ชีพจรการเงินในวิกฤตโควิด

โดย Admin T
 วันที่ 30 ก.ค. 2564 เวลา 15:45 น.
 1646

FTC Channel ชวนเช็คชีพจรการเงินในยุคโควิด-19  

 

พบกับช่องทางปลดล็อกความรู้ฝ่าวิกฤติช่วงล็อกดาวน์ทุกเช้าวันเสาร์กับ FTC Channel วันนี้ FTC เชิญผู้รอบรู้ด้านการเงินมาช่วยเพื่อนๆ วัดชีพจรการเงินในยุคโควิด-19 กับ นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ FTC ดร.สุเมธา โพธิ์ประสาท ที่ปรึกษา FTCและอดีตผู้บริหารธนาคาร คุณคมสัน สำราญเฟื่องสุข คณะกรรมการดำเนินงาน FTC คุณชมพลอย เศรษฐอนุกูล นักธุรกิจรุ่นใหม่ ดำเนินรายการโดย คุณสุวิทย์ พูลสุขเลิศ ประธานกรรมการการศึกษา FTC และคุณปานรัชนี เมฆพุ้ย เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ FTC ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และเกณฑ์ชี้วัดชีพจรการเงิน แบบไหนรอด แบบไหนร่วง ห้ามพลาด!

 

ชีพจรการเงินเริ่มแผ่วต้องทำอย่างไร? ประสบการณ์ตรงจาก คนรุ่นใหม่ โดยคุณชมพลอย 

ตอนนี้ชีพจรทางสาธารณสุขในบ้านเราเริ่มเต้นแผ่วลง แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือชีพจรการเงินช่วงโควิด เพราะหลายคนไม่ได้ออกไปทำงาน บางคนชีพจรอยู่ในโซนสีแดงจนถึงเป็นศูนย์ เรามาฟังประสบการณ์ตรงจากคนรุ่นใหม่อย่างคุณชมพลอย ว่าเจอวิกฤติการเงินอย่างไร ต้องแก้อย่างไร?  

 

พลอยเรียนจบวิศวะคอมพิวเตอร์ ม.เกษตร เริ่มทำธุรกิจแอมเวย์ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาค่ะ ช่วงเรียนไม่มีปัญหาเพราะยังได้รับค่าเงินจากคุณพ่อคุณแม่ 

 

“พอเรียนจบสิ่งแรกที่คุณแม่ให้พลอยทำคือ เปิดบัญชีฝากเงินกับ FTC เพราะคุณแม่อยากให้ลูกฝึกนิสัยการออม แต่พลอยไม่เคยคิดเลยว่า การเปิดบัญชีกับ FTC  จะช่วยให้พลอยรอดจากวิกฤติการเงินในภายหลัง”

 

พอเริ่มทำธุรกิจแอมเวย์มาระยะหนึ่ง ก็เริ่มเป็น 21% เริ่มมีรายได้ 50,000-60,000 บาท สำหรับเด็กจบใหม่ก็ถือว่าเยอะ จริงๆ ที่บ้านอยากให้เราทำบัญชีรับจ่าย ที่เซนเตอร์ก็สอน แต่รู้สึกว่ายุ่งยากเราก็ไม่ได้ทำ พอมีเงินเข้าเราก็ใช้ ที่สำคัญคือเราเป็นเหยื่อการตลาด ทาสโปรโมชั่น พอมีโปรที่อยากได้เราก็รูดบัตรเครดิต 0% ผ่อน 10 เดือน 3 เดือน เราก็รูดหมด แรกๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เริ่มมีรายจ่ายที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น และลืมไปว่าการทำธุรกิจส่วนตัว ไม่เหมือนการมีเงินเดือนที่รายได้แน่นอนเท่ากันทุกเดือน  บางเดือนได้น้อยบางเดือนได้มาก เริ่มประสบปัญหาคือบางเดือนหมุนเงินไม่ทัน ในหัวเราคิดแต่ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายบัตรเครดิตเดือนนี้ สมาธิในการทำธุรกิจก็เริ่มลดลง ได้โบนัสมาก็จ่ายบัตร เงินที่ได้จากลูกค้าก็เอามาจ่ายบัตร โชคดีที่ที่บ้านมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการจ่ายขั้นต่ำ เราเลยไม่เคยจ่ายขั้นต่ำ จ่ายเต็มจำนวนตลอดหรือทำ 0%

 

