสม่ำเสมอบวกระยะเวลาด้วย

 

คุณโอม กนต์ธร กล่าวว่า ผมบริหารการออมกับสหกรณ์ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอผ่านระบบแอพของกสิกร พอโบนัสแอมเวย์ออก เงินเดือนออกผมก็กดโอนผ่านแอพพลิเคชั่นธนาคาร กดโอนตอนเช้า บ่ายเงินก็เข้าทุนเรือนหุ้นเลย สะดวกมากๆ 

 

คุณโอม กนต์ธร มองการออมและลงทุนในประเภทความเสี่ยงต่างๆ อย่างไร มาดูกัน

เงินฝาก เรารู้อยู่แล้วว่าเงินฝากความเสี่ยงต่ำ แต่แบงค์ชาติเพิ่งประกาศ เรื่องการประกันเงินออมของธนาคารพาณิชย์สูงสุดแค่หนึ่งล้านบาท แต่ในธนาคารของรัฐยังคุ้มครอง100% แต่ดอกเบี้ยน้อยมากไม่ถึง 1%   

พันธบัตรรัฐบาล ซื้อได้ยากและดอกเบี้ยต่ำ เงินต้นได้คืนแน่ ความเสี่ยงน้อย แต่ดอกเบี้ยต่ำราว 1% กว่าๆ 

หุ้นกู้ มีทั้งหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งและหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง ให้เราไปดูว่าเรทติ้งเขาเท่าไร ยิ่งเรทติ้งดี ความเสี่ยงน้อยผลตอบแทนยิ่งต่ำ ส่วนหุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้ง ผลตอบแทนสูงหน่อยที่ราว 4-7% ไม่มีหลักประกัน ความเสี่ยงสูง และต้องนำเงินไปไว้ในหุ้นสองปีขึ้นไปถอนออกมาไม่ได้ แต่หุ้นกู้จะมี Fact Sheet แนบท้ายว่า หากบริษัทเจ๊งจ่ายคืนหนี้ไม่ได้ เขาไม่ต้องคืนเงินต้นคุณก็ได้ ดังนั้นต้องดูข้อมูลเงื่อนไขแนบท้ายให้ดี

กองทุนรวมระยะยาว อย่าง LTF อดีตเรานิยมซื้อเพราะเข้าใจว่าลดหย่อนภาษีได้ สมัยนี้มี SSF RMF เวลาเราเข้าไปคุยกับธนาคาร เขาจะบอกว่ากองทุนนี้ลงทุนกับที่ไหน ยังคงมีความผันผวน ผมเคยซื้อกองทุนไว้ 5 ปี ทุกวันนี้ยังติดลบอยู่เลย (หัวเราะ)

หุ้น มีความเสี่ยงอยู่แล้วตามที่เล่าไปเบื้องต้น

ทองคำ มีความเสี่ยงความผันผวนตลอดเวลา ที่จริงทองกับหุ้นผมว่าไม่ต่าง ปัจจุบันอยู่ในรูปของโกลด์ฟิวเจอร์ คือการซื้อขายอัตราทองคำล่วงหน้า มีความเสี่ยงที่สูงมากเหมือนการเล่นหวย เราแทงว่าราคาขึ้นถ้าขึ้นจริงเราจะได้ตังค์ ถ้าแทงว่าราคาลงแล้วราคาลงจริงเราถึงได้ตังค์ มีกลไกให้เราเล่นได้เยอะ มีความเสี่ยงสูง

หวย คนเล่นหุ้นเล่นหวยแม้ว่าจะยังไม่ถูกแต่คนยังลงไม่เลิกทุกงวด ผมมองว่าในหุ้นหรือหวย เราลงเงินไปแล้วเรามีความอยากได้คืน (หัวเราะ)

 

คุณสุวิทย์ กล่าวสรุปว่า วอร์เรน บัฟเฟต เคยกล่าวว่า การเก็บเงินคือการให้เงินได้พักผ่อน การลงทุนคือการทำให้เงินของคุณออกไปทำงาน อยู่ที่ว่าเราจะให้เงินไปทำงานที่ไหน ถ้าทำงานในตลาดหุ้นก็มีความเสี่ยง เงินอาจจะเสียไปได้ ลองให้เงินมาทำงานใน FTC ปลอดภัย มีคนดูแลให้ และมีผลตอบแทนที่ดี 

