ทางรอดทางเลือกยุคโควิด-19

โดย Admin T
 วันที่ 06 ส.ค. 2564 เวลา 14:45 น.
 2446

สรุปความ FTC Channel ทางรอดทางเลือกยุคโควิด-19 

 

เช้าวันเสาร์สบายๆ แบบนี้ FTC Channel ชวนเพื่อนๆ มาพบทางรอดในยุคโควิด-19 กับ ผู้รอบรู้และมากประสบการณ์ด้านสุขภาพการเงินอย่าง นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ FTC ดร.สุเมธา โพธิ์ประสาท ที่ปรึกษา FTC คุณอัมพา ทองสุขนอก อดึตลูกหนี้นอกระบบ คุณมุทิตา ฉิมลอยลาภ อดีตลูกหนี้บัตรเครดิต ดำเนินรายการโดย คุณสุวิทย์ พูลสุขเลิศ ประธานคณะกรรมการศึกษา FTC และคุณสาวิตรี อนันชพันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ FTC ร่วมแบ่งปันประสบการณ์เพื่อชี้ช่องทางรอดและทางเลือกให้พ้นวิกฤติหนี้และการเงิน

 

ส่องสถานการณ์ที่รุนแรงกว่าโควิด คือ ปรากฏการณ์วิกฤติหนี้ล้นมือ โดยคุณสุวิทย์

อัพเดทสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ทั่วโลกติดเชื้อไปแล้ว 197 ล้านคนเกือบ 200 ล้าน เสียชีวิตไป 4 ล้านกว่าคน แต่ที่น่าตกใจคือที่สหรัฐอเมริกา ฉีดวัคซีนทั้งไฟเซอร์ โมเดอน่า แต่ยอดผู้ติดเชื้อขึ้นไปถึง 70,000 กว่าคน ดังนั้นเราต้องระมัดระวังกันนะครับ ส่วนประเทศไทยล่าสุดเมื่อเช้า ยอดผู้ติดเชื้อที่ 18,912 คน เสียชีวิตไป 178 คน เพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ที่จริงคาดว่ามากกว่านี้ ตัวเลขจริงน่าจะคูณด้วย 5-6 เท่า ดังนั้นให้คิดว่าคนที่เราออกไปเจอข้างนอก 10 คน มีคนที่ผ่านการสัมผัสเชื้อแล้ว ไม่ต่ำกว่า 3 คน ซึ่งน่ากลัวมากทีเดียว ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ได้ให้ตระหนกตกใจกลัว แต่เป็นการย้ำเตือนว่า ถ้าภูมิคุ้มกันร่างกายเราแข็งแรงมากพอ ความรุนแรงของโรคจะน้อยลง เราต้องจริงจังกับการดูแลตัวเองกันนะครับ  

และอีกเรื่องที่น่ากลัวตามมา คือเรื่องระบบเศรษฐกิจการเงิน จะเห็นว่า ปรากฏการณ์หนี้ล้นมือที่วัดจาก GDP ตั้งแต่ปี 2019 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP อยู่ที่ 79.8% ปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 89.4% ไตรมาส 1 ของปีนี้ อยู่ที่ 90.5% นี่เฉพาะหนี้ในระบบ หมายความว่า ถ้ามีคน 100 จะเป็นหนี้แล้ว 90 คน และหนี้ที่น่ากลัวมากในขณะนี้ คือ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ถือว่าน่ากลัวมาก หากสมาชิกท่านใดที่ประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ FTC ของเรามีโปรเจคช่วยเหลือพิเศษ ขอให้มาติดต่อนะครับ จะได้ช่วยกันประคับประคองให้ผ่านปัญหานี้ไปได้

 

ผมได้ฟัง ดร.ธนัย ชรินทร์สาร นักวางกลยุทธ์ของ Facebook Group Strategies Essential ได้มีแบบประเมินวิกฤติส่วนตัวให้ลองทำกัน ท่านคิดว่าสำหรับตัวท่านเอง แต่ละหัวข้อเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องโควิด เศรษฐกิจ และการเมือง ตอนนี้ต้องระวังแล้วครับ มีสัญญาญเตือนเหมือนเรากำลังอยู่บนเครื่องบินที่ตกหลุมอากาศ กัปตันเตือนให้เราเตรียมตัวรับแรงกระแทก เราต้องหาวิธีป้องกัน

 

ปัญหาหนี้นอกระบบเกือบจนตรอก...พบทางรอดอย่างไร  ฟังประสบการณ์ตรงจาก คุณโอ๋ อัมพา อดีตสาวโรงงานและแม่ค้าตลาดนัด

 

โอ๋เคยทำงานโรงงาน และเป็นแม่ค้าตลาดนัดในช่วงว่างจากกะ เราเป็นคนขยันทำนู่นทำนี่ ยิ่งทำหนี้ก็ยิ่งเยอะ เคยสงสัยตัวเองว่า ทำไมเราก็ขยัน แต่ทำไมยังมีหนี้เยอะ? เพราะการขายของทุกอย่างต้องลงทุน บางอย่างก็ได้กำไรบางอย่างก็ขาดทุน แต่เราหยุดไม่ได้ เพราะต้องเลี้ยงดู 4 ปาก 4 ท้องในครอบครัว เราต้องตะเกียกตะกายทำไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนเคยมีสินเชื่อมีเครดิตอยู่ในระบบได้ เราเคยใช้บัตรเครดิตเพื่อมาหมุนเวียนค่าใช้จ่ายดูแลครอบครัว จนชักหน้าไม่ถึงหลังทำให้เสียเครดิต ทำให้เราต้องไปพึ่งเงินนอกระบบ อยากบอกว่าดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือนก็ต้องเอา   

