ความรู้พื้นฐานภาษีนิติบุคคล

โดย Admin T
 วันที่ 23 ก.ย. 2564 เวลา 15:44 น.
 1255

สรุปประเด็น FTC Channel : ความรู้พื้นฐานภาษีนิติบุคคล

 

เช้าวันเสาร์สบายๆ แบบนี้ FTC Channel ชวนเพื่อนๆ มาอัพเกรดความฉลาดทางภาษีเพื่อรองรับธุรกิจที่เติบโตและต่อยอดความสำเร็จในหัวข้อ “ความรู้พื้นฐานภาษีนิติบุคคล” จากผู้รู้มากประสบการณ์อย่าง นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ FTC คุณรณฤทธิ์ นาที คณะกรรมการ FTC และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี ดำเนินรายการโดย คุณสุวิทย์ พูลสุขเลิศ ประธานคณะกรรมการศึกษา FTC และคุณพฤกษาทิพย์ รัศมีฉาย เจ้าหน้าที่ FTC สำนักบริการสงขลา ร่วมอัพเดทความรู้ที่นักธุรกิจทุกคนต้องรู้ก่อนก้าวสู่ความเป็นนิติบุคคล

 

ช่วงแรก  ภาษีเรื่องจำเป็นต้องรู้สำหรับนักธุรกิจ โดย นพ.วัชรา

การให้ความรู้เรื่องภาษีได้รับความสนใจจากสมาชิก FTC อย่างมาก ผู้รู้และไม่รู้ภาษีล้วนมีสิทธิในการต้องเสียภาษีเท่ากัน เพราะภาษีเป็นเรื่องที่ติดตามเราทุกย่างก้าว สำหรับผู้ไม่เคยเสียภาษี ถึงเวลาแล้วที่ต้องเรียนรู้อย่างจริงจัง  สำหรับผู้ที่เลี่ยงภาษี ผมว่าหมดสมัยแล้วที่จะทำแบบนั้น เพราะกรมสรรพากรไทยมีระบบ AI ที่ทันสมัยที่สุดในโลก สามารถติดตามข้อมูลได้ทั้งสิ้น หากคุณมีรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคุณต้องเสียภาษี ไม่ว่ารายได้จากการจับฉลาก ชิงโชค มรดก หรือผู้มีเงินฝากในธนาคาร หากมีธุรกรรมเกิน 3000 ครั้งต่อปี ธนาคารต้องส่งรายงานให้สรรพากร

หรือหากมีการทำธุรกรรมเกิน 400 ครั้งต่อปี มีเงินโอนต่อปีเกินสองล้านบาท ทางธนาคารต้องรายงานต่อสรรพากรเช่นกัน แม้ว่าคุณมีสิทธิ์ไม่ให้ธนาคารรายงาน แต่สรรพากรก็มีวิธีมาจัดการอยู่ดี ดังนั้นทุกเรื่องรายรับรายจ่ายของเราทุกคน อยู่ภายใต้การดูแลของกรมสรรพากร เรามีหน้าที่เท่าเทียมกันจริงๆ 

 

การวางแผนภาษี เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าคุณต้องการเสียภาษีให้ถูกต้องและถูกเงิน ผู้ทำธุรกิจแอมเวย์จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษี สมัยที่แอมเวย์เข้ามาใหม่ๆ สรรพากรยังไม่ชัดเจนกับรายได้ของแอมเวย์ ผมซื้อสินค้าแอมเวย์มาหนึ่งแสนบาท ผมขายออกไปแสนบาท สรรพากรบอกว่าผมมีรายได้หนึ่งแสนบาท จนผมต้องเขียนจดหมายถึงอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อให้ทราบชัดถึงวิธีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง จนทางสรรพากรต้องสัมมนากันหลายรอบ จนได้ข้อสรุปว่า รายได้จากแอมเวย์มีสองส่วน คือ รายได้การซื้อมาขายไปเป็นรายได้ประเภท 40(8) รายได้จากคอมมิชชั่น ถือเป็นประเภท40(2) นี่ถือเป็นมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติ และรายได้อื่นๆ ที่สามารถตีราคาเสมือนด้วยเงินได้ เช่น การท่องเที่ยว ก็ต้องนำมารวมคิดในการประเมินเพื่อเสียภาษี 