ถ้าเรานำบัตรเครดิตมาหมุนซื้อสินค้า แต่ปัญหาคือเราไม่ได้ทำบัญชี เราได้รับเงินจากลูกค้าแล้วไม่ได้แยกว่านี่คือเงินธุรกิจ หรือเงินส่วนตัว เรานำเงินนั้นไปใช้จ่าย หรือไปจ่ายบัตรส่วนของเดือนที่แล้ว ไม่ใช่ของยอดใหม่ที่เรารูด กลายเป็นเดือนหน้า ต้องหาเงินมาโปะยอดใหม่ เป็นวงจรดินพอกหางไดโนเสาร์ไปเรื่อยๆ สุดท้ายต้องพยายามหาแหล่งเงินจากที่ต่างๆ ทั้งยืมพี่ชาย เพราะไม่อยากให้คุณแม่รู้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุด และเกิดหนี้ใหม่อีก สุดท้ายยอมไปสารภาพบาปกับคุณแม่ เพราะเริ่มรู้ว่าเราจัดการไม่ได้ ถ้าปล่อยไปเราจะตกเป็นหนี้บัตรเครดิต ต้องจ่ายขั้นต่ำ เลยยอมสำนึกผิดถูกอบรม คุณแม่จึงให้เงินมาโปะปิดยอดบัตร และผ่อนจ่ายคืนคุณแม่แทน 

แต่หลังจากนั้นสิ่งสำคัญคือ พลอยเริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่าย จดบันทึกว่า แต่ละเดือนบัตรแต่ละใบใช้จ่ายเท่าไหร่ กำหนดให้งบสำหรับซื้อของจำเป็นแต่ละเดือนเท่าไร เรามีกำลังจ่ายคืนบัตรและคุณแม่เท่าไหร่ ซึ่งการจดบัญชีรับจ่ายในกระดาษไม่ง่ายไม่สะดวก สำหรับพลอยเลยเลือกจดในแอพลิเคชั่นผ่านมือถือ พอรูดบัตรเครดิตปุ๊บ ก็จดว่าซื้ออะไรหมวดไหน เพราะในแอพจะให้เรากำหนดงบว่า เราอนุญาตให้ตัวเองสามารถใช้จ่ายได้เท่าไหร่ นี่คือเงินส่วนตัว พอเราจดก็ทำให้รู้ว่า จริงๆ เรารูดบัตรไปแต่ละเดือนเยอะนะ แปบเดียวงบเราหมดเร็วมาก ถ้าถึงลิมิตงบหมด พลอยจะไม่ซื้ออะไรเพิ่มแม้ว่าโปรโมชั่นจะน่าสนใจแค่ไหน พอเราจดแบบนี้ ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น ไม่มีหนี้ใหม่เพิ่ม และจ่ายคืนคุณแม่ครบหมดแล้ว

 

สหกรณ์ FTC ยังช่วยชีวิตพลอยในช่วงที่มีปัญหา คือพลอยนำเงินที่ฝากส่วนนี้ออกมา ใช้ปิดหนี้บางส่วนด้วย ตอนแรกจะกู้จากหุ้นที่มี แต่คุณแม่ไม่เห็นด้วย จึงลาออกมา แล้วฝากใหม่ในชื่อน้องสาว

 

คุณสุวิทย์ เสริมว่า การฝากทุนเรือนหุ้นกับ FTC  หากจะถอนหุ้นทำได้วิธีเดียวคือการลาออกมาเลย หรือมีทางเลือกคือให้ใช้ทุนเรือนหุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันและกู้ออกมา ส่วนหุ้นที่มีอยู่ก็ยังได้รับปันผลเหมือนเดิม ทำให้เรามีทางเลือกและสามารถจัดการการเงินได้ไนช่วงที่จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ 

 

ตอนนี้ ชีพจรการเงินของพลอยถือว่าอยู่ในแดนบวกค่ะ พอเรามอนิเตอร์ การเงินของเราตลอดเวลา ทุกเดือนพลอยจะดูยอดหนี้สินเมื่อหักลบกับทรัพย์สินของตัวเอง ถ้าอยู่ในแดนบวก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือธุรกิจเรามาถูกทาง ถ้าเริ่มลดลงเราควรใช้วิธีอย่างไร ไม่ใช่แค่ลดรายจ่าย แต่ต้องเพิ่มรายได้ด้วย เราต้องตั้งเป้าว่าเราต้องมียอดธุรกิจเพิ่มโดยไม่ต้องใช้เงินตัวเองมาปิดยอดสินค้า เราแค่ต้องขยันเพิ่ม  ซึ่งที่จริงเราไม่จำเป็นต้องปิดยอดเลย แค่เราหาลูกค้าให้มากพอ

 