โอ๋เป็นคนไม่มีความรู้เรื่องการเงินเลย เพราะเราทำงานในโรงงาน เป็นแม่ค้าตลาดนัด เราเห็นพ่อแม่เราก็กู้ร้อยละ 20 แบบนี้ จนสุดท้ายเราก็เข้าไปอยู่ในวงเวียนร้อยละ 20 อยู่หลายปี 

กู้มาเจ้านี้ไม่พอจ่ายก็ไปเอาเจ้าใหม่มาจ่ายเจ้านี้เวียนไปเรื่อยๆ ที่เหลือก็เอามาลงทุนค้าขาย ทำไปทำมากิจการก็ไม่รอด ขนาดไม่ได้เลือกเจ้าหนี้หมวกกันน็อกหรือตามป้ายที่ติดตามเสาไฟ โอ๋เลือกแบบที่กู้รายวันจ่ายรายวัน สามวันจ่ายที เอามาทีละหมื่นสองหมื่น ยังไม่ทันหมดก็เจ้านู้นมา ก็เอาเจ้านี้มาโปะเวียนไป เรามีเงินนี้มาหมุนในบ้าน เราไม่ได้สุรุ่ยสุร่าย เงินที่ได้มาก็ให้เงินลูกไปโรงเรียนถึงเวลาต้องจ่ายค่าเทอม ต้องมีของไว้ขาย บางวันตลาดนัดฝนตกก็ของเสีย ขาดทุนขายไม่ได้ ชีวิตก็วนเวียนร้อยละ 20 อยู่แบบนี้ 

ตอนนั้นทำงานโรงงาน ถ้าไม่มีโอทีอยู่ไม่ได้นะ  เราเคยคำนวณค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ กินใช้ต่างๆ เราต้องมีรายได้ 40,000 บาทต่อเดือน แต่ทำจนไร้วิญญาณไม่มีวันหยุดก็ยังติดลบอยู่ดี    

 

โอ๋ต้องขอบคุณพี่ปุ๋ย พี่ภาส คนแปลกหน้าที่ทำให้ได้เจอธุรกิจแอมเวย์ ตอนนั้นที่เริ่มทำแอมเวย์ก็เป็นหนี้อยู่นะ พอขายของเสร็จก็ต้องให้อัพไลน์ช่วยโอนรายวันให้เจ้าหนี้นอกระบบทุกวัน อัพไลน์ก็สงสัย เลยบอกว่าเราเป็นหนี้นอกระบบอยู่ อัพไลน์เลยช่วยสอน ช่วยแนะนำวางแผนให้เราบริหารยังไง ท่านสอนให้โอ๋เขียนว่า ตอนนี้เราเป็นหนี้เท่าไร มีรายได้เท่าไร ใช้จ่ายในบ้านมีอะไรบ้าง เราต้องหาเพิ่มเท่าไรจึงจะพอ ภาระอะไรที่หนักที่เราโยนออกจากบ่าได้บ้าง คือเราไม่ควรแบกของหนัก ถึงขนาดโทรให้คนมาเอารถไปเลย เพราะเราไม่อยากแบกของหนัก เพราะเราส่งไม่ไหวแล้ว เราคิดว่ามีมอเตอร์ไซค์คันเดียวเราอยู่ได้ รถยนต์ไม่มีไม่เป็นไร ก็เอาให้ตัวเองรอดก่อน 

เราก็เริ่มวางแผน ได้รู้จักพี่เด้ง (คุณสาธิต-คุณสุพรรณี) และพี่ปุ๋ย อัพไลน์เราก็อยู่ในสหกรณ์ฟรีเทรด อัพไลน์ก็แนะนำให้ลองไปปรึกษาลองไปฝากเงินในสหกรณ์ดู ตอนแรกโอ๋ก็เข้าไปประชุมที่ตึกสหกรณ์ เห็นชั้น 2 ของตึกเป็นสำนักงาน อัพไลน์บอกว่าชั้นล่างคือสหกรณ์ของคนทำแอมเวย์นะ พอได้ยินคำว่าสหกรณ์ เรารู้สึกใจชื้น เพราะเราไม่สามารถมีเครดิตในระบบได้อีกแล้ว เพราะเราเสียเครดิตไปแล้วทั้งบ้านทั้งรถ ตอนนั้นอัพไลน์ก็สอนให้ออมเงิน เราสงสัยว่า จะออมยังไง ขนาดจะกินยังไม่พอเลย ตอนนั้นเราเรียนรู้ว่า ต้องมีเงินออม ถ้าเราไม่เริ่มต้นก็จะไม่ได้ทำ โอ๋เลยใช้วิธีสมัครสมาชิก และตัดเงินรายได้จากบัญชีแอมเวย์แบบอัตโนมัติเข้าบัญชีเงินออมของสหกรณ์เลย จะ 500 หรือ 1,000 ก็ต้องยอมตัดใจออม ไม่งั้นพอเงินออกมาก็จะใช้ 