 

คุณรณฤทธิ์ วันนี้เรามาปูพื้นฐานความรู้ภาษีนิติบุคคล เมื่อเราเป็นนักธุรกิจแอมเวย์ พอถึงจุดหนึ่งที่เหมาะสม การเสียภาษีที่คุ้มค่าโดยการปรับเปลี่ยนธุรกิจมาอยู่ในรูปนิติบุคคล จะทำให้เราประหยัดภาษีได้ระดับหนึ่ง ไม่ใช่การเลี่ยงภาษี แต่เป็นระบบประหยัดภาษี เพราะรายได้แอมเวย์เป็นระบบที่ตรงไปตรงมา 100% ได้เท่าไรต้องเสียเท่านั้นไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ เพราะระบบคอมพิวเตอร์ AI ของสรรพากรนับว่าดีที่สุดระบบหนึ่งของโลก การเสียภาษีของประเทศไทยถือว่ามีการจัดเก็บภาษีที่ละเอียด เรามาปูพื้นฐานว่าการเป็นนิติบุคคลเราจะเริ่มอย่างไร คุ้มค่าหรือไม่ มีอะไรที่เป็นภาระข้อผูกพันทางกฎหมายของนิติบุคคลและต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง วันนี้เราจะได้มาเรียนรู้พื้นฐานนิติบุคคลกัน

 

ช่วงที่ 2 รู้จักและเข้าใจ “นิติบุคคล” โดย คุณป้อม รณฤทธิ์ 

    การเป็นนิติบุคคล ต้องเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด คือเราต้องไปจดทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ตามนิยามหมายถึง การเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ 
 

1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย 

2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

3. กิจการซึ่งดำเนินการเป็นการค้า หรือหากำไรโดยรัฐบาลองค์กรต่างประเทศ

4. กิจการร่วมค้า (Joint Venture)

5.มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้

6.นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 

วันนี้เราจะมาคุยเรื่องประเภทที่ 1) เป็นหลัก ที่ใกล้ตัวที่สุด

 

คุณสุวิทย์ เสริมว่า ปกติการซื้อขายตัวต่อต่อ ก็สามารถออกใบเสร็จให้บุคคลได้ แต่การค้าขายกับหลายคนตั้งเป็นร้านค้า ไม่รู้ว่าจะออกใบเสร็จให้ใคร จึงต้องนำบุคคลสามสี่คนจึงต้องมาจดทะเบียนในรูปนิติบุคคล เป็นบุคคลในนิยามของกฎหมาย เมื่อก่อนต้องไม่ต่ำกว่า 7คนจึงจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้ 

 

คุณป้อม รณฤทธิ์ กล่าวว่า นิติบุคคลแบ่งเป็นรูปแบบบริษัทจำกัด ซึ่งต้องมีผู้ถือหุ้น จำกัดความรับผิดชอบ เท่าจำนวนหุ้นที่เราถืออยู่ หากเกิดการฟ้องร้องก็จำกัดเพียงหุ้นที่ถืออยู่ ความเสียหายเพียงแค่นั้น ส่วน “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” หรือ “ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” จะไม่เหมือนบริษัทจำกัดมีความรับผิดชอบต่างกัน ห้างหุ้นส่วนสามัญจะเหมือนคณะบุคคล หรือคนสองคนไปตกลงการค้ากันเอง คล้ายบุคคลธรรมดาในการเสียภาษีจะทำบัญชีหรือไม่ก็ได้ จะไม่ช่วยประหยัดภาษี 

 