    

ช่วงที่  6  ประโยชน์จากการออม โดยคุณโอม กนต์ธร

    การสร้างวินัยการออมเป็นสิ่งสำคัญ การเห็นเงินในบัญชีเพิ่มขึ้นเราจะมีความสุข รู้สึกปลอดภัยในชีวิต เมื่อเราลงแรงออมและเรียนรู้ เราจะไม่กล้าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย 

 

ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้ และต้องให้ความรู้ทางการเงินกับเด็ก ซึ่งต่างประเทศมีการให้ความรู้เรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก แต่ที่ไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีการสอน ซึ่งเราไม่ต้องรู้ลึกมาก แต่ต้องศึกษาให้มีความรู้เพียงพอว่าเวลาจะลงทุนควรจะซื้ออะไร

 

    คุณสุวิทย์ กล่าวว่า เราเพียงถูกปลูกฝังการออมสอนให้หยอดกระปุก เหมือนสอนเราครึ่งเดียว เรามีแค่มายเซ็ทว่าต้องออมเฉยๆ แต่เรื่องของการลงทุนไม่มีความรู้ในสมองเด็กไทยเลย  ระบบการศึกษาเรามีความจำเป็นที่ต้องปลูกฝังมายเซ็ทของเด็กทั้งเรื่องการออมและการลงทุน เมื่อเข้ามาใน FTC แรกๆ ผมรู้เพียงการออม แต่พอเข้ามาเราพบว่ามีอีกมิติที่ต้องรู้คือเรื่องการลงทุน

 

หุ้นอีกประเภท คือ DCA (Dollar Cost Everage) คือการทยอยลงทุนเแบบเฉลี่ยต้นทุน เป็นการซื้อหุ้นประเภทหนึ่ง ที่เราไม่ต้องจิ้มเป็นตัวๆ เราสามารถเข้าไปในแอพพลิเคชั่นสตีมมิ่ง และเขาจะกระจายการออมให้เรา เราฝึกการออมไปเรื่อยๆ ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ คอนเซปท์การลง DCA ไม่ต่างจากการลงใน FTC แต่ DCA ผลตอบแทนอาจจะน้อยกว่า FTC นิดนึงเพราะการลงค่อนข้างกระจาย ปันผลของหุ้นแต่ละตัวไม่เหมือนกัน เวลาที่เราซื้อหุ้นนั้นราคาก็ต่างกัน  และขึ้นกับเศรษฐกิจในปีนั้นด้วย 

 

คุณสุวิทย์ กล่าวว่า ผมทยอยลงใน DCA มา 2-3 ปีพบว่าผลตอบแทนน้อยกว่า FTC  แต่อยากให้พวกเราทยอยฝากลงทุนไปเรื่อยๆ แบบตัดเงินออกไปเป็นเงินออมหรือหุ้นของเรา ผมลองสมัครในแอพพลิเคชั่น KEPT by Krungsri ฝากเงินวันละ 100 บาท เชื่อมั้ยครับว่า ผ่านไปแปบเดียวมีเงิน 20,000 บาทแล้ว ผมตกใจว่าถ้าเราไม่ตัดเงินส่วนนี้ไปฝาก เงินส่วนนี้จะหายไปไหน ดังนั้นอยากเชิญชวนทุกคนมาตัดเงินเข้าฝากใน FTC เมื่อทุนเรือนหุ้นเราเยอะ เราจะรู้สึกมั่งคั่ง จะรู้สึกมีความหวังในชีวิต

 

 

อีกแบบหนึ่งคือกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) คล้ายกับประกันสังคม ​เราจ่ายส่วนหนึ่งแล้วรัฐบาลสมทบอีกส่วนหนึ่ง สมัครได้ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี แต่ต้องไม่อยู่ในรัฐสวัสดิการอื่นๆ การที่รัฐบาลออก กอช. มาเพื่ออุดช่องว่าสำหรับผู้ที่ไม่มีสวัสดิการใดๆ เวลาเจ็บป่วย ในยามเกษียณอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปก็มีบำเหน็จบำนาญ นี่เป็นแนวคิดที่ดี เพียงฝากขั้นต่ำที่ 50 บาทต่อเดือน ปีละไม่เกิน 13,200 บาทหากสนใจสามารถเข้าดูข้อมูลในเว็บไซท์ได้

