FTC TALK EP.37 : อยากรวย ต้องเปลี่ยนนิสัยนี้

โดย Admin T
 วันที่ 10 มี.ค. 2565 เวลา 15:37 น.
 1233
สรุปการเสวนา
FTC TALK  EP.37  : อยากรวย ต้องเปลี่ยนนิสัยนี้
 
          รายการ FTC Talk ประจำวันเสาร์ ที่ 5 มีนาคม 2565 ได้รับเกียรติจาก คุณสายพิณ ตรีกิตติวัฒน์ อดีตทนายความ, นักจัดรายการวิทยุ และวิทยากรอบรม ปัจจุบันท่านดำรงเป็นคณะกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 18 ของ FTC มาแบ่งปันแง่คิดใหม่ๆในเรื่องการเงิน ในหัวข้อ “ อยากรวยต้องเปลี่ยนนิสัยนี้ ! ”
 
คนจนและคนรวย ต่างกันที่ Mind Set
มีวิถีของการเดินทางคนละเส้น คนละแบบกัน
  • คนรวย จะมี Mind set ที่ทำทุกอย่างที่เป็นเรื่องของการสร้างชีวิตและสร้างอนาคต โดยก่อนจะใช้เงินคนรวยจะคิดก่อนเสมอ ว่าจะใช้ไปกับอะไร
  • คนจน จะมี Mind  set ที่หากมีเงินจะนำเงินไปเสพสุขกับสิ่งใด โดยจะนำไปอุปโภค บริโภคมากกว่าที่จะนำไปลงทุน
คนในโลก มี 3 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะมี Mind set ที่แตกต่างกัน
กลุ่มที่ 1 รายได้กับรายจ่ายเท่ากัน คนกลุ่มนี้จะมีวิกฤตชีวิตไม่ได้เลย เพราะไม่มีเงินสำรอง
กลุ่มที่ 2 รายจ่ายเกินรายได้ ต้องพยายามตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือต้องพยายามเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น
กลุ่มที่ 3 รายจ่ายน้อยกว่ารายได้ จะต่างกับ รายได้มากกว่ารายจ่าย  เพราะจะมีคนประเภทหนึ่ง ที่พอรายได้มากกว่าจะขยับรายจ่ายตามขึ้นมาทันที เช่น เมื่อโบนัสออก
            - คนที่มี Mind set จน จะใช้เงินไปกับการเดินห้างสรรพสินค้า เพื่อซื้อสินค้าหรือ Shopping ต่างๆ ดังนั้นลักษณะแบบนี้ คือ การปรับความเป็นอยู่ให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับรายได้ เช่น เปลี่ยนรถ เปลี่ยนที่พักอาศัย ซึ่งเป็น Mind set ที่ไม่มีทางรวย
-  คนที่มี Mind set รวย จะเก็บเงินโบนัสไว้  แล้วนำไปพิจารณาในการชำระค่าบ้าน  เพื่อให้การชำระจบเร็วกว่ากำหนด หรือนำเงินดังกล่าวไปลงทุน ซื้อหุ้น กองทุนต่างๆ