ส่วนใหญ่ในธุรกิจแอมเวย์ เรามักจดเป็น “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” จะมีหุ้นส่วนหนึ่งคน หรือหลายคน จำกัดความรับผิดชอบตามจำนวนคน เช่น เรามีผู้ถือหุ้นสองคน ถือหุ้นหนึ่งแสนบาท หากไปทำอะไรเกิดความเสียหาย เขารับผิดชอบแค่หนึ่งแสนบาทตามทุนหุ้นที่ลง แต่หากเป็น “หุ้นส่วนผู้จัดการ” ตามนิยามคือจะรับผิดชอบไม่จำกัดจำนวน ดังนั้นบุคคลที่สาม สามารถฟ้องร้องได้ถึงทรัพย์สินส่วนตัว คือสามารถฟ้องล้มละลายได้

 

หากเป็นบริษัทจำกัด มีหุ้นส่วนรับผิดชอบตามจำนวนหุ้น บริษัทจำกัดก็จะมีหุ้นส่วนผู้จัดการ ที่เป็นผู้รับผิดชอบไม่จำกัดจำนวน กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งการทำบัญชี และภาษี ไม่ต่างกัน

 

หากจดนิติบุคคลเพื่อธุรกิจแอมเวย์อย่างเดียว ไม่มีการเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สาม แนะนำเป็นการจดในรูปแบบ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการจดทะเบียนบริษัทจำกัด ที่ระบุค่าจดทะเบียนตามทุนจดทะเบียนล้านละห้าพันบาท แต่ค่าธรรมเนียมจดทะเบียน หจก. เมื่อดำเนินการเองรวมราวๆ 1000 กว่าบาท แต่หากจดผ่านบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5000-7000 บาท แต่หากจดเป็นบริษัทจำกัด ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10,000-15,000 บาท ขึ้นกับความยากง่ายของประเภทการจดทะเบียน

 

การเริ่มจดทะเบียนนิติบุคคล หากเป็นนักธุรกิจแอมเวย์ พิจารณาจากคุณมีรายได้กี่ทาง หากมีรายได้เงินเดือนสูง ค้าขายทางอื่น เมื่อรวมกับรายได้แอมเวย์แล้วฐานภาษีคุณสูง ก็ควรแยกรายได้ออกมา แต่หากมีรายได้แอมเวย์อย่างเดียว ก็พิจารณาว่าเป็นชีฟคู่ หรือชีฟเดี่ยว หากชีฟคู่สามารถแจ้งแอมเวย์ให้แบ่งรายได้เป็นสองคนได้ แต่ชีฟเดี่ยวควรมีรายได้เฉลี่ยตลอดทั้งปีเดือนละ 80,000 บาทขึ้นไป ก็ควรจดเป็นนิติบุคคลได้ ทางธุรกิจคือเป็นแพลตทินั่มที่แข็งแรง แนะนำให้ลองปรึกษาสำนักงานบัญชีว่า หากคำนวณรายได้เป็นบุคคลธรรมดาฐานภาษีเท่านี้ และถ้าคำนวณภาษีในรูปนิติบุคคล จะต้องมีภาระค่าทำบัญชีประจำ เดือนละ 1500 บาท 12 เดือน และค่าตรวจสอบบัญชีราว 10,000 บาท เมื่อเรานำภาษีและค่าใช้จ่ายที่ทำบัญชีแล้ว เงินเราเหลือมั้ย ทางสำนักงานบัญชีจะแนะนำให้ ว่าเมื่อถึงจุดนี้ควรจดนิติบุคคลดีกว่า 

นอกจากนี้นิติบุคคลยังมีความรับผิดชอบอื่นๆ อีก เหมือนเรามีลูกหนึ่งคน ต้องรับผิดชอบไปตลอดชีวิต เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายทาง การจดไม่ยากแต่ตอนเลิกจดยากมาก เพราะเกี่ยวข้องกับสรรพากรโดยตรงเรื่องการเสียภาษี

 