 


ช่วงท้าย สรุปแนวคิด

คุณโอม กนต์ธร กล่าวสรุปว่า การออมเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องหลักคือต้องมีเงินออม ​และถ้าทำได้เราควรทำประกันสุขภาพไว้ด้วย เพราะเราทำธุรกิจแอมเวย์ไม่ได้มีประกันกลุ่มเหมือนกับการทำงานประจำ เวลาเจ็บป่วยต้องใช้เงินเยอะ เงินเก็บที่มีอาจจะร่อยหรอลงเร็วมาก

การที่ FTC จัดการเรียนรู้แบบนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะหากเป็นสถาบันการเงินอื่น เราต้องมีเงินฝากหรือเงินลงทุนจำนวนมาก จึงมีโอกาสได้มาเรียนรู้เรื่องการลงทุนแบบนี้ แต่ที่ FTC มีจัดให้ความรู้ตลอดคือสุดยอด ผมว่าทำให้เรามีความรู้ทางการเงินเพิ่มขึ้น 

 

คุณสุวิทย์ กล่าวสรุปว่า  นี่เป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้ทุกท่านมีมายเซ็ทต่อสหกรณ์เปลี่ยนไป เดิมคนที่สมัครสหกรณ์มักจะอยากสมัครเพื่อกู้ แต่ผมแนะนำให้สมัครเพื่อมาออมก่อน หากนิสัยการออมเราแข็งแรง นิสัยการกู้จะอ่อนแอไปเอง และอยากฝากสมาชิกทุกท่านช่วยกันกระจายข่าวสารการเสวนาที่ดีแบบนี้ให้สมาชิกและเพื่อนๆ ของท่านที่ยังไม่ทราบไม่เคยเข้าฟังด้วย
 

ของฝากจาก FTC เปิดตัวแอพพลิเคชั่น CoOp Network ทำธุรกรรมง่าย...เพียงปลายนิ้ว โดย คุณหน่อง เขมรัตน์

    แอพพลิเคชั่นใหม่ชื่อ CoOp Network สามารถถอนเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป กดรับเงินกู้ประเภทที่ใช้เงินฝากค้ำประกันเข้า โดยท่านอยู่ที่ไหนก็ได้ สะดวกง่าย ปลอดภัยแค่ปลายนิ้ว สมาชิกที่ยังไม่ได้ติดตั้งแอพหรือติดตั้งแล้วใช้งานไม่ได้รบกวนติดต่อที่สำนักงาน หรือแอดไลน์สอบถาม ไอดีไลน์ @freetrade 

FTC ขยายเวลาโครงการเพื่อนชวนเพื่อนสมัครสมาชิก FTC สามคน เมื่อมีเพื่อนที่ฝากทุนเรือนหุ้นสม่ำเสมอครบ 6 เดือน ขั้นต่ำคนละ 500 บาท จำนวน 3 คน ผู้ชวนจะได้ทุนเรือนหุ้นพิเศษเพิ่ม 600 บาท  สนใจสอบถามทางไลน์ @freetrade     

สุดท้าย อยากเชิญชวนท่านสมาชิกเข้ามาอบรมสมาชิกเพื่อทราบสิทธิประโยชน์ และมีการอัพเดทข้อมูลเพื่อประโยชน์ของท่านสมาชิก 

คำถามจาก Facebook และ  Zoom

 

Q : สมัครสมาชิก FTC โดยส่งเอกสารทางไปรษณีย์ได้หรือไม่?

คุณสุวิทย์ :  ได้ครับ และทางเจ้าหน้าที่จะส่งข้อมูลว่าขาดอะไร ต้องทำอย่างไรต่อ 

 

Q : หากเดิมตั้งหักบัญชีเข้าทุนเรือนหุ้นล่วงหน้าไว้น้อย อยากเพิ่มทุนเรือนหุ้นต้องทำอย่างไร?

