เสียภาษีอย่างไร ให้ถูกต้องและถูกตังค์

โดย Admin T
 วันที่ 26 ส.ค. 2564 เวลา 11:02 น.
 5445

สรุปบทความ FTC Channel เสียภาษีอย่างไร ให้ถูกต้องและถูกตังค์ 

 

FTC Channel ชวนเพื่อนๆ มาจับเข่าคุยกันแบบสบายๆ ในหัวข้อ “เสียภาษีอย่างไรให้ถูกต้องและถูกตังค์” จากผู้รอบรู้ด้านสุขภาพการเงินอย่าง นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ FTC ดร.สุเมธา โพธิ์ประสาท ที่ปรึกษา FTC คุณรณฤทธิ์ นาที คณะกรรมการ FTC และนักบัญชี ดำเนินรายการโดย คุณสุวิทย์ พูลสุขเลิศ ประธานคณะกรรมการศึกษา FTC และคุณอรอุมา ชอบดี รักษาการณ์ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริหารสำนักบริการ ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องภาษีอย่างถูกต้องและถูกตังค์กัน

 

ช่วงแรก  ภาษีนั้นสำคัญแค่ไหน โดย นพ.วัชรา

ในความเห็นผม 4 สิ่งที่เป็นความแน่นอนในโลก คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และภาษี  หลายสิ่งในโลกรวมถึงธุรกิจ ผู้มีเงินได้ทุกคนมีความรับผิดชอบ และเป็นกฎหมายที่ต้องจ่ายภาษี ระบบสรรพากรไทยนั้นยอดเยี่ยมมาก ผมมีรายได้ต่อปีค่อนข้างเยอะ แต่เคยลืมแถลงรายได้รายการหนึ่งที่ต้องเสียภาษี 4000 บาท ทางสรรพากรติดตามผมได้ไม่พลาดเลย ทั้งที่ผมเองยังลืมว่าเป็นรายได้จากอะไร ทำให้เห็นว่าเราไม่สามารถหลบเลี่ยงภาษีได้ หากเราละเลยเรื่องการวางแผนภาษี เงินได้ที่เราหามาทั้งหมดอาจเป็นปัญหาของชีวิตได้ ผมเคยทำจดหมายทางการถึงอธิบดีกรมสรรพากรว่าให้ช่วยสอนผมให้เสียภาษีอย่างถูกต้อง ดังนั้นวันนี้ เรามาเรียนรู้ที่จะอยู่กับภาษีอย่างมีความสุขกัน

 

ช่วงที่ 2 ความรู้ภาษีพื้นฐานฉบับชาวบ้าน โดย คุณป้อม รณฤทธิ์  

วันนี้มาคุยเรื่องภาษีสไตล์ชาวบ้านกัน เพราะหลายคนได้ยินคำว่าสรรพากร จะตกใจและไม่อยากรับรู้ คิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ที่จริงเราเพียงต้องเรียนรู้ ว่าเรามีหน้าที่พื้นฐานอย่างไรในรัฐธรรมนูญ เราผู้มีรายได้ต้องเสียภาษี ต้องเรียนรู้ว่าเรามีรายได้เท่าไร เสียภาษีเท่าไร จนสุดท้ายเราจะประหยัดภาษีได้อย่างไร 

 

ผมอยู่ในวงการภาษีมา 30  ปี ทำให้เข้าใจว่าเรื่องภาษีเป็นเรื่องง่ายๆ โดยพื้นฐาน ภาษีแบ่งรายได้เป็น 8 ประเภท 

1)เงินเดือน  2)คอมมิชชั่น 3)ค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา 4) ดอกเบี้ยเงินปันผล 5)ค่าเช่าต่างๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน 6)วิชาชีพอิสระ เช่น วิศวกร แพทย์ นักกฎหมาย นักบัญชี ที่มีใบประกอบวิชาชีพจากสมาคมนักวิชาชีพต่างๆ  7)ค่ารับเหมาก่อสร้าง 8) รายได้อื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา 

ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า โครงสร้างรายได้ของเราเป็นประเภทไหน เพื่อรู้ว่าการหักค่าใช้จ่ายเป็นอัตราเท่าไร โดยเมื่อพิจารณาแล้ว รายได้จากธุรกิจแอมเวย์ เป็นรายได้ประเภท 40(2)  “ค่าคอมมิชชั่น” 

 

ผู้รับเงินเดือน สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา การคิดค่าใช้จ่ายแบบเหมา ทางสรรพากรจะกำหนดอัตราว่าสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ไม่เกินหนึ่งแสนบาท ส่วนการหักตามจริงคือ ต้องทำบัญชีรับจ่ายและแสดงให้สรรพากรพิจารณา เช่น ผู้ที่ทำพาณิชยกรรมค้าขาย สามารถเลือกว่าจะหักค่าใช้จ่ายตามจริงโดยทำบัญชีหักค่าใช้จ่ายเพื่อยื่นสรรพากร หรือหากรายละเอียดในการค้าไม่แน่ชัด สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้

 

  

 

หากมีรายได้สองทาง เช่น เงินเดือนครู และรายได้จากธุรกิจแอมเวย์ ต้องนำรายได้จากธุรกิจแอมเวย์ไปรวมกับรายได้ประจำ และยื่นภาษีรวมกัน  

อีกแบบหนึ่งคือสมาชิกแอมเวย์ที่สมัครในรูปแบบนักธุรกิจ ที่มีการซื้อสินค้าแอมเวย์แบบมีโบนัสคืน เราได้รายได้ส่วนนี้เท่าไร ต้องนำรายได้ส่วนนี้มารวมเพื่อยื่นภาษีด้วย ดังนั้นเราสามารถดูข้อมูลได้ในส่วนลดมารวมเพื่อยื่นภาษี หากมีรายได้ต้องแถลงด้วย 

 

ค่าลดหย่อนทางภาษี มี 5 ประเภท
1. ค่าลดหย่อนกลุ่มภาระติดตัว 
2. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
3. ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันและการลงทุน ส่วนนี้สำคัญสำหรับผู้มีรายได้รวมแล้วไม่เกินแสนบาท เบี้ยบำนาญ
4. ค่าลดหย่อนกลุ่มคุณรักพรรคการเมือง
5. ค่าลดหย่อนกลุ่มเรื่องบริจาคตอบแทนสังคม เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล  

 

เราควรศึกษาเงื่อนไขค่าลดหย่อนทางภาษีที่เรามีสิทธิลดหย่อนได้ตามกฎหมาย เช่น หากเรามีบุตร สามารถลดหย่อนภาษีภาระบุตรได้คนละ 30,000 บาท ลดหย่อนได้สูงสุด 3 คน รวมแล้วไม่เกิน 60,000 บาท หากบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะแต่มีรายได้แล้ว เช่น ลูกเป็น youtuber มีรายได้ บิดามารดาไม่สามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 

 

ทั้งนี้ อยากให้ติดตามข่าวสารอัพเดทของกรมสรรพากรทุกๆ ปลายปี  

 

ตารางคำนวณอัตราภาษี 5-35% ของรายได้สุทธิหลังลดหย่อนแล้ว 

 

 เมื่อเราเริ่มมีรายได้มากขึ้นหรือมีรายได้หลายทาง เราต้องวางแผนภาษีล่วงหน้า ว่าเราต้องจ่ายภาษีแบบไหน วิธีที่ง่ายและเร็วที่สุด คือ การกรอกแบบฟอร์มภาษีรายได้บุคคลธรรมดาทางออนไลน์ด้วนตนเอง เราสามารถขอรหัสพาสเวิร์ดง่ายมากผ่านระบบออนไลน์ ไม่ต้องเดินทางเข้าไปที่สรรพากร หากผิดตรงไหน โปรแกรมจะแจ้งเตือน และสามารถสอบถามสรรพากรได้โดยตรง  