คุณหมอวัชรา เสริมว่า หากคุณมีรายได้ทางเดียวจากแอมเวย์เฉลี่ย 80,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ปีละหนึ่งล้านบาทก็ควรต้องจดนิติบุคคล แต่หากคุณมีรายได้หลายทาง ทำงานประจำและทำธุรกิจแอมเวย์ด้วย  ต้องพิจารณาว่าฐานเงินเดือนคุณสูงรึเปล่า ต้องนำมาคิดทั้งหมด แต่ส่วนตัวผมคิดว่า การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีข้อดีคือเวลาแอมเวย์จ่ายโบนัสจะบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้ ซึ่งส่วนนี้นำมาใช้ทำค่าใช้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เช่น มีรายได้แอมเวย์เดือนละแสน แอมเวย์จะจ่าย 107,000 หากเราไปซื้ออุปกรณ์หรือคอมพิวเตอร์เข้ามาในออฟฟิศ 30,000 บาท จะมีภาษีมูลค่าเพิ่ม 2100 บาท คุณนำ 7000-2100 ที่เหลือนำส่งสรรพากร เท่ากับว่าสรรพากรช่วยออกค่าคอมพิวเตอร์ให้คุณ 7% หรือซื้ออย่างอื่นที่เกี่ยวกับกิจการ สรรพากรจะช่วยคุณออก 7% คุณจะซื้อรถในชื่อของบริษัทและส่งงวดรถ สรรพากรก็ช่วยคุณออก 7% นี่คือข้อดีของการจดเป็นนิติบุคคล 

 

คุณป้อม รณฤทธิ์ กล่าวเสริมว่า กรณีรถยนต์ การจะใช้สิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ต้องไม่เป็นรถยนต์นั่ง แต่ต้องเป็นรถขนของรถกระบะที่ใช้ในกิจการ สรรพากรพิจารณาที่วัตถุประสงค์การใช้งาน แต่หากเราซื้อรถ แล้วนำมาหักค่าใช้จ่ายประจำปีของเราได้ ค่าซ่อม ค่าเสื่อมราคาต่างๆ ของรถยนต์ สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของนิติบุคคลได้ 

 

ช่วงที่ 3 นิติบุคคลที่ได้รับข้องดเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดย คุณป้อม รณฤทธิ์

คุณสุวิทย์ กล่าวว่า ผู้มีรายได้ทุกคนต้องเสียภาษี แต่นิติบุคคลอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์การของรัฐบาล หรือสหกรณ์ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง หรือได้รับการงดเว้น สหกรณ์เป็นนิติบุคคล แต่ผลประกอบการของสหกรณ์เป็นผลประกอบการของสมาชิกโดยรวม กำไรของสหกรณ์จะย้อนกลับมาที่สมาชิกโดยตรง จึงอยากส่งเสริมให้ท่านมาเป็นสมาชิกสหกรณ์ เพราะการเป็นสมาชิกสหกรณ์จะมีผลประโยชน์กับตัวท่านโดยตรง 

 

คุณหมอวัชรา เสริมว่า รายได้ส่วนใหญ่ของสหกรณ์ไม่ต้องนำไปประเมินภาษี เช่น รายได้จากเงินปันผล รายได้จากเงินเฉลี่ยคืนดอกเบี้ย รายได้ที่เกิดจากดอกเบี้ยออมทรัพย์ ออมทรัพย์พิเศษ เหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากธนาคารขายตั๋วเงิน แล้วเราซื้อตั๋วเงินนั้นและเราได้เงินดอกเบี้ยจากตั๋วเงิน สหกรณ์จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ส่งคืนธนาคาร จะไม่เหมือนธนาคารพาณิชย์ที่หากมีดอกเบี้ยจากเงินออมทรัพย์ ธนาคารจะหัก 15% ก่อนเพื่อส่งสรรพากร 

 

คุณป้อม รณฤทธิ์ กล่าวว่า กรณีสหกรณ์เปิดการลงทุนพิเศษ ที่เป็นรูปการลงทุนพันธบัตร ร่วมลงทุนแบบไม่ใช่ออมทรัพย์  เงินปันผลนี้ที่สหกรณ์ให้สมาชิกจะต้องนำมาเสียภาษีด้วย ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี 

 