ตอนนั้นเป็นหนี้นอกระบบเยอะ และเรารู้ว่าเราสามารถกู้ดอกเบี้ยถูกกว่าจากสหกรณ์ได้ เลยตั้งใจออมเรื่อยๆ  ไม่ต้องเห็นตัวเงิน เราต้องกัดฟัน เราต้องขยันทำมากขึ้น พอเราออมได้จนถึงช่วงเวลาที่เราสามารถรับความช่วยเหลือจากสหกรณ์ได้ เราก็เข้าไปปรึกษา ว่าเรามีหนี้นอกระบบเท่าไร เราก็ได้ใช้บริการรับความช่วยเหลือจากสหกรณ์ รู้สึกเหมือนเราอยู่ในถ้ำมืดๆ แล้วเห็นแสงสว่าง เราคิดว่าจะออกจากถ้ำร้อยละ 20 นี้ยังไงดี ซึ่งพอเราได้รับความช่วยเหลือจากสหกรณ์คือ รู้สึกโล่ง ใช้เวลาแก้ปัญหาหนี้สองปีค่ะ 

โอ๋ก็ทำธุรกิจแอมเวย์ มีน้องๆ ที่ตามเรามา เราก็แนะนำให้จัดการวางแผนตัวเอง ปรับตัวเองมาทำออนไลน์ เพียงเราเข้ามาเรียนรู้ มีอัพไลน์ที่ดีให้เราศึกษาเรียนรู้ จนประสบความสำเร็จ เหมือนเราได้ประกาศอิสรภาพและหนี้นอกระบบก็หมดไปด้วยค่ะ ก็ได้ไปเที่ยวกับอัพไลน์ที่ดูไบค่ะ 

ถ้าเรายอมแพ้วันนั้น ไม่ยอมหาทางออก ก็คงไม่มีอิสรภาพในวันนี้ เมื่อเจอปัญหา เราอย่าถามแต่ว่าทำไมเยอะ มันเหนื่อยมันจะวนเวียนปัญหาเดิมไม่เห็นทางออก แต่ควรตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไร” จะทำให้เราเจอคำตอบที่ถูกต้องค่ะ 

 

คุณสุวิทย์ กล่าวสรุปว่า ประสบการณ์ของคุณโอ๋ คงเป็นประโยชน์และให้แง่คิดกับสมาชิกและหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่เลือกแอมเวย์เป็นเครื่องมือสามารถนำไปปรับใช้ได้

คุณอ้อม สาวิตรี เห็นว่า จากแนวคิดที่คุณโอ๋แบ่งปัน ทำให้เราเข้าใจว่า เงินไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเงินได้ แต่ความรู้ด้านการเงิน จากการเชื่ออัพไลน์ เข้ามาเรียนรู้  ฝึกเก็บออม มีวินัย บวกกับความขยันที่มี  ทำให้คุณโอ๋ผ่านวิกฤตินี้มาได้ เป็นตัวอย่างที่ดีมาก 

 

โอ๋อยากฝากว่า การเป็นหนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นอิสระไม่ได้ เพราะเราอยู่ในธุรกิจแอมเวย์ มีอัพไลน์ให้เราปรึกษา คอยแนะนำช่วยเหลือเรา และในวิกฤตินี้ที่ทุกคนเจอพร้อมกันตอนนี้ โควิดทำให้เราระวังมากขึ้น และที่สำคัญคืออยากให้ทุกคนรักษาสุขภาพ เพราะสุขภาพที่ดี จะไม่ทำให้หนี้สินที่เรามียิ่งทับถมปัญหาให้เราอีก  สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ คือเราเอาสุขภาพมาสร้างเงินได้ แต่ถ้าไม่มีสุขภาพที่ดี ก็สามารถเอาทุกอย่างไปจากเราได้เหมือนกัน และที่สำคัญการวางแผนการเงินที่ดี ก็ทำให้เรารอดจากวิกฤติได้จริง

 

ปัญหาหนี้ในระบบ สินเชื่อบัตรเครดิต ประสบการณ์ตรงจาก คุณอุ๊ มุทิตา

  

อุ๊เคยทำงานบริษัทรับเหมาก่อสร้าง 10 ปี และย้ายไปทำบริษัทประกันวินาศภัยอีก 7 ปี ออกมาทำธุรกิจส่วนตัว 2-3 ปี และกลับไปทำงานบริษัทอีก 1 ปี จนได้มาทำงานที่สหกรณ์     ฟรีเทรด เราทำงานมาร่วมๆ  20 ปีค่ะ  พื้นฐานเป็นคนขยัน อดทน อดออม และประหยัดมากด้วย

เดิมนิสัยเราเป็นคนขยัน หาเงินเก่ง และออมเงินเก่งตั้งแต่เด็ก คุณแม่สอนเสมอว่า เงินหามายาก เราเลยรู้สึกว่าอะไรที่ได้มายากต้องเก็บออมหยอดกระปุก พอเราเริ่มมาทำงาน ตอนจบ ปวส. เงินเดือนเริ่มต้น 7,000 บาท มีคนเสนอบัตรเครดิตให้ 2 ใบ วงเงิน 20,000-30,000 บาท เราเป็นคนเก็บเงินเก่ง แรกๆ ก็ไม่ได้ใช้วงเงินนี้

