สรุปประเด็น FTC Channel : TAX ความรู้พื้นฐานเรื่องภาษี
เช้าวันเสาร์แบบนี้ FTC Channel ชวนเพื่อนๆ มาพูดคุยแบบสบายๆ ในหัวข้อ “ความรู้พื้นฐานเรื่องภาษี” จากผู้รู้มากประสบการณ์อย่าง นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ FTC ดร.สุเมธา โพธิ์ประสาท ที่ปรึกษา FTC คุณรณฤทธิ์ นาที คณะกรรมการ FTC และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี ดำเนินรายการโดย คุณสุวิทย์ พูลสุขเลิศ ประธานคณะกรรมการศึกษา FTC และคุณนงค์รัก เกิดศักดิ์ ณ แวงน้อย เจ้าหน้าที่FTC สำนักบริการขอนแก่น ร่วมแบ่งปันความรู้เรื่องภาษีพื้นฐานที่ไม่รู้ไม่ได้แล้ว
ช่วงแรก เรื่องภาษีต้องรู้ จากมุมมอง 3 วิทยากร
คุณหมอวัชรา กล่าวว่า หากเราต้องการวางแผนสู่การเป็นผู้มั่งคั่งมีรายได้สูงในอนาคต การวางแผนภาษีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก มีคำกล่าวว่า รอยเกวียนจะติดตามรอยเท้าโคฉันท์ใด ภาษีย่อมติดตามผู้มีรายได้ฉันท์นั้น ผมเชื่อว่าหัวข้อวันนี้เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ และน่าจะมีคำถามเยอะจากผู้ที่สนใจ จนทำให้เราต้องจัดพูดคุยในหัวข้อนี้อีกครั้ง
ดร.สุเมธา กล่าวว่า ผู้ที่มีรายได้ในประเทศไทยจำเป็นต้องเสียภาษี มีบทความตอนหนึ่งของ เบนจามิน แฟลงค์กลิน กล่าวว่า “เรื่องที่แน่นอนที่สุดคือความตายและภาษี” ตั้งแต่เกิดจนตายเรามีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษี แม้แต่เสียชีวิตไปแล้ว ยังมีภาษีมรดกที่ต้องเสียให้ประเทศ อยากให้เข้ามาเรียนรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เรื่องภาษี เพื่อไม่พลาดเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายและรายได้ของเรา
คุณป้อม รณฤทธิ์ วันนี้เราจะมาพูดคุยต่อจากครั้งที่แล้ว และลงลึกในรายละเอียดกัน ในยุคโควิดรัฐบาลมีการผ่อนผันภาษีครึ่งปีสำหรับบุคคลธรรมดา ให้ตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนธันวาคม วันนี้เราจะมาเรียนรู้กันว่าจะเสียภาษีอย่างไรให้ประหยัด เสียภาษีอย่างไรให้ถูกวิธี
ช่วงที่ 2 ความเข้าใจภาษีขั้นพื้นฐาน โดย คุณสุวิทย์
คนทั่วไปมักรู้สึกว่าเรายังไม่มีรายได้เยอะ ทำไมต้องเสียภาษี เราจึงต้องปรับมายเซ็ทเรื่องภาษีกันใหม่ว่า ถ้าทุกคนไม่เสียภาษี รัฐบาลจะนำรายได้จากที่ไหนมาบริหารประเทศ งานสาธารณะหลายอย่างที่รัฐจำเป็นต้องใช้เงินกองกลางของประเทศ เช่น ตอนนี้มีการระดมฉีดวัคซีนและการตรวจ ATK สำหรับประชาชน หากไม่มีเงินภาษี ก็จะเกิดปัญหาติดขัดวุ่นวาย
“ภาษี” คือเงินที่รัฐเก็บกับประชาชนที่เป็นบุคคลธรรมดา และผู้ประกอบที่เป็นนิติบุคคล ห้างร้านบริษัท เพื่อนำรายได้นั้นมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
