สรุป ทางรอดในวิกฤติ โควิดเดลต้า+ล็อกดาวน์ เราจะใช้ชีวิตกันอย่างไร? จาก FTC Channel
เช้าวันเสาร์ท่ามกลางความน่าวิตกของสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งทะยานทะลุหลักหมื่นแบบนี้ FTC Channel ไม่รอช้า เชิญผู้รอบรู้ด้านสุขภาพอย่าง นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ FTC ภญ.ชลกร ครุฑสินธุ์ อดีตอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มศว. และ คุณสุวิทย์ พูลสุขเลิศ ประธานกรรมการการศึกษา FTC ร่วมพูดคุยแบ่งปันองค์ความรู้ในประเด็นสำคัญของวันนี้ “ทำอย่างไรให้อยู่รอด?” “หากติดแล้วต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?” ไลฟ์สไตล์แบบไหนที่จะพาเรารอดจากโควิดเดลต้า
ไปฟังกันเลย!
สายพันธุ์ เดลต้า คืออะไร
เรามาทำความเข้าใจก่อนว่าการกลายพันธุ์คืออะไร ก่อนอื่นต้องเข้าใจพื้นฐานว่าโปรตีน เกิดจากกรดอะมิโนเรียงตัวต่อกันเป็นสายยาว ซึ่งเกิดจากการแปรรหัสพันธุกรรม กรดอะมิโนหนึ่งตัวจะมีรหัสสารพันธุกรรม 3 ตัว และหนามของไวรัสก็คือโปรตีนเช่นกัน มีการแปรรหัสพันธุกรรม การกลายพันธุ์ คือรหัสพันธุกรรมของโค้ดเปลี่ยนไป ทำให้หน้าตาของกรดอะมิโนเปลี่ยน ทำให้หนามของไวรัสเปลี่ยนไป โดยปกติโค้ดรหัสพันธุกรรมของไวรัสเปลี่ยนได้ง่ายอยู่แล้ว แต่ที่ต้องพิจารณาและที่เรา กังวลกันคือ การกลายพันธุ์นั้นทำให้ความสามารถในการกระจายตัวของไวรัสเพิ่มขึ้นหรือไม่ ความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ เราสามารถตรวจเจอได้หรือไม่ และเกิดการติดเชื้อซ้ำได้หรือไม่ รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงมั้ย เพราะเราใช้สายพันธุ์เดิมมาผลิตวัคซีน
ส่วนสายพันธุ์เดลต้า คือ สายพันธุ์ที่ระบาดที่อินเดีย ทำให้เกิดการระบาดเร็ว แพร่เชื้อได้ง่าย และมีผลกับประสิทธิภาพของวัคซีน เนื่องจากวัคซีนที่ผลิตตัวแรก ผลิตจากเชื้อไวรัสที่เกิดการระบาดที่จีน ทำให้วัคซีนเชื้อตายอาจจะมีประสิทธิภาพไม่ดีนัก สำหรับการป้องกันสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์
ช่วงที่ 2 การตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยชุดตรวจ Rapid Test คืออะไร เลือกอย่างไร? โดยคุณเตย ภญ.ชลกร
Rapid Test หรือ ชุดตรวจแบบรวดเร็ว เป็นวิธีการสกรีนแบบคร่าวๆ ที่ประชาชนสามารถหาซื้อมาตรวจเองได้ หน้าตาคล้ายที่ตรวจครรภ์ ชุดตรวจมีสองแบบ คือ Antigen test ตรวจหาเชื้อ และ Anti-body test การตรวจหาภูมิคุ้มกัน โดยรูปแบบการตรวจที่อย. และกระทรวงสาธารณสุขให้ประชาชนใช้ตรวจได้คือ Antigen test เพื่อตรวจหาเชื้อ ไม่ใช่ตรวจแอนตี้บอดี้
Antigen test การตรวจหาเชื้อ ใช้วิธีตรวจโดยวิธีแยงจมูก โดยการจะตรวจพบเชื้อ ต้องดูจากปริมาณของเชื้อและระยะเวลาที่รับเชื้อ
Anti-body test การตรวจแอนตี้บอดี้ คือตรวจจากเลือด เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ การตรวจแอนตี้บอดี้จะต้องมีระยะเวลาที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น จึงไม่แนะนำในการตรวจคัดกรองเบื้องต้น แต่จะใช้ใน รพ.เท่านั้น