สำหรับมุมมองของพลอย สหกรณ์ FTC มีประโยชน์หลายอย่างมากค่ะ อันดับแรกเลยเป็นที่ๆ ให้เราฝึกนิสัยการออม ซึ่งเป็นนิสัยที่จะช่วยในยามเราเกิดปัญหา นอกจากนี้ สหกรณ์ FTC ยังเป็นที่พึ่ง ที่เราสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยที่ในขณะที่กู้ยังได้ปันผลด้วย ทำให้เราไม่ต้องไปหยิบยืมคนอื่น และการที่มีเงินเก็บนำมาฝากเป็นหุ้นกับสหกรณ์ก็ได้ดอกเบี้ยมากกว่าธนาคาร 

 

คุณสุวิทย์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เห็นได้จากประสบการณ์ตรงของคุณชมพลอย คือการมีที่ปรึกษาที่ดี ต้องปรึกษาผู้รู้ ที่ช่วยให้เราพ้นวิกฤติได้ 

คุณหมอวัชรา กล่าวเสริมว่า ฟังประสบการณ์ของน้องพลอยเป็นแง่คิดสำหรับคนรุ่นใหม่ได้ดีทีเดียว ทำให้เราหันมาจัดการวางระบบการเงิน ตอนนี้คนรุ่นใหม่ไม่ถนัดใช้สมุดจด ก็ใช้แอพลิเคชั่นอย่าง Money Lover จดบันทึกการเงินส่วนบุคคล หวังว่าสมาชิกทุกคนคงได้รับประโยชน์กับการแบ่งปันของน้องพลอยนะครับ

 

วัดชีพจรสัญญาณอยู่รอดที่ 1 “อัตราส่วนความอยู่รอด” กับอดีตผู้บริหารธนาคาร ดร.สุเมธา 

เมื่อเรามีวิกฤติ เราต้องหันกลับมาเช็คสัญญาณชีพทางการเงินของเราว่าอยู่ระดับไหน เหมือนการวินิจฉัยผู้ป่วยว่าอยู่ขั้นไหน โดยอันดับแรก ต้องอยู่รอดก่อน

สัญญาณการอยู่รอด คือ อัตราส่วนความอยู่รอด คิดจากรายได้ต่อเดือนหารด้วยรายจ่ายต่อเดือน หากมากกว่า 1 แสดงว่ารายรับมากกว่ารายจ่าย 

สัญญาณการอยู่รอดเป็นเพียงการเอาตัวเองรอดได้เท่านั้น แต่เรารอดแบบน้ำปริ่มจมูก เหมือนเราเจอโควิดรอบแรก แต่พอล็อกดาวน์รอบนี้เราอยู่ระดับไหน 

 

 

ดร.สุเมธา กล่าวว่า สัญญาณการอยู่รอดนี้จากเคสตัวอย่างที่ 1 อัตราส่วนความอยู่รอด เป็นบวก 1.1 แสดงว่ามีเงินเหลือ เมื่อดูจากรายได้ 20,000 บาท รายจ่าย 18,000 บาท ถือเป็นคนที่มีวินัยทางการเงินสูง หากเราตั้งโจทย์ให้เขานำเงินรายได้หักไปออมก่อน 10% ใช้จ่าย 16,000 บาทต่อเดือน ก็จะเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตทางการเงินของเขามากขึ้นอีก ดูข้อมูลนี้เราสามารถวิเคราะห์วินัยทางการเงินของเขาในเชิงลึกลงไปได้อีก หากเขามีเงินเหลือทุกเดือนก็มีแนวโน้มว่าจะยิ่งปลอดภัย

ในยุคที่มีวิกฤติสถาบันการเงินจะไม่ระดมทุน ดอกเบี้ยธนาคารจะต่ำ เงินฝากจะล้นจากคนที่มีเงิน ดังนั้นนี่อาจเป็นวิกฤติของคนบางคนแต่ไม่ใช่วิกฤติของทุกคน เราต้องเลือกว่าเมื่อมีวิกฤติ เราอยากอยู่ฝั่นไหน ซึ่งเราเลือกวางแผนได้ก่อน เตรียมการเรียนรู้และสร้างได้ก่อน แต่คน 95% เลือกที่จะทำอะไรเฉพาะหน้า ไม่มีการวางแผน ไม่เปิดรับโอกาส พอเกิดปัญหาก็จะเรียกร้องให้คนอื่นช่วยซึ่งยากมาก ดังนั้นทัศนคติต้องเปลี่ยนก่อน ต้องเรียนรู้ด้านการเงิน คนส่วนใหญ่เจอวิกฤติเพราะไม่เรียนรู้ ไม่เปิดรับโอกาส ไม่วางแผน  มีครูดีแต่ไม่เรียน มีหนังสือดีแต่ไม่อ่าน ก็ไม่มีประโยชน์ 