จากข้อมูลเว็บไซท์ของกรมสรรพากร ภาษีแบ่งเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ 1)ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2)ภาษีเงินได้นิติบุคคล ของบริษัทห้างร้านต่างๆ 3)ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT เก็บจากผู้ใช้คนสุดท้าย 4)ภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่น การขายบ้าน ที่ดิน 5)อากรแสตมป์ วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องภาษีประเภทแรก คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ช่วงที่ 3 ใครบ้างต้องเสียภาษี? โดย ดร. สุเมธา
ผู้มีรายได้ทุกคนต้องเสียภาษี จะอายุเท่าไรก็ต้องเสียภาษี แม้แต่เด็กที่ได้รับมรดกจากกองมรดกก็ต้องเสียภาษี เริ่มจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามภาษากฎหมายเรียกว่า เริ่มต้นตั้งแต่คลอดอยู่รอดมาเป็นทารก แม้แต่ชาวต่างชาติที่มีรายได้ในประเทศไทย ก็ต้องยื่นเสียภาษีในประเทศไทย ทำไมต้องเสียภาษี ก็เพราะเราใช้ประโยชน์ของประเทศ ใช้ถนน ใช้ไฟฟ้าประปา ใช้บริการตำรวจ โรงพยาบาล โรงเรียน ใช้สถานที่ที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานส่วนรวมของประเทศ เราจึงต้องเสียภาษีให้รัฐบาลไปลงทุนบริหารจัดการ ดังนั้นบุคคลธรรมดาเมื่อมีรายได้ ต้องไปยื่นเสียภาษี
บุคคลธรรมดา แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1)บุคคลผู้มีรายได้
2)ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล เป็นคณะบุคคลตั้งแต่สองคนที่มีรายได้แต่ไม่ได้จดเป็นนิติบุคคล คณะบุคคลมีวิธีคิดภาษีสองแบบ คือหักค่าใช้จ่ายตามจริง และการคิดแบบเหมาจ่าย แต่ภายหลังสรรพากรมีความเข้าใจเรื่องธุรกิจขายตรงมากขึ้น จึงมีการบังคับนักธุรกิจขายตรงให้จดเป็นนิติบุคคล
3)ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี ผู้รับกองมรดก เช่น ผู้สืบสันดาน ลูก ภรรยา พ่อแม่เป็นผู้เสียภาษี เพราะนอกจากรายได้งานประจำ ผู้ตายอาจมีรายได้จากการให้เช่าตึกที่ยังคงมีรายได้ทุกเดือน ผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกนั้น ต้องไปเสียภาษีในปีถัดไป
4)กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ผู้เสียภาษีคือผู้ที่รับมรดก และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากกองมรดกที่มีรายได้นั้น
5)วิสาหกิจชุมชน คือชุมชนที่รวมตัวกันผลิตสินค้าที่อยู่ในชุมชน เช่น หมู่บ้านหนึ่งปลูกมันเทศและแปรรูปนำไปขาย ต้องจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเพื่อประหยัดภาษี ซึ่งเป็นการส่งเสริมOTOPของรัฐบาล ดังนั้นจึงเสียภาษีได้ถูก
ช่วงที่ 4 การยื่นภาษีบุคคลธรรมดา โดย คุณป้อม รณฤทธิ์
กรณีการยื่นภาษีบุคคลธรรมดา เราจะยื่นในรูปแบบของ ภงด.90 และ ภงด.91 สำหรับผู้มีรายได้ตั้งแต่เดือนม.ค.-ธ.ค.ของปีนั้นๆ นับรวมทุกกรณีที่เกิดรายได้ ซึ่ง “เงินได้” ไม่ได้อยู่ในรูปเงินสดเท่านั้น แต่รวมถึงทรัพย์สินและผลประโยชน์ที่เราได้รับจากผู้อื่น แม้ไม่ได้รับในรูปตัวเงิน ถ้าอยู่ในเกณฑ์ภาษี แต่เราต้องนำมารวมในการยื่นภาษีบุคคลธรรมดาด้วย
ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ ต้องเป็นผู้มีรายได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด หากรายได้แบบเงินเดือน ผู้ที่เป็นคนโสดจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 120,000 บาท คู่สมรส 220,000 บาท จำเป็นต้องยื่นแบบ โดยแบ่งเป็นสองกรณี คือยื่นแบบเปล่า กับ กรณีต้องยื่นแบบ สรรพากรกำหนดว่าหากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์จะไม่ยื่นแบบก็ได้โดยไม่เสียค่าปรับ แต่หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ ถึงแม้ไม่มีภาษีต้องเสียแต่หากไม่ยื่นแบบ ต้องมีค่าปรับอาญาฐานความผิดที่ไม่ยื่นแบบ ค่าปรับตั้งแต่ 500-2,000 บาท โทษอาญาหนึ่งปี อย่างไรก็ดีผู้มีรายได้ทุกคนต้องยื่นแบบ
อีกกรณีคือการไปรับจ้างอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือน มีรายได้ 50,000 แต่ไม่ถึง 60,000 บาท มีหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ หากเรายื่นภาษี เราจะได้เงินภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายนั้นคืน และเราไม่ต้องเสียค่าปรับอาญา
เกณฑ์การคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา เราต้องคำนวณหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน เมื่อมีรายได้สุทธิเท่าไร ค่อยนำมาคิดคำนวณ ดังนั้นการคิดคำนวณภาษีล่วงหน้าทำให้เราสามารถวางแผนภาษีได้ดี
ดร.สุเมธา กล่าวเสริมว่า หลายคนที่เป็นผู้ประกอบการค้าขนาดเล็กไม่สามารถยื่นกู้ได้ เพราะไม่มีหนังสือการรับรองรายได้ วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะรับรองรายได้ทำได้โดยการยื่นภาษี สามารถใช้ภงด.เป็นเอกสารรับรองรายได้เพื่อยื่นกู้กับธนาคารได้ เพราะเราเป็นผู้เสียภาษี นี่เป็นหลักฐานทางด้านการเงินได้ และเป็นประโยชน์ที่หลายคนไม่รู้
คุณป้อม รณฤทธิ์ กล่าวว่าคนที่ทำงานประจำ ทางบริษัทจะยื่นให้อยู่แล้ว ผมแนะนำให้เราดูแลตัวเองในตรงนี้ได้ด้วย เพราะการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของเรา
รายได้ 8 ประเภท ได้แก่ 40(1)เงินเดือนค่าจ้าง 40(2)รายได้จากค่านายหน้า เงินโบนัส ผู้ที่สมัครเป็นนักธุรกิจแอมเวย์ หากมีรายได้ส่วนลดจากการซื้อสินค้าแม้เพียง 100-200 บาท ก็ต้องรวมในการยื่นภาษีปลายปี มิฉะนั้นจะถือว่ายื่นภาษีขาด 40(3)ค่าลิขสิทธิ์ 40(4)จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 40(5)รายได้จากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ 40(6)ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ เช่น นักกฎหมายทนายความ แพทย์ นักบัญชี 40(7)รายได้จากรับเหมาก่อสร้าง 40(8)รายได้อื่นๆ นอกจาก 1-7 ถ้าเรามีรายได้ประเภท 40(1)-(4) ไม่ต้องเสียภาษีครึ่งปี หากมีรายได้ประเภท 40(5)-(8) จะต้องเสียภาษีครึ่งปี ต้องยื่นแบบภงด. 94