เหตุที่ Anti-body test ไม่เหมาะกับการตรวจ screening test เนื่องจากช่วง 0-5 วันแรก เป็นช่วงเชื้อยังฟักตัวอาจตรวจไม่เจอ ช่วง 5-14 วัน ถ้าใช้ Antigen test จะตรวจเจอโดยการแยงจมูก
ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น แบ่งเป็น IgM จะสร้างขึ้น 7 วันหลังติดเชื้อ (ปริมาณเชื้อลดลง) และ IgG จะสร้างขึ้น 14 วันหลังจากรับเชื้อ แปลว่าถ้าเรานำ Anti-body test มาตรวจในช่วงนี้อาจจะไม่พบเชื้อเลยก็ได้ โดยในจังหวะที่เชื้อเริ่มลดลง จึงจะพบแอนตี้บอดี้ทำงาน อาจหมายถึงเราเป็นแล้วหายแล้ว แปลผลไม่ได้แน่ชัดว่าอยู่ในระยะไหน ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลที่ไม่แนะนำให้ตรวจด้วยวิธี เจาะเลือดตรวจนั่นเอง
สรุปว่า ไม่แนะนำวิธีที่ใช้การเจาะเลือดตรวจเอง แต่แนะนำว่าควรตรวจคัดกรองโดยวิธีแยงจมูก สามารถลดความเจ็บโดยทำให้มีสารคัดหลั่ง มีน้ำมูกไหล และนำสารคัดหลั่งจุ่มลงในน้ำยา จากนั้นรอแปลผลราว 15-30 นาที (ขึ้นอยู่กับประเภทของชุดตรวจกำหนด) โดยผลที่ออกมา จะต้องมีขีดสองขีด คือ ขีด C (Control) ต้องขึ้นเสมอ ส่วนผลที่ได้ดูที่ T (Test) ถ้าไม่ขึ้นแปลว่า Negative แต่อย่าเพิ่งดีใจว่าไม่ติด อาจอยู่ในช่วงเชื้อฟักตัว ขอให้กักตัวอีก 3-5 วันแล้วตรวจใหม่ แต่ถ้าผลเป็น Positive คือขีด T ขึ้น แนะนำให้ไปร.พ. เพื่อตรวจยืนยัน Real time PCR (การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัส) อีกครั้ง โดยแนะนำว่าต้องกักตัวไว้ก่อนแม้ผลจะ Negative ก็ตาม
ความแม่นยำของชุดตรวจ Rapid Test จากการศึกษาในยี่ห้อที่ อย.รับรองพบว่าแม่นยำราว 90กว่าเปอร์เซนต์ ผลตรวจอาจจะเป็นผลบวกลวงหรือผลลบลวง (false positive / negative) ได้ หากพบว่าผลเป็น Negative จึงแนะนำให้ไป รพ. ตรวจยืนยันอีกครั้ง
ช่วงที่ 3 การแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดยคุณเตย ภญ.ชลกร
เนื่องจากเราต้องการเก็บเตียงรพ.สำหรับผู้ป่วยหนักที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และการดูแลใกล้ชิดจากแพทย์ กรณีที่เราไปติดต่อกับผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ การแยกกักตัวที่บ้านมีเกณฑ์พิจารณาดังนี้
- เหมาะกับผู้ที่สบายดีหรือผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ
- อายุน้อยกว่า 60 ปี
- อยู่คนเดียวหรือมีผู้พักร่วมไม่เกิน 1 คน
- ไม่มีภาวะอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง
โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานที่คุมไม่ได้ ฯลฯ
- ยินยอมแยกตัวในที่พักของตัวเอง
โดยการแยกกักตัวจำเป็นต้องติดต่อที่รพ.ก่อน เมื่อแพทย์พิจารณาว่าทำการแยกกักตัวที่บ้านได้ ก็สามารถนำอุปกรณ์มาใช้ตรวจอาการที่บ้าน และติดต่อเพื่อซักอาการโดยเจ้าหน้าที่ การแพทย์ทางไกล (Telemed)