 

วัดชีพจรสัญญาณอยู่รอดที่ 2 “สภาพคล่อง”

ดร.สุเมธา กล่าว่า อัตราของสภาพคล่องดูจากการมีเงินเก็บเทียบกับหนี้ ดูจากเคสที่ 2 มีการวางแผน มีเงินออม ดังนั้นภาระหนี้ต่อเงินออมสูง ถ้ามีปัญหาถึงที่สุดสามารถหักเงินออมมาชำระหนี้ได้ และมีรายได้เข้ามาทุกๆ เดือนที่เป็นสภาพคล่องของเขาด้วย

 

คุณเบิ้ล คมสัน กล่าวเสริมว่า เมื่อเรามีปัญหาสภาพคล่องและยื่นเรื่องขอสินเชื่อสหกรณ์ฝ่ายสินเชื่อจะตรวจข้อมูลละเอียดมากๆ ทั้งอัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้ ทั้งตรวจเครดิตบูโรให้ด้วย เพื่อดูการเงินทั้งระบบของคุณ ซึ่งสมาชิกหลายคนกังวล ว่าหากยื่นข้อมูลทางการเงินให้ FTC อย่างละเอียด จะทำให้ไม่ได้สินเชื่อ นี่คือความคิดที่ผิดมากๆ 

 

การที่มีหนี้และต้องการสินเชื่อไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าอาย เราต้องกล้าที่จะเข้ามาปรึกษา  FTC  เหมือนเราเป็นโควิด อย่าปล่อยให้ลงปอด ต้องรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที

 

ในมุมของคนรุ่นใหม่เรามักจะพลาดเรื่องนี้ เวลาเราจะซื้อของ เราไม่เคยมองเงินในกระเป๋าว่าเรามีเงินพอสำหรับของนั้นรึยัง เช่น จะซื้อไอโฟน สักเครื่องละ 20,000  เรามองแค่เราผ่อน 0% 10เดือน เดือนละ 2,000 เราผ่อนไหว ถ้าทำแบบนี้เราต้องวางแผนว่านี่คือหนี้สินที่เราจัดการได้จริงๆ  ไม่ใช่ 2,000  1,000  500 จนเป็นหนี้เกิน 60-70% ของรายได้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาผ่อนบัตรไม่ทัน นี่คือภาวะที่อันตรายมากๆ 

 

ความปลอดภัยของการก่อหนี้ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้รวมก็จริง แต่ผมมองว่ายิ่งน้อยยิ่งดี หากช่วงต้นของการสร้างชีวิตเราไม่ก่อหนี้สินส่วนตัวจะดีที่สุด ถ้าเราใช้ 10 ปีแรกของการทำงานวางแผนทางการเงินให้ดี  หลังจากนั้นเราจะเติบโตและประสบความสำเร็จทางการเงินได้ง่ายและเร็วมากๆ เพราะเรามีต้นทุนแล้ว มองว่าพอผ่านไป 5 ปี 10 ปีนั้นเร็วมาก พอถึงเวลาตอนนั้นเงินเดือนคุณขึ้น ธุรกิจที่ทำก็เติบโตขึ้น มีรายได้เข้ามามากขึ้น และยังมีเงินเก็บ เงินฝากกับสหกรณ์ อยากจะลงทุนเพิ่มก็ทำได้สะดวก

แต่หากเราไม่เคยบริหารจัดการการเงินเลย จนติดลบต้องมาแก้ปัญหา อยากบอกว่าจากระดับธรรมดาไปสู่ระดับดี เมื่อเทียบกับการทำให้ระดับติดลบกลับมาเป็นบวกนั้นยากมากๆ และต้องใช้เวลา ดังนั้นพยายามทำให้อยู่ในระดับแดนบวกจะดีที่สุด   

 

การมีบัตรเครดิต จริงๆ มีประโยชน์มากและเราควรมีติดตัวไว้อย่างน้อยคนละใบ เพื่อใช้ในการทำธุรกิจ หรือกรณีเดินทางเกิดต้องเข้า รพ.ฉุกเฉิน ก็สามารถใช้บัตรรูดจ่ายได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น เบิ้ลอยากแนะนำวิธีที่มีประโยชน์และควรใช้เพื่อไม่ให้มีปัญหาหนี้บัตรเครดิต คือการเปิดบัญชีแยกไว้เพื่อเตรียมจ่ายบัตรเครดิต เมื่อเราใช้จ่ายทุกครั้งนอกจากต้องเก็บสลิปแล้ว ให้นำเงินโอนเข้าบัญชีเพื่อเตรียมจ่ายบัตรทันที หรือเราทำธุรกิจเก็บเงินจากลูกค้าแล้วเราแยกไว้อีกบัญชีเลย เพราะเงินตรงนี้ ยังไงเราต้องจ่ายอยู่แล้ว ดังนั้นช่วงที่เขาให้เครดิตเรา หากเราเอาเงินไปทำอะไรที่อาจเกิดความเสี่ยงที่เงินนี้จะลดลงซึ่งไม่ควร หรือที่ดีกว่านั้นหากเป็นไปได้ให้จ่ายเลยครับ แล้วเราจะไม่มีวันเดือดร้อนเรื่องบัตรเครดิตเลย