 

ดร.สุเมธา เสริมว่า เรื่องกำหนดเวลาการยื่นภาษีของบุคคลธรรมดา เราสามารถเข้าไปที่สรรพากรพูดคุยหารือ และกลับมาวางแผนภาษี จากนั้นรวบรวมเอกสารให้ครบแล้วค่อยจ่ายภาษี ในปัจจุบันมีโปรแกรมเรียนรู้การกรอกภาษี ทางออนไลน์ได้ นอกจากนี้ ผู้มีรายได้ประเภท 40(5)-(8) ต้องเสียภาษีครึ่งปีด้วย ต้องเสียภาษีครึ่งปีซึ่งหมดเขตยื่นเดือน ก.ย. หลายคนมักจะลืม และถูกปรับ

 

เบื้องต้นเราต้องทราบหน้าที่พื้นฐานในการเสียภาษีของเรา เพื่อทราบวิธีวางแผน และสามารถจัดการการเงินส่วนบุคคลได้ดีขึ้น

 

ช่วงที่ 3 โร้ดแมพการจัดการภาษีส่วนบุคคล โดย ดร. สุเมธา

ตามกฎหมายเราเป็นพลเมืองไทย ต้องเสียภาษีให้ประเทศไทย กติกาคือเราต้องยื่นภาษีก่อน ข้อมูลเราจะถูกระบบบันทึกไว้ หากไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสีย ตอนเรียนปริญญาโท ผมได้มีโอกาสเรียนเรื่องการวางแผนภาษีกับรองอธิบดีกรมสรรพากร

 

เราต้องวางแผนภาษีล่วงหน้า เพื่อรู้ว่าเราจะประหยัดได้ในจุดไหน หากเราเป็นพนง.บริษัทมหาชน สามารถคุยกับฝ่ายบุคคลก่อนว่าเขาหัก ณ ที่จ่ายเท่าไร เราวางแผนล่วงหน้าได้ บริษัทจะออก 50 ทวิให้เรา ซึ่งปกติบริษัทจะหัก 3% ของรายได้ก่อน จากนั้นเรานำเอกสารไปยื่นภาษีและขอเงินลดหย่อนภาษีคืนได้ สำหรับคนโสดไม่ค่อยมีปัญหา แต่หากมีครอบครัวและมีรายได้ทั้งคู่ โดยส่วนใหญ่ทางสรรพากรจะให้สามีภรรยาเสียภาษีรวมกัน ฐานภาษีจะสูงลดหย่อนน้อยลง เพื่อให้รัฐได้ภาษีตามเป้าหมาย ดังนั้นสามีภรรยาควรแยกยื่นภาษี สิทธิ์ลดหย่อนจะลดได้มากขึ้น

 

สิ่งสำคัญเราควรวางแผนค่าใช้จ่าย เช่น การเลี้ยงดูพ่อแม่ เราสามารถลดหย่อนภาษีได้ หากพ่อแม่มีลูกหลายคน ในครอบครัวจึงควรมีการตกลงเพื่อให้คนที่มีรายได้สูงเคลมภาษีคืน 

 

กรณีแม่ค้าออนไลน์ ปัจจุบันทางธนาคารได้รับแจ้งจากสรรพากรว่า ถ้าบัญชีใดมีสเตทเมนท์เกิน 3,000 รายการ/ปี (250รายการ/เดือน) ธนาคารต้องยื่นข้อมูลนี้ให้สรรพากร และสรรพากรจะเรียกเจ้าของบัญชีมาคุยเรื่องภาษี ดังนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

การวางแผนซื้อประกัน เบี้ยประกันไม่เกินหนึ่งแสนบาท ควรเลือกแบบระยะยาวส่งสิบปีขึ้นไป เพื่อครอบคลุมปีที่เรามีรายได้และสามารถเคลมลดหย่อนภาษีได้ 

 