พออยู่ไปเรื่อยๆ บัตรเครดิตมันใช้ง่าย ให้ความรู้สึกว่าทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ทุกทีเราต้องเก็บเงินและใช้ให้ชนเดือน แต่บัตรเครดิตมาแก้ปัญหาระหว่างเดือน ถ้าเราอยากได้ หรืออยากกินอะไร เราสามารถเอาเงินล่วงหน้าของอนาคตนี้มาใช้ก่อนได้ แรกๆ วินัยทางการเงินเราดี เราก็จ่ายบัตรเต็มจำนวนทุกเดือน ลองคิดดูว่าเงินเดือนไม่ถึง 20,000 แต่วงเงินบัตรให้ถึง 30,000 รายจ่ายไป ก็ไหลไปเรื่อยๆ ใช้ไปใช้มาวงเงินเต็มไม่รู้ตัวค่ะ จากจ่ายเต็ม เริ่มจ่ายขั้นต่ำบางบัตร เราคิดว่าไม่เป็นไรเพราะนิสัยเราทำอะไรต้องไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน เราก็ไปหางานใหม่ ที่ได้เงินมากกว่าเดิมอีกเท่าตัว คิดว่าต้องมีเงินเหลือ แต่เครดิตเราดีขึ้นอีก ไปเปิดบัตรเครดิตเพิ่มอีก 3 ใบ บัตรกดเงินสดอีก 2 ใบ และบัตรผ่อนชำระแบบอิออนอีกใบนึง รวมแล้ว 8 ใบ แต่ใช้จริงแค่ 2 ใบแรก 

รายได้รวมโอทีตอนนั้น 20,000 เพราะเราขยันทำเพิ่มๆ แล้วช่วงนั้นก็เริ่มรู้จักธุรกิจแอมเวย์และทำควบคู่งานประจำ รายได้ตอนนั้น 30,000 กว่าบาท คิดว่ามีรายได้ประจำและรายได้แอมเวย์ ก็มั่นคงแล้ว เราอยากมีบ้านให้แม่ ก็เลยกู้หนี้ธนาคาร เพื่อผ่อนทาวน์เฮ้าส์หนึ่งหลัง ผ่อนเดือนละ 6,000  เราจ่ายบัตรเครดิตเดือนละ 20,000  รวมกินใช้ก็พอดีพอกิน อยู่แบบนี้มากว่า 2 ปี มีน้อยใช้น้อยแต่ไม่มีเหลือออม ต่อมารายได้แอมเวย์อยู่ที่ 50,000 กว่า จู่ๆเราเลยคิดว่าออกจากงานดีกว่า พอออกจากงานปุ๊บทุกอย่างทดสอบเราเลย ผ่านไป 1 เดือน วิกฤติน้ำท่วมปี 54 บ้านทาวน์เฮ้าส์ท่วมชั้น 1 ไปเลย ต้องพาแม่ย้ายออก ตัวเราต้องไปเช่าบ้านอยู่ข้างนอก เราก็ตกงาน สมัยนั้นน้ำท่วมก็ไปหาลูกค้าไม่ได้ รายได้จากที่เคยได้ 10,000-20,000 จากแอมเวย์ลดลง เหลือ 5,000-6,000 แต่รายจ่ายประจำที่ส่งอยู่คือ 15,000-20,000 มีรายได้ 5,000 จ่าย 20,000 ตอนนั้นก็คิดว่าเราต้องหาทาง ง่ายสุดคือต้องหารายได้เพิ่ม ตัดภาระหนี้ก่อนจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ และพยายามขยันในแอมเวย์มากขึ้น และรับจ้างเพิ่ม ต้องเริ่มจ่ายบัตรขั้นต่ำ เราเรียนจบบริหารมา เราคิดว่าเราบริหารได้ เราขยันอดออม มีกินมีเก็บต้องไม่อดตาย แต่ไม่รวยค่ะ  เงินสำรองซึ่งเป็นเงินอนาคตไม่ใช่เงินของเรา เราควบคุมไม่ได้ เราเลยต้องเอาวงเงินบัตรเครดิตบัตรกดเงินสดทั้ง 8 ใบที่มี มาใช้หมดเลยตอนนั้น ยอดรวมประมาณ 120,000 บาท ใช้หมุนเวียนตรงนั้นและรายได้ไม่ถึงหมื่น เราถือว่าเราล้มละลายทางการเงินแล้ว เราตกหลุมพรางความสำเร็จแล้ว 

อุ๊คิดว่าบัตรเครดิตจะเป็นตัวช่วยให้เราสำเร็จ แต่เป็นเราไปเพลิดเพลินกับการใช้มัน เป็นหลุมพราง ที่เราบริหารจัดการไม่เป็น ซึ่งบัตรเครดิตที่แท้จริงเป็นความสามารถในการก่อหนี้ ไม่ใช่เงินของเรา เราคิดว่าเราจะจัดการได้ แต่บัตรเครดิตเหมือนคลื่นใต้น้ำ เหมือนสึนามิ มาถล่มเราเมื่อมีจดหมายทวงหนี้มาที่บ้าน ทำให้ทุกคนในบ้านรู้หมดว่าเราติดหนี้ จะไปยืมใครก็ยาก เพราะเครดิตเราเสีย วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดที่คิดได้คือเราเป็นหนี้ตรงไหน กลับไปแก้ตรงนั้น เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ เพราะการเป็นหนี้ไม่เคยทำให้เรามีความสุข เราจะกระวนกระวายตลอดเวลา เลยตัดสินใจไปเจรจา เพราะจดหมายมาถึงเราแล้ว 