 

ดร.สุเมธา เสริมว่า การชำระหนี้บัตรเครดิตผ่านแอพลิเคชั่นทันทีดีที่สุดและยังสร้างสเตทเมนท์ในเครดิตได้อีกด้วย หลายท่านเข้าใจว่าการมีเครดิตเป็นเรื่องดี แต่ความจริงเครดิตคือคุณมีความพร้อมที่จะเป็นหนี้เขาเท่าไร ต้องเข้าใจใหม่นะครับ

 

อีกประเด็นคือ เงินสำรองฉุกเฉิน เป็นเงินสำรองที่เราสามารถใช้จ่ายได้ขณะที่รายรับของเราเป็นศูนย์ เราจะยังอยู่ได้กี่เดือน ในยุคนี้เรามี 6 เดือน หรือ 12 เดือนก็ได้ หมายความว่า ถ้าเรามีรายจ่ายรายเดือนเดือนละ 10,000 บาท เราต้องมี 60,000 หรือ 120,000 บาท เก็บไว้ในบัญชีที่เราจะไม่ไปยุ่ง ถ้ามีแบบนี้เราจะอุ่นใจ

 

วัดชีพจรสัญญาณอยู่รอดที่ 3  “สภาพคล่องพื้นฐาน” โดย ดร.สุเมธา

    อัตราสภาพคล่องพื้นฐาน คือ เงินเก็บหารด้วยรายจ่ายต่อเดือน ในเคสตัวอย่างนี้เขาจะใช้ได้ราว 6 เดือน   ผมชอบพูดถืงช่วงอายุเพราะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่น ช่วงวัยทำงาน ทางจิตวิทยาแรงงานพบว่า คนที่ตกงานมักจะหางานใหม่ได้ภายใน 3 เดือนได้ และถ้าเรามีเงินออม 6 เดือนก็จะพอดีที่เราจะไปต่อได้ นอกจากนี้ยังพบว่า เรามักจะหางานใหม่ได้ภายใน 3 เดือน แต่ที่เหนือกว่าคือเราจะหางานใหม่ล่วงหน้าได้ง่ายกว่าก่อนตกงาน ดังนั้นต้องเตรียมวางแผนไว้ตั้งแต่ยังมีงานทำ และที่สำคัญเงินออมก็ต้องมีไว้สำรองเมื่อฉุกเฉิน

 

 

วัดชีพจรสัญญาณอยู่รอดที่ 4 “หนี้สินต่อทรัพย์สิน” โดยคุณเบิ้ล คมสัน

อัตราส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สิน ผมมองว่าตัวเลขทางการเงินเป็นวิชาการเปิดดูในตำราได้ แต่ผมชอบมองที่บริบทจริงของชีวิต บางคนต้องรับภาระดูแลครอบครัวเยอะ ก็ขอให้ภาระหนี้เป็นอัตราส่วนที่เราสามารถจัดการได้จริงๆ คุณยังดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข 

 

ถ้าคุณกำลังจะมีหนี้สินเพิ่มแล้วในหัวคุณมีความคิดว่า “น่าจะไหว” ให้รู้ไว้เลยว่า นั่นคือ “ไม่ไหว” เช่น ทำงานมาสักพักอยากซื้อรถสักคัน เราคิดว่าถ้าประหยัดตรงนี้น่าจะผ่อนไหว นี่คือไม่ไหว แต่ถ้าป็นภาวะที่เราไหวชัวร์ ยังมีเงินเหลือสบายๆ แบบนี้โอเค

 