สำหรับนักธุรกิจแอมเวย์ ที่จดเป็นนิติบุคคล ถือเป็นลักษณะธุรกิจ SME  ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกินห้าล้านบาท หากมีรายได้ไม่เกินสามสิบล้านบาท  กำไรสุทธิสามแสนบาทแรกไม่ต้องเสียภาษี โดยทั่วไป 99% ของนักธุรกิจแอมเวย์ที่จดนิติบุคคลมักเข้าลักษณะSME ดังนั้นกำไรสุทธิสามแสนบาทแรกได้รับการงดเว้นภาษี เรียกว่า การเสียภาษีคำนวณจากฐานกำไรสุทธิ  เป็นการเสียภาษีเป็นแบบขั้นบันได  ต่างจากบุคคลธรรมดาที่หักค่าใช้จ่าย และคำนวณภาษีในอัตราก้าวหน้า 

กำไรสุทธิ คือกำไรหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ และคงเหลือเป็นกำไรเท่าไร เช่น เราจัดตั้งนิติบุคคล มีกำไรปีนี้ 290,000 บาทเราไม่ต้องเสียภาษี และจะมีการหัก 3% ที่บริษัทแอมเเวย์หัก ณ ที่จ่ายไว้เดือนละครั้ง เราสามารถขอคืนภาษีได้ แต่การขอคืนภาษีจะมีการตรวจสอบละเอียดจากสรรพากร

 

ช่วงที่ 4 การคำนวณภาษีนิติบุคคล โดย คุณป้อม รณฤทธิ์

การคำนวณภาษีนิติบุคคล คิดจากรายได้ ณ 31 ธันวาคม เมื่อเราหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่หักได้ เหลือเป็นกำไรสุทธิ ยังต้องนำมาปรับปรุงค่าใช้จ่ายที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด (ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกิจการ) ที่ต้องระวังคือ การคิดค่าท่องเที่ยว ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นรายได้ของนิติบุคคลแต่ให้กรรมการไปท่องเที่ยว ไม่เกี่ยวกับบริษัท ถ้าตรงไปตรงมา คือรายได้กรรมการ แต่ในรูปการปรับปรุงบัญชี รายการค่าใช้จ่ายนิติบุคคลของกรรมการไปท่องเที่ยว ต้องบวกกลับไปที่นิติบุคคล 

 

นอกจากนี้ ยังมีรายการ “รายจ่ายต้องห้าม” เช่น เงินสำรอง เงินที่จ่ายเข้ากองทุน ยกเว้นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ถือเป็นรายจ่าย รายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับกิจการ เช่น รถยนต์ไม่ใช่ชื่อบริษัท เรานำค่าซ่อมรถมาหักค่าใช้จ่ายไม่ได้  ค่าน้ำค่าไฟที่เปลี่ยนเป็นชื่อมิเตอร์เป็นชื่อบริษัท ภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนนี้ขอคืนไม่ได้ ยกเว้นว่าสามารถให้สรรพากรคำนวณการใช้งานของบริษัทเป็นเปอร์เซนต์ได้ หากยื่นขอคืน VAT ทางสรรพากรต้องบวกกลับทั้งหมด ดังนั้นที่แนะนำคือใช้ชื่อมิเตอร์น้ำไฟเป็นชื่อบุคคล สามารถลงค่าใช้จ่ายทางบัญชีและบริหารได้แต่ทางภาษีไม่ได้ 

กรณีค่าเช่าบ้านเป็นออฟฟิศ ต้องคิดเพียงสัดส่วนที่ใช้งานในกิจการเท่านั้นจึงสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ เช่น คิดเป็นสัดส่วนเช่าห้องหนึ่งห้องเป็นออฟฟิศ คิดเป็นเท่าไร 

การตั้งเงินเดือนของกรรมการ ต้องพิจารณาจากรายได้เป็นหลัก ปกติควรคิดเงินเดือนที่ 20-30% ของรายได้ทั้งหมด และกรรมการต้องนำไปเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา แต่จะเสียภาษีประหยัดกว่า ปัญหาความเข้าใจผิดของคนทำธุรกิจแอมเวย์ คือไม่ทราบว่าเงินโบนัสที่ได้ไม่ใช่ของเราทั้งหมดแต่เป็นรายได้ของนิติบุคคล หากถอนเงินออกมาหมดบัญชี เราก็จะตกอยู่ในฐานะลูกหนี้ของบริษัท สรรพากรจะคิดดอกเบี้ยทันที และต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย ดังนั้นควรถอนเท่าเงินเดือนที่ตั้งไว้ หรือถอนมาใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นและคงเงินในบัญชีบริษัทไว้