เราถือคติว่า ไม่มี ไม่หนี แต่ต้องจ่าย แต่ต้องเจรจา ให้เท่าที่เราให้ได้ เราไม่ใช่คนดี แต่เราเป็นคนรับผิดชอบ เราก่อหนี้ส่วนบุคคลด้วยตัวเอง เราจึงต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง เริ่มจากเอาจดหมายต่างๆและไปปรึกษาขอความรู้ เพราะเราเคยคิดว่าเรามีความรู้ทางการเงิน แต่จริงๆ เราไม่มีเลย เราประมาทกับการใช้ชีวิตด้วยซ้ำ ที่เราคาดหวังอนาคตที่ความสำเร็จข้างหน้า แต่ไม่ดูว่าเรามีสำรองหรือมีอะไรป้องกันไว้ข้างหลังรึเปล่า เราก็ไปเจรจาผ่อนปรนหนี้ ว่าเราจะจ่ายขั้นต่ำมาแล้วเท่านี้ เราจ่ายไม่ไหว ขอปรับลดการจ่ายได้มั้ย เจ้าหนี้มีทั้งที่รับได้และรับไม่ได้ โดยเราต้องแสดงความจริงใจและความรับผิดชอบ ให้เห็นว่าเราทำตามคำพูดว่าเราจะจ่าย แม้จะน้อยแต่เราจ่ายไหวแบบนี้ คุณรับได้มั้ย แสดงความจริงใจที่อยากจะจ่ายคืนให้เขาเห็น เราตัดจบก่อนที่เรื่องจะไปถึงกระบวนการชั้นศาล เราก็พยายามจ่ายหรือพักหนี้สลับกัน ระหว่างนั้น ก็หางานเพิ่ม  ไปเปิดร้านข้าวไข่เจียวหน้าสหกรณ์ก็ทำ 

กำลังใจของอุ๊ในการสู้คือการมองไปที่คนข้างหลัง เพราะเราเสียคุณพ่อไป เราต้องการเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่เราทำพลาดเสียเองคนข้างหลังจะอยู่ยังไง 

ระหว่างนั้นเราได้รู้จักสหกรณ์ว่าเป็นการออมที่มีระบบ และให้ผลตอบแทนมากกว่า ระหว่างที่ทำแก้หนี้เราเคยใช้ด้วยออมด้วย ที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กเราทำแบบนี้เราก็รอด เราก็นำแนวคิดนี้มาใช้

เวลาหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วเดินเข้าไปที่สหกรณ์อุ๊ไม่กลัวว่าจะโดนปฏิเสธค่ะ เพราะตอนนั้นไม่ได้เดินไปหาสหกรณ์เพื่อไปขอกู้เงิน แต่เข้าไปเพื่อขอออม ขอสวัสดิการ เหมือนเป็นการประกันชีวิต เผื่อไว้ถ้าเราเดินไปถึงที่สุดเรื่องหนี้ แต่เราไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย เพราะถ้าเราตายคนข้างหลังลำบากแน่นอนเพราะเราสร้างหนี้ไว้เยอะ เราหาทางว่าทำไงให้เรารอดตายเลยเดินไปหาสหกรณ์ คือเข้าไปหาสหกรณ์ เพื่อขอให้เค้าช่วยเราเก็บให้หน่อย  เพราะการฝากในรูปหุ้นสหกรณ์ เราจะถอนออกมายาก  ถ้าจะถอนคือต้องลาออก เงินก้อนเราก็หาย สวัสดิการก็หาย ตอนนั้นที่เรามีหนี้ แม้เรามีเงินน้อยก็ตัดใจหัก 500 เข้าออมกับสหกรณ์ก่อนทุกเดือน ที่เหลือค่อยจ่ายหนี้ และเหลือไว้ใช้บ้าง แม้ว่าจะใช้หนี้ยังไม่หมดแต่เรามีกำลังใจมากขึ้น เราเริ่มวางแผนใหม่ คิดใหม่ ลงมือทำใหม่ 

เราเริ่มไปขายข้าวไข่เจียว จากที่เราเป็นลูกจ้างมืออาชีพใช้เงินง่าย กลายเป็น ทำให้เรามีสำนึกของความเป็นเจ้าของธุรกิจจริงๆ เพราะทำขายเท่าไหร่ได้เท่านั้นนี่คือเจ้าของ และขายข้าวไข่เจียวไม่อดตายแน่ๆ ก็เลยบอกเจ้าหนี้ทุกคนว่า เราพยายามจะใช้คืนให้อยู่นะ รอนิดนึง เจรจาทุกขั้นตอน แต่ถ้าถึงที่สุดจริงๆ ก็บอกเจ้าหนี้ว่าถ้าจะต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้บอกเราทันที เรายินดีตามเงื่อนไข เรารับสายเจ้าหนี้ทุกรายและคุยจนบางเจ้าเห็นความตั้งใจของเรายอมยกหนี้ให้บางส่วน หรือปิดหนี้ให้จากกำไรที่เคยได้จากเราไปแล้ว จากที่ไม่รู้เรื่องการเงิน จนเรารู้วิธีคิดคำนวณดอกเบี้ย อีกทางนึงเราต้องหางานที่มีรายได้มั่นคง

ตอนนั้นกลับไปได้งานประจำที่มีเงินเดือนมากขึ้น แต่ครั้งนี้ต่างออกไป จากเดิมไม่มีความรู้ ครั้งนี้เราวางแผนจดออกมาว่า เรามีรายจ่ายประจำอะไรบ้าง จ่ายหนี้เท่าไร ออมกับสหกรณ์เท่าไร ที่เหลือค่อยกินใช้ และเอาเงินกองนี้หารเฉลี่ย 30 วัน ตั้งเป้าเลยคือ ห้ามใช้จ่ายเกินวันละ 300 สิ่งนี่คือพาอุ๊รอดเลยในตอนนั้น พอใช้จ่ายแล้วถ้าเหลือ จะหยอดกระปุกเพิ่ม นอกเหนือจากออมกับสหกรณ์ 