คุณหมอวัชรา กล่าวเสริมว่า หากเป็นแพทย์ที่รับราชการหรือทำงานในรพ.เอกชน รายได้เงินเดือนนี้เป็นประเภท 40(1) หากเปิดคลีนิครับค่าการให้คำปรึกษาเป็น doctor fee จัดเป็นประเภท 40(6) ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 60% ปัจจุบันรพ.เอกชนบางแห่งไม่จ่ายเงินเดือนหมอ แต่คิดรายได้หมอเป็น doctor fee เพื่อสามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า
ช่วงที่ 5 การเตรียมวางแผนภาษีสำหรับผู้มีรายได้สูง
คุณหมอวัชรา กล่าวว่า นักธุรกิจแอมเวย์ จะมีรายได้อีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่เงินแต่ตีมูลค่าเสมือนเป็นตัวเงิน คือรางวัลการท่องเที่ยว เช่น การไปท่องเที่ยวอลาสก้ามูลค่าสองแสนบาทต่อคน สรรพากรถือเป็นรายได้พึงประเมิน เราต้องนำรายได้ส่วนนี้มารวมกับรายได้ทั้งปีของเราเพื่อยื่นเสียภาษี
คุณป้อม รณฤทธิ์ กล่าวว่า เงินทุกบาทที่แอมเวย์ให้เรา ทั้งโบนัส เงินรางวัลการท่องเที่ยว ค่าเชิญพูด ถือเป็นรายได้ทั้งหมด เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ท่านที่ผ่านทริปท่องเที่ยวต้องวางแผนให้ดี ถ้ารายได้ 40(2) นี้ถึงเกณฑ์ 1,800,000 บาท นอกจากเสียภาษีรายได้ปกติจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT เพิ่มด้วย โดยปกติทางแอมเวย์จะมีจดหมายแจ้งท่านเรื่องการเตรียมจด VAT ดังนั้นต้องวางแผนภาษีล่วงหน้า โดยสามารถปรึกษาบริษัทแอมเวย์ได้
คุณป้อม รณฤทธิ์ เสริมข้อมูลเรื่องทางเลือกในการวางแผนภาษีสำหรับคู่สามีภรรยา แบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
1) หากคู่สมรสไม่มีรายได้ เราสามารถนำคู่สมรสไปหักลดหย่อนได้ทันที 60,000 บาท
2)หากคู่สมรสมีรายได้ร่วมกัน เช่น นักธุรกิจแอมเวย์ชีฟคู่ที่จดทะเบียนสมรส และต่างคนมีเงินเดือนประจำ ก็สามารถนำรายได้แอมเวย์หารสอง และดูว่าเลือกจ่ายแบบไหนประหยัดได้มากกว่า แต่หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต้องแบ่งจ่ายภาษีเป็นคนละครึ่ง
3)หากต่างฝ่ายต่างมีรายได้ สำคัญมากสำหรับผู้มีรายได้สูง เราควรมาคำนวณดูว่าควรจะยื่นอย่างไร เลือกว่าควรยื่นรวมหรือแยก เพื่อได้ประโยชน์ภาษีมากกว่า
เช่น สามีเป็นผู้มีรายได้ 40(1) อย่างเดียวและเงินเดือนน้อย ภรรยามีรายได้40(1) และทั้งสองมีรายได้ประเภท 40(2) ควรโอนรายได้40(2) ให้เป็นของสามีเพื่อวางแผนฐานภาษีของภรรยาให้น้อยลงได้
ช่วงที่ 6 สิทธิการลดหย่อนภาษี โดยคุณป้อม รณฤทธิ์
การลดหย่อนภาษีเป็นเรื่องการคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา เรามีสิทธิการลดหย่อน 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ลดหย่อนภาระส่วนบุคคล สรรพากรจะกำหนดอัตราตายตัวไว้แล้ว ลดหย่อนคู่สมรส บุตร ดูแลบิดามารดา อุปการะบุคคลพิการโดยต้องมีหลักฐาน