คุณหน่อง เขมรัตน์ : การขอเพิ่มทุนเรือนหุ้น รบกวนสมาชิกที่ต้องการเพิ่มหุ้นแอดไลน์สอบถามแอดมินไอดีไลน์ @freetrade เรามีวิธีการให้ทำโดยไม่ต้องเดินทางมาติดต่อที่สหกรณ์ ส่วนในอนาคตหากประสงค์จะเปลี่ยนแปลงต้องออมให้ต่อเนื่อง 6 งวดขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิขอเปลี่ยนแปลงได้อีกครั้ง

 

Q : การฝากทุนเรือนหุ้นกับ FTC มีปันผลให้ แต่กังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อว่าจะสูงกว่าปันผลไหม?

คุณสุวิทย์ : ใช่ครับ แต่หากฝากธนาคาร เงินฝากตอนนี้ล่าสุดดอกเบี้ยฝากประจำสูงสุดเพียง 1.6% ต่อปี และต้องฝากเงินล้านนึงครับ ซึ่งฝากที่ FTC ยังไงก็ดีกว่าที่อื่น 

 

Q :  รายได้ของ FTC นอกจากเงินกู้จากสมาชิก ยังมีรายได้จากทางอื่นหรือไม่? 

คุณสุวิทย์ : รายได้กำไร FTC ราว 30 ล้านต่อปีมาจากดอกเบี้ยเงินกู้ของสมาชิก เรานำเงินที่เหลือไปฝากกับชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อได้ดอกเบี้ยมา ซึ่งทางรัฐบาลไม่อนุญาตให้สหกรณ์ไปลงทุนอื่นๆ ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการคุมเข้มมาก

สหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งระบบ มีเงินอยู่ 3-4 ล้านล้านบาท อาจจะพอๆ กับระบบธนาคารเลย แต่เป็นเงินของสมาชิกที่บริหารจัดการเอง หากท่านเป็นสมาชิกเครดิตยูเนี่ยนอื่นจะยังเป็นสมาชิกที่นี่ไม่ได้ เพราะให้เป็นสมาชิกได้ที่เดียว


ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้

    วันนี้เราได้มุมมองใหม่และประสบการณ์ด้านการออมและการลงทุนจากผู้รู้ทุกท่าน ทำให้เข้าใจว่าการแสวงหาความรู้และอัพเดทข้อมูลทั้งการออมและการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคนี้ ก่อนจากกัน แอดขอฝาก “คาถาสร้างสมดุลการออมและการลงทุน” ให้สมาชิกทุกท่านจำได้ง่าย ปรับใช้ได้จริง

    ขยันหา ทั้งหารายได้ประจำ รายได้เสริม และการหาความรู้ใหม่ๆ อัพเดทตัวเองอยู่เสมอ

รักษาดี รักษาเงินโดยวางแผนการออมอย่างเป็นระบบ ทั้งเงินออมสำรองฉุกเฉิน ออมเพื่อลงทุน ออมเพื่ออนาคต ยิ่งเริ่มออมเร็วและรักษาวินัยการออมได้สม่ำเสมอมากเท่าไร ก็เดินทางสู่ความมั่งคั่งได้เร็วมากเท่านั้น

    มีสติลงทุน ต่อยอดความมั่งคั่งด้วยการลงทุนอย่างมีความรู้ มีสติ ประมาณตน และกระจายความเสี่ยงในการลงทุนให้เหมาะกับตนเอง 

    

ถ้าเพื่อนๆ รู้สึกว่ายังมีความรู้ไม่มากพอ ไม่รู้จะเริ่มออมและลงทุนที่ไหน อย่าลืมเข้ามาติดตามอัพเดทข้อมูลดีๆ จากผู้รู้ทางการเงินกับ FTC ที่อาจเปลี่ยนแปลงอนาคตการออม การเงิน และการลงทุนของเพื่อนๆ ให้พุ่งทะยานสู่ความมั่งคั่งในครั้งถัดไปทาง  FTC Channel เรามีนัดกันทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น.  แล้วเจอกันนะ!