 

ช่วงที่ 5 การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี โดยคุณป้อม รณฤทธิ์

คุณป้อม รณฤทธิ์ กล่าวว่า นิติบุคคลจะต้องยื่นภาษีครึ่งปีและปลายปี แต่นิติบุคคลจะเสียในรูปภาษีประมาณการ คือเมื่อยื่นภาษีครึ่งปีแรกแล้ว ที่เหลืออีกครึ่งปีหลังเราต้องประมาณการรายได้ค่าใช้จ่ายครึ่งปี หลังจากนั้นนำรายได้ประมาณการและค่าใช้จ่ายมาบวกและคิดรวมครึ่งปีแรกครึ่งปีหลัง แล้วนำไปยื่นภงด.51 จำเป็นต้องให้ที่ปรึกษาบัญชีคำนวณให้ แต่ทางเจ้าของนิติบุคคลต้องให้ข้อมูลกับสำนักงานบัญชีโดยละเอียด 

 

โดยเราจะทราบรายได้ครึ่งปีแรก และเราต้องแจ้งกับที่ปรึกษาบัญชีในส่วนที่คาดว่าครึ่งปีหลังเราจะได้โบนัสอื่นเพิ่มหรือไม่ เช่น โบนัสปลายปีของระดับมรกต เพชรขึ้นไป  core plus เงินคืนพิเศษจากการยกเลิกทริปท่องเที่ยว ฯลฯ 

 

โดยทางสรรพากรอนุญาตให้ประมาณการกำไรสุทธิในภงด.51 ผิดพลาดได้บวกลบไม่เกิน25% หากประมาณการภาษีผิดพลาดเกินที่กฎหมายกำหนด จะต้องเสียค่าปรับตามกฎหมาย เช่น เราเสียภาษีครึ่งปีไปหนึ่งแสนบาท แต่ผิดพลาดไปเกินที่กำหนด25% ที่จริงต้องเสียหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท เมื่อยื่นภงด.51 จึงจำเป็นต้องเสียค่าปรับ 25% ก่อน ถ้าต้องเสียเพิ่มต้องนำเครดิตภาษีมารวมใน ภงด.50 ปลายปีอีกที

 

ช่วงที่  6  ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ต้องรู้ โดยคุณป้อม รณฤทธิ์

กฎหมายกำหนดว่า หากมีรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ต้องเข้าระบบ VAT มิเช่นนั้นจะต้องถูกปรับ แนะนำว่าควรจดเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ก่อนที่รายได้จะถึง หากมีรายได้เยอะแบบมั่นคงแล้ว  1,400,000-1,500,000  บาท ควรเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มจะดีที่สุด แบบที่คุณหมอบอก ว่าเราสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มหักค่าใช้จ่ายเมื่อซื้ออุปกรณ์สำนักงานคอมพิวเตอร์ต่างๆ เราสามารถประหยัดภาษีได้ 7% และเราสามารถขอคืน VAT 7% ได้โดยต้องมีใบเสร็จกำกับภาษีเต็มรูปแบบ

การบริหาร VAT ได้อีกวิธีเมื่อซื้อสินค้ารายเดือน เช่น เครื่องกรองน้ำ เครื่องกรองอากาศ เราสามารถแจ้งว่าเป็นสินค้าเพื่อการสาธิต และทำเรื่องขอคืน VAT 7% ได้ เพราะคิดเป็นวัสดุสำนักงานชนิดหนึ่งที่นำมาสาธิตในกิจการ เราสามารถประหยัดต้นทุนได้ 7% โดยต้องมีการทำตลาดและมียอดขายสินค้าจริงตามจำนวนที่เหมาะสม และทางบัญชีเราสามารถคิดอายุการใช้งานของเครื่องกรองอากาศสำหรับสาธิตได้ 5 ปี อุปกรณ์คอมพิวเตอร์มือถือที่ซื้อในนามนิติบุคคลสามารถขอคืน VAT 7% ได้ 