การหักลดหย่อนจากประกันชีวิตและประกันสุขภาพตนเอง รวมแล้วไม่เกินหนึ่งแสนบาท สามารถลดหย่อนได้ โดยประกันชีวิตต้องเป็นกรมธรรม์สิบปีขึ้นไป นอกจากนี้เงินบริจาคต่างๆ พยายามเก็บหลักฐานใบอนุโมทนาบัตรที่มาจากวัดที่ได้รับการจดทะเบียนถูกกฎหมายเท่านั้น ทางวัดจะมีระบบการบริจาคออนไลน์ที่ลิงค์กับระบบฐานข้อมูลการบริจาคของสรรพากรทันที โรงเรียน โรงพยาบาล เราก็ขอใบเสร็จการบริจาคมาเก็บเป็นหลักฐาน ผมแนะนำว่า เราต้องวางแผนภาษีตั้งแต่มีรายได้ ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาปลายปีได้
สรุปตามหลักการ เรามีรายได้พึงประเมิน เมื่อหักค่าใช้จ่าย หักลดหย่อน จนเหลือรายได้สุทธิ เราจึงนำไปคำนวณยื่นภาษี เป็นไปตามอัตราก้าวหน้า หากมีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องยื่นภาษีให้ถูกต้อง
ดร.สุเมธา เสริมว่า การขอรับเงินคืนจากการยื่นภาษี หลักฐานการขอคืนเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเราไปยื่นขอคืนเงินภาษีกับสรรพากร เราต้องนำเอกสารไปด้วย ซึ่งเอกสารหลักฐานสามารถหาย้อนหลังได้สองปี ดังนั้นเราควรเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ และควรมีแฟ้มเก็บอย่างดี เพราะสรรพากรอาจขอเรียกตรวจหลักฐานย้อนหลังได้
ภงด.90 และ ภงด.91 กำหนดยื่นแบบช่วงม.ค.ถึงมี.ค. ส่วนภาษีกลางปี(ภงด.94) จะมีการคิดหักค่าใช้จ่ายสองแบบ ถ้ารายได้ 40(5)-40(7) จะเป็นหักแบบเหมา ยกเว้นรายได้ประเภท40(8) จะเป็นการหักแบบตามจริง ต้องกรอกในแบบฟอร์มและยื่นแบบภงด.94 ส่วนที่ไม่ได้ทำบัญชีชี้แจงค่าใช้จ่ายไว้จะคิดแบบเหมา หากคำนวณแล้วไม่ต้องเสียภาษีก็ไม่เสีย แต่หากมีส่วนที่ต้องเสียเพิ่มสามารถนำเครดิตภาษีไปยื่นพร้อม ภงด.90,91 ได้
คุณสุวิทย์ เสริมว่า หากมีคำถามเพิ่มเติม สามารถหาข้อมูลในเว็บไซท์ของสรรพากร และแอพลิเคชั่น RD Smart TAX
คุณป้อม รณฤทธิ์ แนะนำแอพลิเคชั่น iTAX ที่สามารถคำนวณภาษีให้เราเบื้องต้นทางมือถือได้ สามารถกรอกข้อมูลภาษีเบื้องต้น ว่าลดหย่อนได้เท่าไร สามารถสแกน QR Code นี้ได้
ช่วงท้าย สรุปแนวคิดสำคัญเรื่องภาษี
ดร.สุเมธา กล่าวว่า เรื่องภาษี เรามีหน้าที่ต้องเสีย แต่กฎหมายมีช่องว่างให้เราเดินได้อย่างถูกต้อง ตรงไหนที่เราประหยัดได้ เราวางแผนล่วงหน้าได้ เช่น การยื่นภาษีรวมหรือแยก แบบไหนที่จะได้ประโยชน์ประหยัดภาษีได้ดีกว่า วิธีประหยัดภาษีที่ดีที่สุดคือการรู้เรื่องค่าลดหย่อน ว่าเราลดหย่อนอะไรได้บ้าง
เช่น การซื้อประกันควรซื้อแบบที่สามารถลดหย่อนได้ การบริจาคแบบไหนที่เราหักลดหย่อนได้ เช่น บริจาคสิ่งปลูกสร้างจึงลดหย่อนได้ บริจาครพ.รัฐจึงสามารถลดหย่อนได้ การซื้อกองทุนควรซื้อช่วงไหนจึงวางแผนได้เงินคืน การเลี้ยงดูบิดามารดาควรให้ผู้มีรายได้สูงเป็นคนหักลดหย่อน ดังนั้นเราควรต้องเรียนรู้สะสมข้อมูลไว้ และวางแผนการบริหารภาษีให้พร้อม เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะเราต้องเจอเรื่องนี้ตลอดชีวิต