ถ้าจะมีอัตราหนี้เพิ่ม เราต้องมีการทำงบการเงินก่อน หากเราจะผ่อนอะไรเพิ่ม เราต้องสามารถบริหารจัดการได้ เราจะไม่พลาด ต้องอยู่ในภาวะที่เราไหว บริหารจัดการได้ และต้องสามารถมีความสุขในการใช้ชีวิตตามสมควรได้ด้วย นอกจากนี้ต้องมีช่องว่างที่อนุญาตให้สามารถทำข้อ 3 ได้ด้วย คือ มีเงินที่จะออมไว้สำรองฉุกเฉินได้ เพราะเงินสำรองฉุกเฉินนี้เป็นเงินก้อนที่สำคัญที่สุดแต่คนมักให้ความสำคัญน้อยที่สุด เพราะเรามักคิดว่าชีวิตเราไม่มีอะไรหรอก และก็จะใช้จ่ายไป เงินสำรองนี้ไม่ได้ไว้ใช้เมื่อตกงาน 3 เดือน 6 เดือนเท่านั้น แต่ถ้ามีเหตุวิกฤติฉุกเฉินในชีวิต เราก็ต้องนำเงินส่วนนี้ออกมาใช้ได้ จึงสำคัญมากๆ เราต้องบริหารให้มีตรงนี้ด้วย

 

ในเรื่องการเงินจะมี 5 ข้อหลักๆ คือ การหารายได้ การใช้จ่าย การออม การลงทุน และ เงินสำรองฉุกเฉิน คนส่วนมากมักอยากลงทุนให้เงินงอกเงย เราเลยไม่คิดเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน แต่โชคดีที่เราอยู่ใน FTC เมื่อเราวางเงินออมไว้ในสหกรณ์ FTC เงินเก็บออมนี้จะเป็นเงินลงทุนด้วย เพราะเราได้ปันผลที่สูงกว่าดอกเบี้ยธนาคาร ในขณะเดียวกัน เงินออมก้อนนี้เป็นเงินสำรองฉุกเฉินโดยอัตโนมัติ เพราะคุณสามารถเบิกถอนออกมาใช้ยามฉุกเฉินได้ ถ้าเราวางเงินออมถูกที่ จะได้ประโยชน์ถึง 3 ประการ

 

คุณสุวิทย์สรุปว่า หากเราต้องจ่ายหนี้เกินครึ่งหนึ่งของรายได้ถือว่าอันตรายแล้ว หลายคนอาจคิดว่าตอนนี้รายรับก็แทบไม่มี จะนำเงินจากที่ไหนมาออม ทางจิตวิทยาการเงิน เราพบว่าเราทำงานมีเงินเดือน แต่เราจ่ายให้คนอื่นหมด ทั้งค่าน้ำค่าไฟ ค่ารถต่างๆ แต่ไม่เคยจ่ายให้ตัวเองเลย ดังนั้นการออมคือการจ่ายให้ตัวเอง ถ้าคิดแบบนี้เป็นการให้กำลังใจตัวเองให้มีแรงออกไปสู้ต่อ ดังนั้นจะมากจะน้อยขอให้จ่ายให้ตัวเองก่อน ให้ได้ออมไว้ก่อนดีที่สุด

 

สัญญาณชีพการอยู่รอดที่ 5 การชำระหนี้ 

ดร.สุเมธา วันนี้เราได้เรียนเรื่องการบริหารจัดการที่ทางธนาคารเรียกว่า 5C เจ้าหนี้มองภาระหนี้ต่อรายได้ในมุมนายทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งเสริมให้คนสามารถกู้ได้ 70% คือมีรายได้ 100 บาท สามารถนำไปชำระหนี้ได้ 70 บาท สำหรับผู้มีรายได้ 50,000-100,000 ทำให้คนมีอำนาจการกู้เพิ่มขึ้น แต่จากงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ในชีวิตจริงการมีภาระหนี้สินไม่เกิน 40% ของรายได้ ชีวิตจึงอยู่ได้แบบสบายๆ เพราะค่าใช้จ่ายอาจสูงขึ้นจากเหตุไม่คาดคิด ถ้าไม่มีอะไรปกป้องไว้อาจอยู่ไม่ได้ ดังนั้นด้าน Character ต้องดูว่าเดิมมีการป้องกันอะไรในชีวิตอะไรไว้บ้าง ถ้าไม่มีเลย ถือว่าอันตรายมาก  

 

 

 

จากเคสตัวอย่าง มีหนี้สิน 100,000 รายได้ 20,000 อัตราการชำระหนี้ 20% ราวห้าเท่า ถือว่าปลอดภัย แต่ถ้ายิ่งเป็นผู้มีรายได้สูงยิ่งดี ถือเป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคาร ธนาคารจะคิดคำนวณจากการค้นคว้าวิจัยและสถิติเดิม ประเมินดอกเบี้ยจากความเสี่ยงและเงื่อนระยะเวลา คนที่รายได้สูงเครดิตดีความเสี่ยงต่ำมักจะได้ดอกเบี้ยต่ำ 