การซื้อบ้านสร้างบ้านหลังแรก เคลมได้สูงสุดไม่เกินสองแสนบาท การกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน ในเอกสารจดจำนองต้องระบุว่าจดจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงสามารถเคลมลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยได้ ในสัญญาต้องระบุว่าจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 

 

การซื้อของในโครงการส่งเสริมของรัฐ เราต้องซื้อที่หน้าเคาน์เตอร์ เพื่อออกใบเสร็จกำกับภาษีที่ถูกต้อง และเราต้องมีสติในการเก็บเอกสารเพื่อขอลดหย่อนภาษี

 

การซื้อหน่วยลงทุน กองทุนรวม เงื่อนไขคือซื้อแล้วเคลมคืนใน 5 ปี อายุต้องเกิน 55 ปีขึ้นไป แนะนำให้ซื้อตอนอายุ 45-50 ปีเราสามารถเคลมเงินคืนภาษีเท่ากับฐานภาษีที่เราจ่าย 

อาทิ ผมเสียภาษี 30% คิดแล้วนำเงินไปซื้อกองทุนดีกว่าฝากธนาคาร จะเห็นว่า การวางแผนทางภาษีล่วงหน้านั้นสำคัญ

 

คุณอุ๊ อรอุมา กล่าวเสริมว่า ทางสหกรณ์ FTC มีบริการให้ฝากเงินทุกเดือนสะสมในรูปแบบหุ้น ให้ผลตอบแทนเป็นปันผลและที่สำคัญไม่ต้องถูกหักภาษี เพราะสหกรณ์ได้รับการยกเว้นภาษีจากรัฐบาล

 

ช่วงที่  4 การเตรียมวางแผนเพื่อประหยัดภาษีในธุรกิจ โดยคุณป้อม รณฤทธิ์

ช่องทางประหยัดภาษีในสเตปถัดไป หากเรามีรายได้ 40(2) จากแอมเวย์เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ควรจดทะเบียนรูปนิติบุคคล (จดVAT) เนื่องจากแอมเวย์ จะขายสินค้าและหักภาษีคืนให้สรรพากรทั้งหมด ดังข้อมูลทางภาษีของบริษัทแอมเวย์จึงโปร่งใสถูกต้อง และไม่สามารถแก้ไขหลีกเลี่ยงได้แม้แต่บาทเดียว นักธุรกิจควรวางแผนล่วงหน้า 

เช่น ในเคสของนักธุรกิจที่เติบโตเร็วจากแพลตตินั่มเป็นระดับมรกต หรือเพชรภายในสองปี  ทางบริษัทแอมเวย์จะมีจดหมายแจ้งให้ท่านไปจด VAT  และเราควรรีบไปยื่นสรรพากร เพราะหากไม่ทำจะถูกปรับ 20% ต่อเดือน และปรับย้อนหลังทั้งหมด มูลค่าเป็นล้านบาท 

 

กรณีชีฟเดี่ยวที่มีรายได้ตั้งแต่ 80,000 บาทขึ้นไปและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบสม่ำเสมอ ควรวางแผนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สำหรับชีฟคู่สามารถคำนวณแบ่งรายได้เป็นคนละครึ่งได้ ดังนั้นควรปรึกษานักบัญชีก่อนเมื่อถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีสูงจึงจดนิติบุคคล 

 

อีกกรณีคือการผ่านทริปท่องเที่ยว จะต้องเสียภาษีสูงมากแม้ไม่ใช่รายรับในรูปแบบของรายได้ จึงควรต้องวางแผนล่วงหน้า ดูว่าบริษัทจะจ่ายโบนัสการท่องเที่ยวช่วงไหน พิจารณารายได้หลักเมื่อรวมและหักลบกับการท่องเที่ยวแล้วมีแนวโน้มสูงหรือไม่ เราควรจดนิติบุคคลรอไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อทำให้คำนวณการจ่ายภาษีในปีนั้นลดลงได้ 

 