อุ๊ถือเงินมาวันละ 300 ทุกวัน ให้รู้เลยว่าถ้าใช้เกินไม่ต้องกลับบ้าน หักดิบตัวเอง  ถ้าเงินไม่พอห้ามนำเงินในอนาคตมาใช้ พอผ่านเหตุการณ์ไปจนถึงวันนี้ อุ๊ก็ยังทำแบบนี้อยู่ คือกำหนดให้ตัวเองใช้จ่ายได้เท่าไร และให้น้อยลงด้วยซ้ำ คือ วันละ 200 ยังเหลือทุกวัน ต้องมีวินัยทางการเงิน

เหตุการณ์ที่ผ่านมา อุ๊รู้สึกเหมือนเราเกือบล้มละลายทางการเงินส่วนตัวแล้ว สามารถลุกขึ้นมาใหม่ได้ ด้วยการเปลี่ยนนิสัยทางการเงินใหม่  1)มีวินัยมากขึ้นกับการชำระหนี้และการใช้จ่าย ใช้ไป จ่ายหนี้ไป ออมไป ทำสามอย่างพร้อมกัน  2)วางแผน ติดหนี้ตรงไหนก็เจรจาตรงนั้น จนเราปิดบัตรเครดิตได้ทั้งหมดก่อนมาทำงานกับสหกรณ์ อุ๊ใช้เวลาช่วงที่แย่ 5 ปีเต็มในการคิดวนหาวิธีหาทางออก ช่วง 3 ปีแรกทรงๆ 2 ปีหลังเหมือนล้มละลายเลย และใช้เวลาอีก 3 ปีปิดหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด และต่อมาช่วยกันกับคุณแม่ปิดหนี้บ้านได้หมดแล้ว จนตอนนี้มีเงินเก็บเป็นเงินก้อนในสหกรณ์อย่างเดียวค่ะ 

 

ตอนนี้อุ๊มาทำหน้าที่เจรจากับสมาชิกสหกรณ์ที่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน เรามีความรู้สึกว่าตัวเราเองเห็นประโยชน์จากสิ่งที่เราเจอ และขอบคุณตัวเองที่ผ่านวิกฤติมาได้ หลายคนที่ประสบปัญหาอยู่ อาจจะไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่มีที่ปรึกษา หวังว่าคำบางคำบางประโยคจะช่วยให้เขาแก้หนี้และผ่านวิกฤติไปได้ พอมาเป็นเจ้าหน้าที่ แล้ว เราพยายามบอกสมาชิกว่า เวลาเป็นหนี้คือเราจ่ายดอกเบี้ยไม่มีดอกผลอะไรกลับมา  แต่ที่สหกรณ์ให้มากกว่า เพราะเมื่อเป็นหนี้และเราจ่ายหนี้ให้เป็นนิสัย เราจ่ายดอกเบี้ยแล้วยังมีเงินเฉลี่ยกลับคืนยังมีผลประโยชน์ตอบแทนกลับมาด้วย และที่สำคัญคือนิสัยการออมจะทำให้เรารอด อยากนำสิ่งนี้แนะนำสมาชิกสหกรณ์ ใครที่ยังไม่เคยทำกระบวนการนี้ อยากให้ลองดูค่ะ

 

    คุณสุวิทย์ กล่าวเสริมว่า เงินเป็นเรื่องแปลก เมื่อมีในกระเป๋าจะทำให้เรามีพลังพิเศษในการจับจ่ายขึ้นมา ตอนนี้เราไม่ได้พกเงินหมื่นในกระเป๋าแต่เราพกบัตรเครดิต ทำให้รูดใช้จ่ายง่ายๆ ทำให้มีปัญหา หลายคนในธุรกิจแอมเวย์ อาจจะไม่มีความรู้ทางการเงิน ตัวผมก็ไม่ใช่กูรูทางการเงิน แต่ได้มีความรู้เพิ่มจากการมาเป็นกรรมการทำงานสหกรณ์หลายปี พอมีความรู้จึงอยากนำมาแบ่งปันกัน จึงอยากให้ทุกคนมาหาความรู้ทางการเงินกัน

และอยากชวนท่านมาถกประเด็นกันว่า ทางรอด 3  ทางนี้ ทางแรกคือการเพิ่มเงินสด ดร.สุเมธา มีความเห็นอย่างไรในช่วงวิกฤติ

 

ช่วงวิกฤติ “สภาพคล่อง”สำคัญแค่ไหน โดย ดร.สุเมธา 

ดร.สุเมธา กล่าวว่า เงินมีความสำคัญต่อชีวิตเพราะเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน ถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีสิ่งมาแลกเปลี่ยนสิ่งของอย่างเช่นปัจจัยสี่ จากประสบการณ์ของน้องสองคน จะเห็นว่าอันดับแรกต้องจดงบการเงินออกมา แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจดรายรับรายจ่าย โดยเฉพาะคนเป็นหนี้มักหวังว่าจะดีขึ้นแต่ว่าดอกเบี้ยบานทุกวัน ไม่มีลด ดังนั้นการเพิ่มสภาพคล่องที่ดีที่สุดคือหารายได้เพิ่ม แบบที่คุณอุ๊ทำ และต้องมีวินัยเหนือการเงิน