เวลาคนจะยื่นกู้กับคณะกรรมการเงินกู้ เช่น หากทำธุรกิจแอมเวย์มา 7 ปี จนมีรายได้เดือนละแสน เราพิจารณาว่าทรัพย์สินก่อนหน้านั้นในช่วงปีที่ 3-7 ห้าปีนี้มีทรัพย์สินอะไรบ้าง บ้าน รถ ที่ดิน มีการลงทุนที่ไหนบ้าง ถ้าไม่มีเลยจะกลับไปดู character ของคุณว่าเป็นคนแบบไหน ดื่มเหล้า เล่นพนันรึเปล่า ต้องแถลงให้หมด มีความสามารถที่จะชำระหนี้เท่าไหร่ มีเงินทุนสำรองเท่าไหร่ collateralหลักประกันต่อหนี้สินดูที่ทรัพย์สินที่นำมาค้ำประกันคุ้มหรือไม่ แล้วค่อยมาดูเงื่อนไขในการชำระหนี้เป็นอย่างไร วัตถุประสงค์ที่จะกู้เพื่ออะไร หากกู้เพื่อจ่ายหนี้ก้อนเดิม อาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาสู้ตัดวงจรหนี้เลยดีกว่า อย่างเคสน้องพลอยเป็นเคสที่ดีมาก คือยอมรับความจริง แล้วคุยกับผู้รู้ ปรึกษานายทุนที่สามารถช่วยได้ และเลือกที่จะตัดวงจรหนี้

 

สัญญาณชีพจรการเงินอะไร ที่เกิดขึ้นแล้วต้องระวังเข้าโซนอันตราย

 

ดร.สุเมธา มองว่า สัญญาณอันดับแรก สภาพคล่องของเราเป็นอย่างไรในภาวะแบบนี้ ดูว่าเราใช้จ่ายได้คล่องเหมือนเดิมมั้ย ถ้ามองโควิดระยะยาว วิธีการจัดการของเราควรทำอย่างไร ต้องพยายามลดรายจ่ายลง เรียนรู้วิธีทำธุรกิจใหม่แบบออนไลน์ตามที่บริษัทส่งเสริมอยู่ และเก็บเงินสำรองไว้ก่อน ต้องระมัดระวังตัวเก็บเงินออมไว้ ไม่จำเป็นไม่ก่อหนี้เพิ่ม ในสถานการณ์แบบนี้มีสติจึงมีสตางค์ เราต้องมีความวิริยะพากเพียรมากขึ้น ให้ความขยันใหญ่กว่าใจ เพิ่มเครื่องมือที่สองสามเข้าไป ช่วงนี้มีหน้าที่ทุ่มเท ทำให้ประสบความสำเร็จถึงเป้าหมายที่วางไว้ แล้วสุดท้ายเมื่อเราตั้งสติ มีวินัยในตนเอง เราจะได้ชีวิตที่ต้องการ 

 

คุณเบิ้ล คมสัน มองว่า ชีพจรการเงินของเราถ้าสังเกตง่ายๆ ดูจากเรื่องบัตรเครดิต สัญญาณคือหากเราเริ่มต้องจ่ายขั้นต่ำ แปลว่าเงินสดสภาพคล่องลดลง เริ่มต้องรูดบัตรเพื่อมาบริโภค นี่เป็นสัญญาณเตือนว่าเริ่มอันตรายแล้ว แนะนำว่าถ้าเราเขียนงบตั้งแต่ต้นเดือน เราเขียนทุกอย่างที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนก่อน เพื่อประเมินดูว่าเนื้อแท้ของกระแสเงินสดเรา การเงินของเราเป็นอย่างไร แบบนี้จะชัดมาก เพื่อที่เราจะไม่ตัดสินใจผิดพลาด

 

ผมเคยพูดเสมอว่า การจะประสบความสำเร็จทางการเงิน หลักสำคัญคือเราต้องมีความรู้  มีใจ มีมายเซ็ทด้านการเงินที่ถูกต้อง และขอเพิ่มอีกข้อหนึ่งคือ “มีสติ” ซึ่งสติสำคัญมากๆ ที่จะทำให้เราผ่านวิกฤตินี้ไปได้ 

 

วิกฤตินี้หากมองเป็นโอกาสให้ได้คิด พัฒนาตัวเอง เรียนรู้ฝึกทักษะใหม่ๆเพิ่มตลอดเวลา ถ้าเรามัวแต่รอคิดอาจไม่ทัน แต่ถ้าเราสู้เราสร้างตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อเราผ่านวิกฤติ สิ่งที่เราสร้างไว้ตอนนี้จะส่งผลมหาศาล

 

คุณสุวิทย์ ฝากทิ้งท้ายว่า ยามที่ท่านติดโควิด-19 ก็มีโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลต่างๆ คอยช่วยเหลือท่าน เวลาที่ท่านมีวิกฤติทางการเงิน FTC เป็นสถาบันที่ช่วยเหลือทุกท่านให้มีความแข็งแรงทางการเงิน ขอให้สมาชิกเละผู้สนใจทุกท่าน ติดต่อทาง FTC และคอยติดตามข่าวดีจากคณะกรรมการ FTC ทางเพจของเราด้วยนะครับ 

 

คำถามจาก Facebook และ  Zoom

 

Q:  ใช้แอปพลิเคชันอะไร ในการวางแผนการเงินจดรายรับรายจ่าย?