เราควรวางแผนการจดนิติบุคคลโดยปรึกษานักบัญชี พิจารณาว่า หากรายได้เยอะเริ่มจากต้นปี ตั้งแต่เดือน ม.ค. ก็ควรจดนิติบุคคลเลย แต่หากรายได้เริ่มเยอะช่วงปลายปี แนะนำว่ายังไม่ควรจด และดูว่าเมื่อหักค่าใช้จ่ายนักบัญชีแล้ว เรารับได้เหมาะสมหรือไม่

 

ดร.สุเมธา กล่าวเสริมว่า วิธีที่ดีที่สุด คือเลือกผู้ทำบัญชีให้เรา เป็นคนในแอมเวย์ด้วย จะทำให้เรามีความรู้ และเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง

 

    นอกจากนี้ การจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะมีค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบเพิ่ม เช่น ค่าทำบัญชีรายเดือน ออดิเตอร์รายปี เคลม VAT รายปี ฯลฯ ดังนั้น ก่อนจะจดทะเบียนนิติบุคคล ต้องถามว่า ธุรกิจคุณมีความเติบโตต่อเนื่องหรือไม่ มีความแข็งแรงทางธุรกิจแค่ไหน พร้อมรับความรับผิดชอบนิติบุคคลหนือไม่ เพราะการปิดบริษัท มีความยุ่งยาก การจดเริ่มง่าย แต่จดออกเลิกกิจการและชำระบัญชีนั้นยาก เพราะสรรพากรตรวจเช็คย้อนหลังห้าปีได้  ดังนั้นต้องคิดให้ดีก่อน 

 

นิติบุคคลต้องรับผิดชอบการเก็บข้อมูลบิลค่าใช้จ่ายรายเดือน หรือบางรายมีการหา VAT ปลอมมาใช้ แต่ปัจจุบัน ระบบ AI ของสรรพากรตรวจสอบได้ ว่าบิลนั้นเกี่ยวข้องกับกิจการหรือไม่ ถ้าไม่เกี่ยวจะขอเคลม VAT ไม่ได้และถูกปรับ  การจดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัท  จะต้องทำระเบียบของบริษัททั้งการให้สวัสดิการต่างๆ ซึ่งมีความยุ่งยากมากขึ้นกว่าบุคคลธรรมดา

 

อีกประเด็นที่เราไม่ค่อยให้ความสำคัญ คือ การอบรมสัมมนาเรื่องการเป็นนิติบุคคล กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่เราควรเข้าร่วม กล่าวโดยสรุป เมื่อจดทะเบียนนิติบุคคล เราต้องเข้าใจภาษาบัญชีและภาษาภาษี และต้องเอาใจใส่กับนิติบุคคลที่เรามีด้วย ไม่ใช่คิดเพียงต้องการประหยัดภาษีอย่างเดียว

 

ช่วงท้าย สรุปแนวคิดสำคัญเรื่องภาษี

คุณป้อม รณฤทธิ์ ฝากว่า ภาษีไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ ให้เรารู้ว่าเรามีหน้าที่ต้องเสียภาษี ไม่ใช่หลบเลี่ยงภาษี เมื่อเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องเผชิญเข้าหาภาษี  หากติดปัญหาตรงไหน ให้สอบถามโดยตรงทางสายตรงหรือเว็บไซท์ของกรมสรรพากร หรือปรึกษาผู้รู้ อย่าไปกลัวเรื่องภาษี 

 

ดร.สุเมธา กล่าวว่า  เราอยู่ประเทศไทย ภายใต้กฎหมาย เพียงศึกษาข้อมูล เราจะรู้ว่ากฎหมายมีช่องว่างให้เราเดินได้อย่างถูกต้อง ตรงไหนที่เราประหยัดได้ เราวางแผนล่วงหน้าได้ เพื่อเราจะได้รับประโยชน์จากน้ำพักนำ้แรงของเรากลับมา โดยเฉพาะผู้นำ หากเราเรียนรู้ทั้งภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคลล่วงหน้า เราก็สามารถสอนต่อถ่ายทอดในองค์กรได้อย่างถูกต้อง  