ไม่ต้องรอวิกฤติแล้วจึงออม ต้องฝึกออมก่อนใช้ ให้ดีคือหักบัญชีอัตโนมัติก่อนเลย ที่เหลือค่อยใช้จ่าย จะทำให้เรามีวินัยการออมมากขึ้น

ช่วงเจ็บป่วย ยิ่งวิกฤตินี้เจ็บป่วยร้ายแรง เงินสดหรือสภาพคล่องเป็นสิ่งสำคัญ ควรต้องมีเงินสดออมไว้สำหรับการใช้ล่วงหน้า 3-6 เดือน ตอนนี้เราไม่ป่วยอาจไม่เห็นสำคัญ แต่เมื่อเราป่วยแม้เรามีสวัสดิการหรือประกัน ก็อาจจะไม่คุ้มครองเต็มที่ คนส่วนใหญ่เซ็นประกันโดยไม่ได้อ่าน เราต้องดูรายละเอียดให้ดี เวลาที่เราเจ็บป่วย การไม่มีสภาพคล่องไม่มีเงินสำรองเป็นเรื่องที่ลำบากและอันตรายมาก อย่างคุณณวัฒน์ เข้ารพ. 5 วันหมดเงินไป 5,500,000 กว่าบาท หากเรามีเงินก็จะมีเตียงให้เราอยู่ได้ ดังนั้นเมื่อมีวิกฤติกับชีวิตจำเป็นต้องใช้

ที่สำคัญเราต้องจัดระบบการเงินของตัวเองให้ดี เพิ่มเงินสดหาเงินเพิ่มทุกช่องทาง ลดรายจ่ายอะไรไม่จำเป็นตัดออกก่อน และใช้เวลามีค่า 

 

การใช้เวลาพัฒนาความคิดให้รอดในยุคนี้ โดย นพ.วัชรา

    ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องที่เราต้องมองไปข้างหน้า ถ้าเราถูกโจรปล้น โจรสามารถนำเงินในกระเป๋าเราไปได้ แต่ไม่สามารถเอาทรัพย์สินของเราไปได้ แต่ถ้าเราป่วย รพ.สามารถบอกให้เราขายบ้านขายทรัพย์สินได้

ดังนั้นการวางแผนชีวิต เราต้องคิดว่าถ้าเรามีวิกฤติทำงานไม่ได้จะทำอย่างไร เราจึงจะมีกระแสเงินสดเข้ามา ความมั่นคงคือกระแสเงินสดที่ไหลเข้ามาตลอดเวลา ไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินมากๆ เท่านั้น ซึ่งแผนธุรกิจแอมเวย์สามารถตอบโจทย์นี้ได้ก็จริง  แต่การวางแผนการเงินและความรู้ทางการเงินนั้นสำคัญ เหมือนที่คุณสุวิทย์และทุกท่านมาแบ่งปันในวันนี้ ผมโชคดีที่ผมมีโอกาสได้เรียนรู้การทำบัญชีจดรายรับจ่ายจากพ่อแม่ผม แม้ท่านไม่ได้เรียนสูง แต่ท่านเรียนบัญชีเพิ่มจนสามารถวางบัญชีบริษัทใหญ่ๆ ได้ และท่านไม่ลืมที่จะบริหารการเงินส่วนตัวของตัวเอง 

เมื่อผมรับราชการผมก็ใช้ชีวิตบนพื้นฐานความพอเพียง และผมยังได้คบหากับสุภาพบุรุษท่านนึงที่สอนผมมากเลย คือ คุณสมชาย ศิริมงคลรัตน์ ที่ทำให้ผมเห็นถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตเรียบง่ายและติดดิน ทำให้ผมรู้ว่าเราสามารถถ่อมตนได้มากกว่านี้อีก นอกจากนั้นท่านยังสอนการลงทุนว่า ต้องลงทุนจากเงินออมไม่ใช่เงินกู้ ให้เริ่มจากการมีรายได้แล้วจ่ายให้ตัวเองก่อน คือออมก่อน แบบไม่ต้องไปดูตัวเลข จนวันนึงเมื่อเงินก้อนนี้มีพลังมากพอ เมื่อโอกาสมา เรานำเงินก้อนนี้ไปลงทุนอะไรก็ได้ ในช่วงนี้ที่ราคาที่ดินร่วง ผมก็สามารถดูที่ๆ สวยๆ และนำเงินก้อนนี้มาลงทุนได้  นอกจากนี้เรายังออมทางวิธีต่างๆ ทั้งออมในสหกรณ์ การออมในที่ดิน และออมในรูปของประกันชีวิตแต่ไม่ได้คิดหวังพึ่งประกัน เพราะหากเราป่วยเป็นโรคร้ายจริงๆ เขาก็ให้เงินเราก้อนนึง ถ้าเราตายก็ให้อีกก้อนนึง ไม่ได้คิดถึงครอบครัวเราจะเดือดร้อนหรือเปล่า   

การที่เราอยู่ในธุรกิจแอมเวย์ เรามี Double security หลายชั้นเลย อยู่ที่เราบริหารจัดการการเงินของเราเป็นรึเปล่า อยากเตือนนักธุรกิจแอมเวย์ว่า อย่าโฟกัสรายได้มากกว่ารายเหลือ คุณเป็นมรกตก็อาจจะมีรายได้เหลือมากกว่าเพชรก็ได้ ถ้าเรารู้จักบริหารจัดการเป็น 