วิธีการปฏิบัติตัวของผู้ทำ Home Isolation ต้องแยกที่พักอยู่ในห้องส่วนตัว งดการเยี่ยม และหากต้องออกนอกห้องจำเป็นต้องใส่แมสก์ทั้งตนเองและผู้ร่วมอาศัย โดยควรสื่อสารบอกคนในบ้านเมื่อจะออกจากห้อง แยกของใช้ส่วนตัวและของกิน ของใช้ชุดถ้วยชาม การทานอาหารให้นำมาส่งที่หน้าห้อง ไม่นำเสื้อผ้าของใช้ไป ซักทำความสะอาดรวมกับสมาชิกในบ้าน ควรเปิดห้องให้อากาศถ่ายเทแสงแดดส่องถึง และที่สำคัญควรแยกห้องนำ้ถ้าทำได้ เนื่องจากห้องนำ้เป็นที่ปิด เชื้ออาจฟุ้งกระจายได้ หากไม่สามารถแยกห้องน้ำได้ ควรเปิดให้อากาศถ่ายเทหลังจากใช้อย่างน้อย 30 นาทีก่อนที่คนถัดไปจะเข้าใช้ และทำความสะอาดจุดสัมผัสสำคัญบริเวณหัวก็อกน้ำ ที่กดชักโครก ลูกบิดประตูทุกครั้ง โดยใช้ขวดสเปรย์แอลกอฮอลล์ฉีดและเช็ดให้สะอาด หากมีเครื่องกรองอากาศควรนำไปวางที่ห้องของผู้ติดเชื้อ เป็นการกรองเชื้อที่อยู่ในห้องนั้น และควรเปิดให้อากาศถ่ายเทแสงแดดส่องถึง
ผู้ทำ Home Isolation ต้องสังเกตอาการตัวเองอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีผิดปกติ เช่น อาการไข้สูงทานยาแล้วไข้ไม่ลด มีอาการเหนื่อยหอบง่ายกว่าปกติ หรือตรวจวัดปริมาณ ออกซิเจนในเลือดด้วยเครื่องตรวจวัดที่ปลายนิ้วได้ค่าน้อยกว่า 96 ก็ควรรีบไป รพ.
ช่วงที่ 4 วัคซีน และการดูแลด้วยยาหรือสมุนไพรฟ้าทะลายโจร โดยคุณเตย ภญ.ชลกร
ฟ้าทะลายโจร เดิมอยู่ในบัญชียาสมุนไพรที่ใช้กันในกรณีที่เป็นไข้ ติดเชื้อหวัด เจ็บคอ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยมีการศึกษาวิจัย พบว่าในคนไข้กรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย สามารถช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้ จึงประกาศให้ใช้ได้เนื่องจากหาได้ง่าย
ขอเน้นย้ำว่า ฟ้าทะลายโจรไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด ดังนั้นการกินเพื่อป้องกันไม่มีประโยชน์
การรับประทานฟ้าทะลายโจร ให้ดูที่ข้างฉลากว่าสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ แอนโดแกรโฟไลด์ ปริมาณกี่มิลลิกรัม การทานสำหรับผู้ไม่มีอาการให้ทานให้ได้รวมกันได้ 60 มิลลิกรัม/วัน ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยแนะนำให้ทาน 180 มิลลิกรัม/วัน ทานติดต่อกันนาน 5 วัน โดยสามารถลดภาวะที่เชื้อจะลงปอด ลดการที่ไวรัสจะเกาะผนังเซลล์ ลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากกินฟ้าทะลายโจรแล้วไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์ ไม่ควรเพิ่มปริมาณโดสเอง ผู้มีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร ตามตำรับยามีฤทธิ์เย็นและลดความดันเลือดได้ ดังนั้นผู้กินยาลดความดันอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือผู้ทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ต้องระวังเมื่อทานฟ้าทะลายโจร
ช่วงที่ 5 ปรับมายเซ็ทให้รอดท่ามกลางวิกฤติโควิด โดย นพ.วัชรา
