เคล็ดลับ วิชาแก้หนี้ แก้จน..

โดย Admin T
 วันที่ 07 ก.ค. 2564 เวลา 16:18 น.
 2662

สรุป ประเด็นเด็ดเผยเคล็ดลับวิชา “แก้หนี้...แก้จน” จาก FTC Channel

 

เช้าวันเสาร์สดใสแบบนี้ FTC Channel หยิบยกประเด็นฝ่าวิกฤติโควิด-19 เผยเคล็ดลับวิชา “แก้หนี้...แก้จน” จากประสบการณ์ผู้รอบรู้ทางการเงินอย่าง นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ FTC ดร.สุเมธา โพธิ์ประสาท ที่ปรึกษา FTC และอดีตผู้บริหารธนาคาร คุณคมสัน สำราญเฟื่องสุข คณะกรรมการดำเนินงาน FTC ดำเนินรายการโดย คุณสุวิทย์ พูลสุขเลิศ ประธานกรรมการการศึกษา FTC และคุณสาวิตรี อนันชพันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ FTC ร่วมพูดคุยแบ่งปันองค์ความรู้ เพื่อถอดรหัสปลดหนี้ในยุคโควิด-19 ใครอยากปลดหนี้แบบมีสภาพคล่องต้องฟัง!

 

ช่วงแรก มองหนี้ ให้พ้นหนี้  กับ นพ.วัชรา 

การเป็นหนี้และแก้หนี้เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ใช้องค์ความรู้ ใช้วินัยในตัวเอง และมีพันธะสัญญาต่อตนเองอย่างมาก 

 

มายเซ็ทต่อหนี้เป็นสิ่งสำคัญ หากเราคิดแค่แก้หนี้ เราจะไม่หมดหนี้ แต่การตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรเราจึงมีอิสรภาพทางการเงิน” จะทำให้เราก้าวพ้นไปจากหนี้โดยอัตโนมัติ 

 

ชีวิตผมยังไม่หมดหนี้ แต่จะเป็นหนี้ทั้งทีต้องมีประโยชน์ การบาลานซ์หนี้กับ สภาพคล่องให้ดีเป็นสิ่งที่จำเป็น ผมไม่ได้มีความรู้มากนักเรื่องการลงทุน ผมจึงเลือกซื้อที่ดิน โดยมองระยะยาวว่า 5-10 ปี อัตราการเติบโตของสินทรัพย์ที่เรามีอยู่เหนืออัตราเงินเฟ้อ และเก็บเงินในรูปของเงินออมในธนาคาร สหกรณ์ กองทุน ที่ดิน และประกัน อะไรที่เป็นช่องทางที่ทำให้เรามีเงินออมและมีสภาพคล่องได้เราทำทั้งหมด 

 

ช่วงที่ 2 วางแผนแก้หนี้กับอดีตผู้บริหารธนาคาร ดร.สุเมธา

เงินและงานคือชีวิต เมื่อเรามีเงินต้องวางแผนการใช้จ่ายจึงจะมีความสุข การสร้างหนี้มีสองประเภท แบบแรกคือการยืมจากผู้ที่มีบารมีระหว่างกัน เช่น ยืมเงินญาติ พี่น้องพ่อแม่ กับแบบที่สองการยืมเงินในระบบที่มีกฎหมายบังคับ หากเราไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะเกิดความทุกข์ทำให้เราวุ่นวายต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ดังนั้นก่อนที่เราจะมีหนี้เราต้องคิดถึง ปลายทางที่เลวร้ายที่สุดก่อนว่าเรารับได้หรือไม่ 

จากประสบการณ์ของผมเอง ช่วง 5 ปีแรกของการทำงานผมยังต้ังตัวไม่ได้ เพราะไม่ได้วางแผน แม้เรียนจบการเงินมา แต่เราไม่ได้เรียนเรื่องการวางแผนการเงินส่วนบุคคล เราเรียนเพื่อมาบริหารเงินให้คนอื่น ผมได้เรียนรู้การเงินส่วนบุคคลจริงๆ จากการทำธุรกิจ และได้อ่านหนังสือพ่อรวยสอนลูก และเริ่มตั้งตัวตอนอายุ 40 เท่านั้นเอง ตอนนั้นเงินเดือน 50,000 ไม่มีออมนะครับ เพราะเรามีความสามารถใช้หมด 

เราเคยสร้างหนี้เกินทรัพย์สินเพราะมีเครดิตกับคนข้างนอกจากการที่เราทำงานธนาคาร กู้ยืมได้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้สร้างหนี้เกินตัวที่ครอบครัวอาจลำบากได้ เลยเริ่มตระหนักว่าเราต้องลดการสร้างหนี้ ไม่บริโภคเกินตัว และมองหาการสร้างหนี้ดี ผมอาจโชคดีที่ทำงานธนาคารมีสวัสดิการ สามารถกู้ทรัพย์จากธนาคารได้ ผมจึงกู้ซื้อทรัพย์สิน ที่ดินราคาถูกจากธนาคารและขายเพื่อกินส่วนต่าง นี่คือการสร้างหนี้เพื่อสร้างทรัพย์สิน 
 