 

คุณสุวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สมาชิกทุกท่าน หากได้รับเอกสารของทางบริษัทแอมเวย์ที่ส่งให้ผู้มีรายได้ ขอให้ท่านอย่าละเลย ทุกอย่างต้องเก็บไว้ เพื่อนำไปรวมยื่นภาษีปลายปี ป้องกันปัญหาเรื่องภาษีในภายหลังได้ และหวังว่าทุกท่านจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางการวางแผนภาษีเบื้องต้น ขอให้สมาชิกทุกท่านสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ 

 

ของฝากจาก FTC เปิดตัวแอพลิเคชั่น FTC ทุกธุรกรรมง่าย...เพียงปลายนิ้ว โดย คุณอุ๊ อรอุมา

    มื่อต้นเดือนสิงหาคม ทาง FTC  ได้เปิดตัวแอพลิเคชั่นใหม่ เพื่อตอบโจทย์การทำธุรกรรมต่างๆ ได้สะดวกง่ายดายผ่านมือถือเพียงเครื่องเดียว มีขั้นตอนเพียง 2 สเตปง่ายๆ  1)ลงทะเบียน 2)ดาวน์โหลดแอพ ที่สามารถทำธุรกรรม ถอนเงินฝากออมทรัพย์ และรับเงินกู้ทีใช้เงินฝากค้ำประกัน และทำสัญญาไว้แล้ว

 

ขั้นตอนการใช้งาน เพียงดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอใช้บริการทางเว็บไซต์ FTC  และกรอกข้อมูลให้เรียบร้อย ส่งไปรษณีย์ พร้อมสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาหน้าบัญชีธนาคารส่งมาที่ FTC  เมื่อ FTC ได้รับเอกสารตรวจข้อมูลเรียบร้อยจะติดต่อกลับ ท่านสามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น Coop Network มาติดตั้งในมือถือและใช้งานได้ทันที หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อทางไลน์ @freetrade  

 

คำถามจาก Facebook และ  Zoom

 

Q : หากเรารายได้มีหลายแหล่ง สามารถแยกชำระภาษีได้หรือไม่? 

คุณป้อม รณฤทธิ์ :  แยกไม่ได้ครับ ต้องรวมแล้วยื่น ภงด.90 หรือ 91 แต่สำหรับชีฟคู่ สามารถให้แอมเวย์ออกใบรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้หักภาษีแยกกันได้ ทางแอมเวย์จะออกใบรับรองรายได้ให้ครึ่งหนึ่ง ดังนั้นชีฟคู่ต้องแจ้งที่เคาน์เตอร์ของบริษัทแอมเวย์ล่วงหน้า ก่อนเวลาที่จะต้องเสียภาษี เพราะแอมเวย์จะไม่ออกย้อนหลังให้ 

 

Q : ควรจดเป็นนิติบุคคลตอนไหนดี?

คุณป้อม รณฤทธิ์ : ก่อนจดเป็นนิติบุคคล เราต้องรู้ก่อนว่านิติบุคคลมีหน้าที่อะไร เราพร้อมดูแลรับผิดชอบนิติบุคคลมั้ย  เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการ เจ้าของบริษัทต้องรับผิดชอบทุกอย่าง เพราะสำนักงานบัญชีมีหน้าที่เพียงรับทำบัญชีให้คุณ ทำให้คุณเสียภาษีได้ถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้นจึงค่อยมาคุยว่ารายได้เท่าไร ถึงเกณฑ์ที่ควรเริ่มจดนิติบุคคลแล้วหรือไม่ 

 

Q : ค่าน้ำมันเยอะ เมื่อยื่นภาษีสรรพากรไม่ยอมรับเพราะอะไร? 