 

อีกกรณีคือการใช้ชื่อบริษัทในการซื้อที่ดินสามารถทำได้ โดยดูตามวัตถุประสงค์การใช้งานของกิจการต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัท หรือซื้ออาคารพาณิชย์พร้อมที่ดิน เพื่อเปิดบริษัทในอนาคตสามารถทำได้ แต่เวลาขายที่ดินหรือ อาคารออกไป จะต้องเสียภาษีทุกประเภทที่เกี่ยวข้อง ต้องเสียภาษีเต็มๆ ต่างจากบุคคลธรรมดาที่ถือครองเกินห้าปี การขายไม่ต้องเสียภาษีบางประเภท แต่นิติบุคคลจะต้องเสียภาษีเมื่อขายที่ดินนั้นตลอดอายุการถือครอง

 

ช่วงท้าย สรุปแนวคิดสำคัญเรื่องภาษีนิติบุคคล

คุณหมอวัชรา กล่าวว่า ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องรู้ก่อนจดนิติบุคคล ไม่ใช่ผลักภาระไปให้สำนักงานบัญชีอย่างเดียว แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เจ้าของกิจการจะเข้าใจ แต่หากคนเราควรมีแพทย์ประจำตัวเมื่อมีปัญหาสุขภาพฉันท์ใด เมื่อคุณเป็นเจ้าของกิจการก็ควรมีที่ปรึกษาด้านภาษีฉันท์นั้น ควรหาสำนักงานบัญชีที่มีคุณภาพ ที่สามารถคุยเปิดใจกันได้ เมื่อเรามีภาระมีความคิดจะทำอะไรเราควรปรึกษาเขาก่อน ผมมักติดตามคนที่มีความรู้ทางภาษีหลายคน ผมว่า TAXBugnoms มีเนื่อหาที่ครอบคลุมเป็นซีรีส์ ขอให้ติดตามเถอะครับ ฟังรู้บ้างไม่รู้บ้างก็ขอให้ฟัง ศึกษาเรื่อยๆ เราจะรู้เข้าใจมากขึ้น

 

ของฝากจาก FTC ข่าวประชาสัมพันธ์แอพพลิเคชั่นใหม่ CoOp Network โดยคุณแอ๋ว พฤกษาทิพย์

ตอนนี้ FTC มีแอพพลิเคชั่นใหม่ สามารถทำธุรกรรมทุกอย่างได้เพียงใช้มือถือเครื่องเดียว สะดวกง่ายทั้งการเบิก ถอน รับเงินกู้หมุนเวียน และโอนเงินจากบัญชีสหกรณ์ไปยังบัญชีธนาคารพาณิชย์ข้างนอก สมาชิกสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น และดาวน์โหลดเอกสารคำขอใช้บริการกรอกรายละเอียด จากนั้นส่งคำขอดังกล่าวมาพร้อมสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร รับรองสำเนาให้เรียบร้อย ส่งเอกที่กรอกแล้วมาที่สหกรณ์รอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อเปิดระบบค่ะ 

 

 

คำถามจาก Facebook และ  Zoom

 

Q :  เมื่อจดนิติบุคคลแล้ว รายได้ลดลงมาก ควรทำอย่างไร

คุณป้อม รณฤทธิ์ : ควรเสียภาษีก่อนในปีแรกๆ ดูความมั่นคงของรายได้ปีแรกๆ ก่อน หากไม่ผิดพลาดเกิน 5-10% จึงควรจดนิติบุคคล

ประเด็นแรกนิติบุคคลไม่สามารถยุบได้ ต้องเสียค่าทำบัญชีรายเดือนและปลายปี แต่คุณสามารถนำชีฟธุรกิจของคุณให้เป็นชื่อบุคคลธรรมดาก่อน และทำให้รายได้นิติบุคคลเป็นศูนย์ ค่าใช้จ่ายการทำบัญชีของนิติบุคคลลดลง แต่ยังต้องมีค่าใช้จ่ายการปิดบัญชีปลายปี แม้การยื่นงบเปล่า ซึ่งต้องคุยกับที่ปรึกษาบัญชี 