คุณหมอวัชรา : คนรุ่นใหม่ไม่ถนัดใช้สมุดจดรายรับรายจ่าย ตอนนี้ผมก็ใช้แอปพลิเคชัน Money Lover จดบันทึกการเงินส่วนบุคคล ใช้จ่ายอะไรก็จดได้เลย

 

Q:  เราจำเป็นต้องเตรียมเงินสำรองเพื่อซื้อสินค้าในการทำธุรกิจหรือไม่?

คุณเบิ้ล คมสัน : จริงๆ ทุกธุรกิจควรจะมีครับ แอมเวย์อาจเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องมีเงินลงทุนเยอะ การมีเงินสำรองก็ไม่ต้องอะไรมาก แต่ควรจะมีไว้บ้างในรูปเงินสด หรือบัตรเครดิต ในส่วนที่เราใช้สินค้าเองเราควรจะวางงบรายจ่ายในการใช้สินค้ารายเดือนล่วงหน้ามากน้อยแล้วแต่เรา 

 

Q: สนใจสมัครสมาชิก FTC แต่เป็นสมาชิกสหกรณ์ที่อื่นอยู่สามารถสมัครได้มั้ย?

คุณทับทิม : หากเป็นสมาชิกสหกรณ์ประเภทเครดิตยูเนี่ยนเหมือนกันจะสมัครไม่ได้เพราะสิทธิประโยชน์จะทับซ้อนกัน แต่หากไม่ใช่สหกรณ์ประเภทเครดิตยูเนี่ยน FTC ไม่ขัดข้องในการรับสมัคร แต่ต้องรบกวนสอบถามสหกรณ์ที่ท่านยังเป็นสมาชิกอยู่ว่าผิดระเบียบของที่นั่นหรือไม่

 

Q: สามารถสมัครสมาชิกทางออนไลน์ได้หรือไม่?

คุณทับทิม : สามารถยื่นเอกสารทางไปรษณีย์ได้ โดยติดต่อทางไลน์ของ FTC เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับไปเพื่อนัดหมายและตรวจเช็คเอกสารให้ ฝากจำนวนเริ่มต้นที่ 500 บาทขึ้นไปค่ะ และหากฝากเกิน 10,000 บาทต้องแสดงเอกสารหลักฐานที่มาของรายได้

 

ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้

    จากเช็คลิสวัดชีพจรทางการเงินจากผู้ร่วมเสวนาในวันนี้แอดเชื่อว่า เพื่อนๆ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเช็คว่าสัญญาณชีพทางการเงินของเราอยู่ระดับไหน  หากเข้าข่ายโซนสีแดงต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อ FTC เพื่อขอรับคำปรึกษาได้ฟรี 

ก่อนจากกันแอดขอฝากบทสรุป การรวบรวม 4 ลมปราณกระตุ้นชีพจรการเงินให้รอดในวิกฤติโควิด-19 

1. รวบรวมลมปราณสติ นำเช็คลิสทั้ง 5 มาตรวจสอบชีพจรการเงินของเราตามจริง และใช้สติในทุกการตัดสินใจ

2. รวบรวมลมปราณความกล้า หากไม่ไหวอย่าฝืน กล้าปรึกษาผู้รู้ช่วยชี้ทาง

3. รวบรวมลมปราณปัญญาและหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อสร้างทางรอด สร้างรายได้เพิ่ม

4. รวบรวมลมปราณวิริยะ มีวินัยในตนเองทั้งด้านการเงินและการงาน สร้างความสำเร็จใหม่ๆ เพื่อพาตนเองฝ่าด่านวิกฤติไปให้ได้


    เพื่อนๆ สามารถเรียนรู้ด้านการเงินเพิ่มเติมร่วมกันได้ผ่าน FTC Channel ทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น.  โดยสามารถรับชมย้อนหลังได้ นอกจากนี้สำหรับท่านที่ชอบอ่านเรายังมีบทความสรุปประเด็นแต่ละสัปดาห์ทางเว็บไซท์ FTC อย่าลืมติดตามกันนะ