คุณป้อม รณฤทธิ์ : เรื่องนี้ต้องดูว่า รถที่ใช้เป็นชื่อบริษัทรึเปล่า และใช้รถในกิจการของบริษัทรึเปล่า ซึ่งเมื่อยื่นไปแล้วขึ้นกับดุลยพินิจของสรรพากร เช่น การเดินทางต้องบันทึกว่า เราเดินทางไปไหนบ้าง ระยะทางเท่าไร เฉลี่ยจากค่าใช้จ่ายประเภทนั้นได้ เช่น ค่าน้ำมันรายเดือน 10,000 บาท เราทำข้อมูลเป็นการใช้รถของบริษัท 5,000 บาท อาจดูเหมาะสมกว่าเคลมทั้งหมด

 

Q : ต้องมีรายได้เท่าไร จึงสมควรจดทะเบียนนิติบุคคล?

คุณป้อม รณฤทธิ์ :    หากเรามีรายได้ 40(2) จากแอมเวย์ กรณีชีฟเดี่ยวมีรายได้ตั้งแต่ 80,000 บาทขึ้นไปและแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบสม่ำเสมอ สำหรับชีฟคู่สามารถคำนวณแบ่งรายได้คนละครึ่งได้ ดังนั้นควรปรึกษานักบัญชีก่อนเมื่อถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีสูงจึงจดนิติบุคคล 

 

Q : หากช่วงโควิดรายได้น้อยลง เราจะไม่จ่ายภาษีได้หรือไม่ ?

ดร.สุเมธา  :  เราเลี่ยงภาษีไม่ได้ แต่รัฐมีการผ่อนผันการชำระภาษี ปกติเรายื่นภายในมีนาคม ปีนี้ผ่อนผันให้ถึงมิถุนายน  และปัจจุบันเราสามารถแบ่งจ่ายภาษีเป็นงวดได้ เมื่อมีปัญหาเรื่องภาษี หรือวางแผนภาษี สามารถปรึกษาสรรพากรได้ จะได้รับคำแนะนำเพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง

 

Q : หากคุณแม่มีบำนาญ เราสามารถขอลดหย่อนภาษีได้หรือไม่? 

ดร.สุเมธา  : ได้ หากพ่อแม่อายุเกิน 60 ปี ก็สามารถขอลดหย่อนภาษีได้

 

ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้

    วันนี้เราได้ฟังข้อมูลด้านภาษีจากผู้รู้ทุกท่าน จะเห็นได้ว่าภาษีเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากๆ หากศึกษาทำความเข้าใจและเตรียมข้อมูลภาษีอย่างถูกต้อง เราสามารถทำหน้าที่พลเมืองที่ดี และยังได้รับประโยชน์จากการประหยัดภาษีบางส่วนได้อีกด้วย แอดขอนำสรุป 3 สเตปต้องรู้เรื่องภาษีส่วนบุคคลมาฝากกัน
สเตปที่1  รู้ประเภทรายได้ และอัตราภาษีของตนเอง
สเตปที่2 รู้สิทธิการลดหย่อนภาษี 5 แบบ เพื่อจัดการวางแผนค่าใช้จ่ายและยื่นภาษีให้ประหยัดได้ตามสิทธิของเรา
สเตปที่3 รู้วางแผนภาษีล่วงหน้า โดยสามารถลองกรอกแบบฟอร์มภาษีออนไลน์ในเว็บสรรพากร และปรึกษานักบัญชีและผู้รู้ด้านภาษี 

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว...การวางแผนภาษีส่วนบุคคลเบื้องต้นอย่างถูกต้อง และประหยัดภาษีอย่างเหมาะสมก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป 

 

เพื่อนๆ อย่าลืมติดตามเรื่องราวดีๆ ทางการเงินและรับฟังแนวคิด แรงบันดาลใจจากคนรุ่นใหม่ ทาง  FTC Channel ทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น.  สำหรับท่านที่ชอบอ่านเรามีบทความสรุปประเด็นแต่ละสัปดาห์ทางเว็บไซต์ FTC