 

Q : หากเราจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อทำแอมเวย์ แล้วอนาคตอยากทำกิจการอื่นเพิ่ม เราสามารถใช้นิติบุคคลเดิมโดยไม่จดใหม่หรือไม่ 

คุณป้อม รณฤทธิ์ : ต้องพิจารณาว่า วัตถุประสงค์การจัดตั้งเดิมครอบคลุมกับธุรกิจใหม่หรือไม่ ที่สำคัญคือภาษีมูลค่าเพิ่มของเราครอบคลุมธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมาหรือไม่ หากไม่ครอบคลุมเราต้องไปจดทะเบียนเพิ่มวัตถุประสงค์การจัดตั้งธุรกิจ 

การทำบัญชีจะมีรายได้หลักคือค่านายหน้าของธุรกิจแอมเวย์ และเพิ่มรายได้อื่นเข้ามาอีกทาง หากจะจดใหม่ ควรทำถ้าธุรกิจใหม่ดำเนินไปตลอดรอดฝั่ง แต่หากธุรกิจที่ทำชั่วระยะเวลหนึ่งจะไม่แนะนำให้จดใหม่ 

หากผมแนะนำควรให้จดนิติบุคคลแยก เพราะจะมีเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเมื่อสรรพากรตรวจสอบ

 

Q :  ค่าเช่ารถ ทำสัญญาในนามหจก. นำมาเป็นค่าใช้จ่ายของ หจก.​ได้หรือไม่

คุณป้อม รณฤทธิ์ : ค่าเช่ารถเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีและบริหารได้ แต่เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีไม่ได้ แต่เจ้าของรถต้องจ่ายภาษีรายได้ค่าเช่า 5% ดังนั้นคนที่เปลี่ยรถบ่อยๆ โดยเฉพาะรถหรู ขอแนะนำวิธี การเช่ากับบริษัทเช่ารถลีสซิ่ง เราจะหักค่าใช้จ่ายได้สูงกว่า เพราะการซื้อรถในรูปบริษัทเป็นภาระ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อขายรถออกไปต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามราคาตลาด ณ วันนั้น หากพบว่าขายต่ำกว่าตลาดต้องถูกปรับสอภาษี คือปรับทั้งภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้

    เพื่อนๆ ได้ทราบข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับภาษีนิติบุคคลจากผู้รู้ทุกท่านกันแล้ว จะเห็นได้ว่าภาษีนิติบุคคลเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนทำการจดทะเบียนนิติบุคคล หากเราศึกษาทำความเข้าใจหน้าที่และภาระผูกพันทางภาษี กฎหมายอย่างรอบด้าน จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนรองรับการเติบโตทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี

 

    แอดขอสรุป 5 ประเด็นต้องรู้ก่อนเข้าสู่ระบบภาษีนิติบุคคล
1) รู้ประเภทนิติบุคคล และเลือกการจดทะเบียนรูปแบบที่เหมาะสมกับธุรกิจของตน
2) รู้หน้าที่นิติบุคคล นอกจากหน้าที่ทางภาษีต้องใส่ใจเรื่องความรับผิดชอบ ทางบัญชีและบริหารด้วย
3) รู้จักรายจ่ายต้องห้าม  ที่ไม่สามารถนำมาคิดในทางภาษี
4) รู้จักระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% ควรจดเข้าระบบ ให้ทัน รู้บริหารเป็นและขอคืน VAT ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด
5) รู้หน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษีตรงเวลา ทั้งภาษีกลางปี และภาษีปลายปี


หากเพื่อนๆ อยากเข้าใจภาษีและอัพเดทความรู้การเงินอย่างรอบด้าน อย่าลืมติดตาม FTC Channel ในครั้งถัดไป ทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น.