 
จะทำอย่างไร ให้ รายจ่ายน้อยกว่ารายได้ และจะทำให้เกิดผลดีอย่างไร
  • ปลูกฝังนิสัยกินอยู่ต่ำกว่าฐานะเสมอ
คนโบราณจะปลูกฝังนิสัยของการมัธยัสถ์ อดออม จึงมีทรัพย์สินตกทอดมาให้ลูกหลาน แต่คนปัจจุบันส่วนใหญ่กินอยู่สูงกว่าฐานะเสมอ ดังนั้นควรทำรายจ่ายให้ต่ำกว่ารายได้เสมอ  แล้วเราจะอยู่แบบมีความสุขในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
วงจรของคนจน
- วิ่งหางาน วิ่งหาเงิน ทันทีที่ได้งานและเงินมา จะมีลักษณะได้มาพร้อมกับความเหนื่อย จึงเกิดความเครียด เพราะเมื่อมีอารมณ์เหนื่อย จึงคิดว่าต้องให้รางวัลตนเอง เช่น การไปเที่ยว พอกลับจากเที่ยว เงินเดือนหรือเงินที่มีอยู่หมด ต้องกลับมาหาใหม่ จึงเป็นวงจรที่วนอยู่แบบนี้ จะแตกต่างจากวงจรของคนรวยที่จะศึกษาวิธีการหาเงิน แต่ถ้าวันนี้เปลี่ยนจากหาเงินที่ได้มา  จากเดิมที่เคยนำไปให้รางวัลตัวเอง เปลี่ยนเป็นนำไปลงทุน หรือนำไปออม เงินนี้จะงอกเงย แล้ววันหนึ่งจะหลุดจากวงจรนี้ แต่ถ้ายังหาเงิน สร้างหนี้ อยู่แบบนี้จะไม่มีวันหลุดออกจากกองหนี้ได้เลย

อารมณ์ กับ เงิน เป็นเรื่องเดียวกัน
- คนที่อารมณ์มั่นคง จะไม่ใช้เงินโดยที่ไม่ผ่านการคิดก่อน จะต้องคิดว่าก่อให้เกิดรายได้หรือไม่
- คนที่อารมณ์เป็นลบ จะใช้เงินแบบขาดสติ เพราะอารมณ์ลบทำให้ขาดสติ ทำให้สร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมา
วิชาใช้งานไม่ต้องเรียน แต่วิชาหาเงินต้องเรียน
 

วงจรของคนจน ที่ถ้าได้ก้าวขาเข้าไปแล้วจะหลุดออกมายาก 
1. สายการพนัน Online 
2. กู้นอกระบบ  เพราะจะก่อปัญหายืดเยื้อ
3. การจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ
 
การประเมินความมั่นคงทางรายได้
ปัจจุบันทุกๆงาน ถือว่าไม่มีความมั่นคง เพราะกระแสต่างๆ ถูกปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ตามช่วงเวลาและสถานการณ์ต่างๆ โดยลักษณะของรายได้จากอาชีพต่างๆก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ต่างๆด้วยเช่นกัน
  • พนักงาน ลูกจ้าง บริษัท องค์กรต่างๆ หากกรณีเกิดวิกฤตขึ้น แล้วยังมีภาระต่างๆที่ต้องดูแลและรับผิดชอบอยู่ ควรมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนเอง หรือ Paysafe ไว้ก่อนหน้า 6-12 เดือน
  • งาน Freelance เป็นงานที่ไม่ผูกสัญญาว่าจะได้รับเงินทุกเดือน มีงานได้เงิน ไม่มีงานไม่ได้เงิน และในสถานการณ์โควิด-19 ในตอนนี้ ทำให้กระทบกับหลายๆวงการ เช่น วงการบันเทิง วงการท่องเที่ยว เป็นต้น
  • เจ้าของกิจการ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 บางกิจการได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องลดจำนวนคนงานลง หรือต้องเปลี่ยนกิจการไปทำอย่างอื่นแทน เพื่อลดภาระที่เจ้าของกิจการต้องรับผิดชอบ
ดังนั้นครอบครัวเดียวกัน จึงไม่ควรทำงานที่อยู่ในองค์กร หน่วยงาน ธุรกิจ อาชีพ เดียวกันทั้งครอบครัว  เพราะหากเกิดวิกฤตจะทำให้ลดความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นั้นๆ และไม่ควรประกอบอาชีพเพียงอาชีพเดียว ดังนั้นอาชีพที่ 2  จึงเป็นอะไหล่สำรองที่สำคัญหากเกิดวิฤตในชีวิต เพราะวิกฤตทางการเงินอาจมาจาก
1. รายได้หายไป เช่น ตกงาน
2. วิกฤตโควิด-19 กระทบ ทำให้อาชีพที่ทำอยู่ไม่สามารถทำต่อไปได้
3. วิกฤตสงครามที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลกระทบทั่วโลก
4. วิกฤตสุขภาพ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะแก้ได้ด้วยการดูแลสุขภาพตั้งแต่เบื้องต้นก่อนที่จะป่วย
 