เราควรทำความเข้าใจสิ่งพื้นฐานที่ตอนนี้เรากังวลเครียดกับเรื่องวัคซีน ไม่วางใจวัคซีนที่เราได้รับ จึงเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ เกิดปัญหาความเครียด
เมื่อเรามาดูความจริงคือ วัคซีนทุกชนิดเป็นวัคซีนฉุกเฉิน และถูกผลิตขึ้นในห้วงเวลาและบริบทของการติดเชื้อที่ต่างกัน การด้อยค่าวัคซีนจีน ประเทศจีน 1400 ล้านคน ใช้ Sinovac, Sinopharm ทั้งหมด ตอนนี้จีนกลายเป็นประเทศความเสี่ยงต่ำแล้ว
ซึ่งตอนนี้ก็มีกระแส MRNA วัคซีน ซึ่งถือว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ผลกระทบเชิงร้ายที่พอรับได้ทั้งการเกิดลิ่มเลือดหรือกล้ามเนื้อกหัวใจอักเสบไม่มากจนหวาดผวา
ขอย้ำว่าผลของวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อเพียงแต่เมื่อติดเชื้อจะไม่แสดงอาการหรือ
ไม่เจ็บป่วยรุนแรง แต่สร้างความกังวลที่เราอาจเป็นผู้พาเชื้อไปติดผู้อื่นได้
ผมเองก็รับวัคซีน AZ ครบสองเข็ม และดูแลตัวเองทั้งออกกำลังกาย ทานอาหารทึ่ถูกส่วน ลดนน.ลดไขมัน ไม่มีโรคเสี่ยง ดังนั้นเราไว้ใจใครไม่ได้ แม้แต่ตัวเอง ต้องพยายามลดการแพร่กระจายเชื้อให้มากที่สุด และต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่อง เข้มงวดโดยภาครัฐ
ข้อมูลวันนี้ดีมาก ทั้งการกักตัว home isolation ที่ทำได้ทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ไม่ติดเชื้อ ทั้งแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้น และการนำความเสี่ยงออกจากตัวเรา ที่ต้องระวัง คือการ work from home ทำให้เรากินได้ตลอดเวลา ทำให้น้ำหนักเราขึ้น ทำให้สะสมไขมันในร่างกายเรามากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นที่เรา ต้องออกกำลังกาย และดูแลควบคุมการทานอาหารของตนเองเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง
คุณสุวิทย์ กล่าวฝากทิ้งท้ายว่า ข้อมูลการพูดคุยของเราวันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านและช่วยให้ท่านคลายกังวล คลายความเครียด เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งภายนอกได้ ดังนั้นเราเปลี่ยนตัวเรา เปลี่ยนในบ้านเราดีที่สุด เราพัฒนาความรู้ของเรา เรียนรู้การดูแลสุขภาพ นำสิ่งนั้นมาใช้เลยครับ โควิดเป็นการดิสรัปชั่นประชากรมนุษย์ ประชากรที่ไม่แข็งแรง มีโรคซ่อนอยู่ก็จะถูกเปิดเผยออกมา
วันนี้เป็นการเริ่มต้นที่เราจะมีมายเซ็ทที่ถูกต้องในการหันกลับมาดูแลตัวเองจริงๆ การหาความรู้ไม่จำกัดในมหาวิทยาลัย แต่ควรหาจากแหล่งองค์ความรู้ที่น่าเชื่อถือ แม้ไม่รู้ว่าจะเดินไปอีกไกลแค่ไหน แต่ FTC คือเพื่อนที่ท่านเชื่อถือวางใจได้ หากท่านใดที่เข้าสู่ภาวะตึงทางเศรษฐกิจสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของเราได้
ทาง FTC เป็นกำลังใจให้สมาชิกทุกท่าน เราต้องมีกำลังใจที่ดี ท่ามกลางวิกฤตินี้ จึงจะผ่านวิกฤติไปได้ด้วยกันทุกคน
คำถามจาก Clubhouse และ Facebook
Q: ความแม่นยำของชุดตรวจ Rapid Test อยู่ที่เท่าไร?