คุณหมอวัชรา กล่าวว่า คงเป็นเรื่องยากที่จะเรียนรู้เรื่องภาษีให้จบได้ในหนึ่งชม. ส่วนตัวผมโชคดีที่สำนักงานบัญชีของผมฝึกให้ผมต้องคิดเอง เราต้องหาความรู้เอง ไม่เช่นนั้นเราจะวางแผนภาษีไม่ถูก
วันนี้เรายังไม่ได้คุยในเรื่องสำคัญหลายประเด็น เช่น การซื้อกองทุนที่ลดหย่อนภาษีได้ ภาษีดอกเบี้ย การซื้อบ้าน การหักลดหย่อนบนภาษีที่เราจ่ายให้ธนาคาร เราควรต้องมาคุยแยกในประเด็นสำคัญเหล่านี้อีกครั้ง และอยากให้จัดรายการซีรีส์เรื่องภาษี
สำหรับคนแอมเวย์ มีคนที่มักซื้อยอดเพื่อให้ได้คุณสมบัติการท่องเที่ยว ต้องกู้หนี้ยืมสิน ผมบอกเลยว่า “ไม่คุ้ม” เพราะอันดับแรกคุณยังมีสินค้าอยู่ที่บ้าน สองหนี้ยังต้องชำระ สามเมื่อท่องเที่ยวกลับมาต้องนำมูลค่ารางวัลการท่องเที่ยวไปรวมเพื่อเสียภาษี หรือบางคนพาลูกไปเที่ยวด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ไม่สามารถลดหย่อนได้ บางคนเที่ยวแล้วกลับมาหมดตัว จึงอยากเตือนสติคนแอมเวย์เรื่องเหล่านี้ เราสามารถปรึกษาผู้รู้ หรือปรึกษาสำนักงานบัญชี ซึ่งหากคุณมีความเข้าใจเรื่องภาษี คุณจะไม่ไปทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ
คุณสุวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้เราได้ภาพรวมในเรื่องภาษี ส่วนในครั้งถัดๆ ไป เราคงจะเจาะลึกเรื่องภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีนิติบุคคล หรือประเด็นที่น่าสนใจที่คุณหมอเสนอแนะมา เราจะได้เรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งในยุคนี้ความรู้เก่าหมดอายุเร็ว เราต้องเรียนรู้อัพเดทข้อมูลกฎหมายใหม่เกี่ยวกับภาษีอยู่เสมอ หวังว่าทุกท่านจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และขอให้สมาชิกทุกท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโควิด และได้รับวัคซีนครบกันทุกคน
ของฝากจาก FTC เปิดตัวแอพลิเคชั่น Co-Op Network ทำธุรกรรมง่าย...เพียงปลายนิ้ว โดย คุณติ๊ก นงค์รัก
ทาง FTC ได้เปิดตัวแอพลิเคชั่นใหม่ Co-Op Network เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แอพนี้สามารถถอนเงิน โอนเงิน รับเงินกู้ได้ สะดวกง่าย ปลอดภัยแค่ปลายนิ้ว ท่านสามารถรับฟังข้อมูลถามตอบ Q&A แนะนำแอพลิเคชั่นย้อนหลังได้ทางเฟสบุคไลฟ์ หรือสอบถามทางไลน์ @freetrade
คำถามจาก Facebook และ Zoom
Q : ลูกสาวเป็นนักธุรกิจแอมเวย์ มีรายได้ 6% ต้องเสียภาษีหรือไม่?
คุณป้อม รณฤทธิ์ : ต้องยื่นเสียภาษีครับ แต่หากไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี
Q : กรณีที่มีเงินรายได้จากต่างประเทศทุกเดือนๆ ถือเป็นรายได้หรือไม่?
คุณป้อม รณฤทธิ์ : หากมีธุรกิจแอมเวย์ที่ต่างประเทศ หรือมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากต่างประเทศที่อยู่นอกระบบภาษี เราไม่จำเป็นต้องแจ้งรวมในการยื่นภาษีก็ได้ เพราะแหล่งรายได้ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย
Q : การหักค่าใช้จ่ายตามจริงกับอัตราเหมา ต่างกันอย่างไร?