อย่าแก้หนี้ด้วยหนี้
นำเงินที่มีอยู่ไปสร้างให้เกิดเงินเพิ่มขึ้น เช่น นำไปลงทุนที่จะทำให้เกิดผลตอบแทน โดยอาจเปลี่ยนจากการเล่นหวย ซึ่งมีความน่าจะเป็นน้อยมากที่จะก่อให้เกิดผลตอบแทน เป็นการนำเงินไปซื้อสลากออมสินหรือ ธกส. เก็บไว้ แม้จะให้ผลตอบแทนไม่มาก แต่ไม่ก่อให้เกิดหนี้สินเพิ่ม เพราะการซื้อหวยและการซื้อกล่องสุ่มในปัจจุบัน  ถือเป็นสิ่งที่เรายอมถูกเอาเปรียบอย่างเต็มใจตั้งแต่ก้าวแรกที่ก้าวเข้าไป
 
คำถามจากทาง Facebook
Q : ถ้าให้เริ่มเปลี่ยน จะเริ่มจากตรงไหนก่อนดีคะ ด้านการเงิน
คุณสายพิณ :
  • เริ่มจากจดภาระทั้งหมดที่มีอยู่ โดยวิธีการปิดหนี้ ให้ปิดหนี้ตัวที่ดอกเบี้ยสูงก่อน ตัวที่ดอกเบี้ยน้อยปิดทีหลัง
  • อย่าก่อภาระหนี้ใหม่ เพราะในตอนนี้ไม่มีใครสามารถการันตีรายได้ให้เรา ฉะนั้นเราต้องเป็นคนระมัดระวังรายจ่ายของเราเอง เพราะวิกฤตชีวิตนั้นมาได้ในทุกทิศทาง ให้ลองตั้งโจทย์ว่า สมมติวันนี้เงินเดือนลดลง 30%  เราจะดำรงชีวิตต่อไปอย่างไร ?  ถ้าเราอยู่ได้ ให้เรานำเงิน 30% ที่หายไปนั้น ฝากเข้าบัญชีไว้ หรือเอาเก็บไว้เป็นกองทุนยามวิกฤต หรือนำไปลงทุนในกองทุนรวมที่เราศึกษามาอย่างดีแล้ว รวมถึงระมัดระวังหนี้ที่ไม่ได้ก่อ เช่น หนี้ค้ำประกัน, หนี้อุปถัมภ์, ไม่ซื้อของที่ผูกพันในระยะยาว อาทิเช่น บ้าน รถ โดยต้องคำนึงถึงความจำเป็น และต้องดูความสามารถในการผ่อนชำระก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ
 
 “ ไม่มีเรื่องใดแก้ไขไม่ได้ในโลกนี้ ทุกเรื่องแก้ไขได้เมื่อเราหันหน้าเข้าไปเผชิญหน้ากับมัน ทุกเหตุในชีวิตของเรามันมีที่มา  ผลเกิดแต่เหตุ  เมื่อเราหันกลับไปดูแล้ว เราสาวไปที่สาเหตุ แล้วแก้ที่ต้นเหตุ  เมื่อเราแก้ต้นเหตุจบ ผลมันก็จบ ’’
 
          บางครั้งถ้าเรามีภาระหนี้ที่ล้น อาจจะต้องยอมสละบางอย่าง เพราะฉะนั้นการแก้หนี้จึงไม่ใช่การสร้างหนี้ใหม่ แต่คือการที่ต้องยอมตัดภาระที่เกินจำเป็นออก และควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง แล้วนำศักยภาพนั้นออกมาใช้ ทั้งทางด้านความรู้ ความสามารถต่างๆ ภายใต้พื้นฐานของความสุจริตเป็นที่ตั้ง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง แล้วนำไปผ่อนเบาภาระหนี้ต่างๆลงได้