คุณเตย : ความแม่นยำของชุดตรวจ Rapid Test ในยี่ห้อที่ อย.รับรองพบว่าแม่นยำราว 90 กว่าเปอร์เซนต์ แต่หากพบว่าผลเป็น Negative แนะนำให้ไป รพ.ตรวจยืนยันอีกครั้ง
Q: ใครที่ควรใช้ชุดตรวจ Rapid Test?
คุณเตย : แนะนำว่าผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อยู่ในพื้นที่สีแดง หรือติดต่อกับผู้ติดเชื้อ หรือกรณีผู้ที่เริ่มมีอาการไข้ ปวดหัว น้ำมูกไหล เจ็บคอ คล้ายไข้หวัด และอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดความกังวลสามารถนำที่ตรวจแบบ Rapid Test มาตรวจดูก่อนเพื่อความสบายใจ หากสังเกตว่ามีอาการให้รีบไปรพ.ทันที ถ้าผลตรวจเป็นลบแต่ไม่แน่ใจหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง และต้องการตรวจซ้ำ ควรทำหลังจากตรวจครั้งแรก 3-5 วัน เพื่อให้เลยระยะเวลาฟักตัวของเชื้อ
Q: การรับวัคซีน สามารถทานอาหารเสริม อาทิ น้ำมันปลาได้มั้ย?
คุณเตย : ทานได้ รวมถึงยาโรคประจำตัวที่ทานอยู่ก็ทานได้ตามปกติ
Q: เครื่องกรองอากาศช่วยได้มั้ย?
คุณหมอวัชรา : ช่วยได้ในส่วนของเชื้อที่อยู่ในอากาศ แต่ส่วนต้องระวังเชื้อที่เปื้อนที่ลูกบิด คือผิวหนังที่เปื้อนสารคัดหลั่งของเราเองทั้งน้ำมูกน้ำลายที่จะเป็นตัวแพร่ระบาด ต้องระวังให้มาก
ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้
จากองค์ความรู้และข้อมูลสุขภาพอัพเดทจากผู้ร่วมเสวนาในวันนี้ แอดเชื่อว่าทุกคนคงคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดเดลต้าไปได้มาก แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมนำไลฟ์สไตล์สุขภาพดีที่ช่วยลดความเสี่ยงโควิด-19 ที่วิทยากรของ FTC ฝากไว้ไปปรับใช้กัน สรุปมาสั้นๆ ทำตามง่ายๆ หายห่วง!
1. เพิ่มภูมิคุ้มกันความคิดจิตใจ อัพเดทความรู้เสมอและรับข้อมูลแบบไม่กังวลกับข่าว หรือเรื่องวัคซีนจนเกินเหตุ
2. ใส่ใจเสาหลักสุขภาพ ทั้งสารอาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกาย อากาศ และอารมณ์ให้สมดุลอยู่เสมอ
3. ตรวจเชื้อด่วนเมื่อสงสัย โดยเลือกใช้ชุดตรวจ Rapid Test แบบ Antigen-Test อย่างถูกต้อง
4. กักตัวที่บ้านอย่างอุ่นใจ โดยทำตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด สังเกตอาการตนเอง และสื่อสารกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่การแพทย์อย่างต่อเนื่องจนครบกำหนด
5. ลดความเสี่ยงการรับและแพร่เชื้อ ใส่แมสก์ ล้างมือให้บ่อย และอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
หากเพื่อนๆ อยากได้ข้อมูลความรู้สุขภาพดีแบบอัพเดท พร้อมได้เคล็ดลับ การบริหารสุขภาพการเงินให้แข็งแรงจากผู้เชี่ยวชาญที่คัดสรรมาแบ่งปันความรู้ทุกสัปดาห์ อย่าลืมติดตามช่องทางดีๆ กับ FTC Channel ทุกวันเสาร์ เวลา 10.00-11.00 น.