คุณป้อม รณฤทธิ์ : การหักค่าใช้จ่ายของรายได้ 40(1)-(8) มีสองแบบ คือ หักแบบเหมา ซึ่งสรรพากรกำหนดไว้แล้วอัตราที่ 50% แต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท ส่วนการหักตามจริงมักใช้กับ 40(8) เราต้องพิสูจน์ค่าใช้จ่ายนั้นให้ได้ ทั้งเรื่องรายได้ ค่าใช้จ่าย ค่าเช่าต้องมีสัญญาเช่า ซื้ออุปกรณ์ต้องมีใบเสร็จ โดยเราต้องทำบัญชีและยื่นค่าใช้จ่าย
Q : การขายรถยนต์เก่า การขายที่ดิน ต้องนำมาประเมินภาษีหรือไม่?
คุณป้อม รณฤทธิ์ : การขายทรัพย์สินรถยนต์เก่าแบบนี้ไม่ต้องนำมาเสียภาษี ยกเว้น การขายอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านและที่ดิน ต้องนำไปรายได้ส่วนที่เป็นกำไรหลังหักภาษีไปรวมกับรายได้ปลายปีเพื่อยื่นภาษี
Q : นักธุรกิจที่จดเป็นชีฟคู่ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส สามารถหารครึ่งรายได้ได้หรือไม่?
คุณป้อม รณฤทธิ์ : รายได้โบนัสแบบนี้เป็นรายได้แบบเดียวที่สามารถหารครึ่งได้ครับ
Q : รับค่านายหน้าจากเจ้าของที่ดินเป็นเงินสด ต้องเสียภาษีหรือไม่ ?
คุณป้อม รณฤทธิ์ : ตามระบบที่ถูกต้อง ต้องเสียภาษีครับ
Q : วิธีเรียกดูยอดรายได้ของแอมเวย์ กรณีสรรพากรเรียกตรวจ สามารถดูได้จากที่ไหน?
คุณป้อม รณฤทธิ์ : สามารถดาวน์โหลดข้อมูลทางเว็บไซท์ และดูย้อนหลังได้สามปี
ดร.สุเมธา : แอมเวย์ออกเอกสาร 50 ทวิให้เราได้ หากเรานำ 50 ทวิไปยื่นคือหลักฐานการจ่ายจริง
Q : หากมีรายได้แอมเวย์สองแสนต่อปี เมื่อรวมกับรายได้ประจำแล้ว ต้องเสียภาษีสูงขึ้นมากควรทำอย่างไร?
คุณป้อม รณฤทธิ์ : ควรหารายได้เพิ่มครับ หากเราต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ขณะที่เรามีรายได้เพิ่มผมว่าโอเคกว่า เมื่อเรารู้ฐานเงินเดือนประจำอยู่แล้ว หากมีรายได้แอมเวย์เพิ่ม กรณีชีฟเดี่ยวคงยากที่จะวางแผน เราต้องเตรียมเงินก้อนนึงไว้เสียภาษี
หากเป็นชีฟคู่สามารถวางแผนหารครึ่งรายได้แอมเวย์ และแยกยื่นภาษี ซึ่งต้องทำเรื่องเปลี่ยนแปลงข้อมูลก่อนสิ้นเดือน ธ.ค.
ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้
วันนี้เราได้ทราบความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผู้รู้ทุกท่าน จะเห็นได้ว่าภาษีเป็นเรื่องที่เป็นเหมือนเงาตามตัวผู้มีรายได้ทุกคน ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ หากเราศึกษาทำความเข้าใจภาษีอย่างถูกต้อง ก็สามารถวางแผนสู่การเป็นผู้มีรายได้มั่งคั่ง ที่ได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีได้ไม่ยาก
แอดขอสรุป 5 ประเด็นต้องรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1) รู้ประเภทรายได้
2) รู้วิธีหักค่าใช้จ่าย
3) รู้สิทธิลดหย่อนภาษี
4) รู้วางแผนภาษีล่วงหน้า
5) รู้หน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษีตรงเวลา
หากต้องการความรู้อัพเดทเกี่ยวกับภาษี นอกจากเข้าเว็บไซท์กรมสรรพากรแล้ว อย่าลืมติดตามซีรี่ส์ภาษีน่ารู้ในครั้งถัดไป พร้อมความรู้ดีๆ ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินและสุขภาพทาง FTC Channel ทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น.