คุณหมอวัชรา ฝากทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราไม่สามารถทำอย่างเดิมได้ จำเป็นต้องทำอย่างใหม่ ปรากฏว่าสิ่งเราทำอย่างใหม่อาจให้ผลดีกว่าเดิม ดังนั้นอย่ามองการเปลี่ยนแปลงในแง่ร้าย ขอให้เราใช้ปัญญา และทรัพยากรของเรา ในการพยายามทำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งใหม่อาจดีกว่าสิ่งเดิมที่เราสูญเสียไปก็ได้

 

คุณสุวิทย์ สรุปกล่าวว่า การใช้เวลาที่มีค่า คือการใช้เวลาในวางแผนชีวิตในอนาคตท่ามกลางวิกฤติ เพื่อการบริหารจัดการอนาคตของเรา เราต้องมีสติ วิธีคิดที่ง่ายที่สุดคือเราต้องคิดว่ามันร้ายแรงที่สุดก่อน เพื่อเราจะได้เตรียมพร้อม นี่คือความไม่ประมาท 

ฝากทิ้งท้ายก่อนจากกัน ความแข็งแกร่งทั้งสามด้าน ทั้งสุขภาพ การเงิน และกำลังใจ ไม่มีใครทำแทนเราได้ เราต้องสร้างด้วยตนเอง เราต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเองได้ในทุกๆ ทางที่เราอยากทำ เราจึงสามารถใช้เวลาล็อกดาวน์ให้มีค่ามาก จากการวางแผนอนาคตของตนเอง

 

 

คุณสาวิตรี กล่าวในช่วงท้ายว่า “ตอนนี้ FTC มีนโยบายโครงการใหม่ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ใช้บริการสินเชื่อกับเราอยู่ สำหรับผู้เกิดปัญหาช่วงโควิด รายได้ลดลง เรามีตัวช่วยให้ท่านผ่อนชำระสินเชื่อน้อยลง ขอเพียงท่านติดต่อเข้ามาที่  FTC หรือทางไลน์ @freetrade นอกจากนี้เรากำลังจะมีรายการใหม่ ที่จัดเพื่อพบปะสมาชิกโดยเราจะมาตอบคำถามสมาชิกกันแบบถามมาตอบไปแบบสดๆ เลย อย่าลืมติดตามกันในเดือนหน้าค่ะ”

 

คำถามจาก Facebook และ  Zoom

 

Q:  จะยังใช้บัตรเครดิตได้มั้ย ถ้าเคยมีปัญหาเรื่องเครดิตและแก้ไขปัญหาเครดิตแล้ว

คุณสุวิทย์  : แนะนำให้ซื้อหนังสือความรู้ทางการเงินมาอ่าน เช่น ความรู้ทางการเงิน 101 ของคุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือหนุ่มมันนี่โค้ช ที่นำประสบการณ์จากการเป็นหนี้และแก้หนี้ของตัวเองมาแนะนำสอนผู้อ่าน ซึ่งดีมากๆ

ดร.สุเมธา   :     บัตรเครดิตใช้ได้ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าเรามีวินัยในการใช้เงินของเรามากแค่ไหน ควรจัดการงบการเงินและวางแผนชำระหนี้บัตรแบบรัดกุมเพื่อไม่เกิดปัญหา

 

ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้

    ฟังประสบการณ์ทางรอดพ้นหนี้ทั้งนอกระบบและในระบบของผู้ร่วมเสวนาในวันนี้แล้ว แอดเชื่อว่า เพื่อนๆ สามารถนำไปปรับใช้เป็นบทเรียนและตัวอย่างทางออกเพื่อช่วยให้รอดพ้นจากวิกฤติหนี้ได้ดีทีเดียว สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากปรึกษาในโครงการความช่วยเหลือใหม่ของสหกรณ์ สามารถติดต่อ FTC เพื่อขอรับคำปรึกษาได้ฟรี 

ก่อนจากกันแอดขอนำบทสรุป ชี้ช่องทางรอดในวิกฤติโควิด-19 ที่เริ่มทำได้ทันที 3 ช่องทาง 

1. ช่องทางเพิ่มเงินสด ใช้ศักยภาพตนเอง และเปิดโอกาสในการหารายได้เพิ่มทุกช่องทาง แบบถูกศีลธรรมและกฎหมาย 
2. ช่องทางลดรายจ่าย พิจารณาตัดรายจ่ายไม่จำเป็น อุดทุกช่องรูรั่วทางการเงิน
3.ช่องทางใช้เวลาสร้างคุณค่า ตั้งสติและจัดเวลาวางแผนพัฒนาตนเอง และแผนอนาคตทางการเงินเพื่อพาตนเองฝ่าวิกฤติไปให้ได้อย่างแข็งแกร่งขึ้น

 

    เพื่อนๆ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมกับผู้รู้ที่พร้อมเคียงข้างการเติบโตทางความคิด ในทุกมิติการเงินและสุขภาพ ผ่าน FTC Channel ทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น.  สำหรับท่านที่ชอบอ่านเรายังมีบทความสรุปประเด็นแต่ละสัปดาห์ทางเว็บไซท์ FTC อย่าลืมติดตามสิ่งดีๆ จาก FTC ด้วยนะ