ถ้าใช้หนี้ด้วยอารมณ์จะเป็นภาระ แต่หากเราใช้หนี้ด้วยสติจะเป็นประโยชน์ โดยวางแผนแคชโฟลว์ดีๆ และรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต 

 

ช่วงที่ 3 GEN Y กับการสร้างหนี้ จากมุมมองอดีตนายธนาคารหนุ่มไฟแรง 

    คุณเบิ้ล คมสัน

ยุคนี้ Gen Y เรามีช่องทางการจ่ายเยอะมากๆ เช่น การดูไลฟ์สตรีมมิ่งค่ายต่างๆ  การซื้อของออนไลน์ และการมีบัตรเครดิตที่เข้าถึงง่ายกว่าสมัยก่อนมาก  

ส่วนตัวผมโชคดีที่ที่บ้านปลูกฝังให้เป็นคนประหยัด ผมชอบเก็บเงิน เรียนรู้เรื่องหุ้น และการลงทุน ก่อนอายุ 30 จึงมีทรัพย์สินเกินครึ่งล้านแม้มีเงินเดือนเพียง 12,000 บาท ซึ่งมาจากวิธีคิดทางการเงินที่ปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งจริงๆ ผมก็มีหนี้สินอยู่พอควร  แต่เป็นหนี้ที่เราบริหารจัดการได้ นี่คือสิ่งสำคัญมาก 

หากคุณยังไม่มีหนี้หรือมีหนี้ที่ยังจัดการได้ ก่อนอื่นให้วางแผน ทั้งวางแผนรายได้ และวางแผนการใช้จ่าย มีสมุดทำงบก่อนที่จะใช้ ผมเองมีบัญชีเงินแยกสำหรับกินใช้ บัญชีเงินออม และ บัญชี Freedom เพื่อมีความสุขกับการกินเที่ยวใช้ชีวิตได้แบบไม่เดือดร้อน 

 

การที่เราจะประสบความสำเร็จทางการเงินต้องมีสามด้าน 1)ความรู้  2)เรื่องของใจ รวมถึงวินัย 3)มายเซ็ท  เพราะต่อให้เรามีความรู้มาก แต่เราทำอย่างที่รู้ไม่ได้ อดใจไม่ไหวที่จะจ่ายในสิ่งฟุ่มเฟือย ก็อันตรายมาก

 

เรื่องบัตรเครดิตการนำเงินในอนาคตมาใช้ต้องระวังให้มาก เพราะเวลาเรารูดบัตร เรามักคิดว่าเราผ่อนจ่ายนิดเดียวคิดว่าผ่อนไหว พอไม่ได้วางแผนกลายเป็นเราต้องผ่อนจ่ายหนี้ ถึง 50-60% ของรายได้ ทำให้เรากินใช้ไม่พอซึ่งน่ากลัวมาก

 

    คุณสุวิทย์ เสริมว่า คนยุคนี้หลายคนมักคิดว่า High Risk = High Return แต่แท้จริงแล้วคุณหนุ่ม มันนี่โค้ช เคยกล่าวไว้ว่า High Education = High Return ต้องมีความรู้ที่มากจึงจะมี High Return ดังนั้น FTC Channal จึงมีช่องทางนี้ เพี่อให้เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น และไม่ผิดซ้ำรอยนั้น 

 

ช่วงที่ 4 สัญญาณบ่งชี้ภาวะอันตรายทางการเงิน จากดร.สุเมธา 

    ถ้าคนที่มีการวางแผนการเงิน จะเห็นว่าภาวะการเงินเราตึงหรือไม่ตึง สัญญาณบอกคือ สัปดาห์สุดท้ายหรือผ่านไป 15 วันแล้วเราต้องกินแบบกระเหม็ดกระแหม่ขึ้น หรือ เราเริ่มต้องยืมเงินคนรอบตัวมาเพื่อใช้หนี้  ถ้าอยู่ในภาวะแบบนี้ต้องคิดหยุดสร้างหนี้ และเริ่มมีแนวคิดที่จะบริหารจัดการการเงิน 

สัญญาณที่สองคือหากเราต้องผ่อนภาระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ นี่เป็นสัญญาณว่า เราต้องหยุดสร้างหนี้ใหม่และพยายามจบหนี้ก่อน หรือบางคนมีสภาพเป็นวัวพันหลัก คือเอาเงินบัตรนี้ไปโปะบัตรนู้น ดอกเบี้ยก็จะสูง สัญญาณเหล่านี้คือเริ่มตึงแล้ว


 

ช่วงที่ 5 ทักษะแก้หนี้เป็นทักษะเฉพาะที่สายการเงินเท่านั้นจึงจัดการได้ จริงหรือ? คุณเบิ้ล คมสัน ให้มุมมองว่า

“ตอนที่ทำงานธนาคาร ผมพบว่าคนที่เป็นหนี้มากที่สุดก็คือคนในธนาคาร เพราะต้องช่วยกันทำยอดบัตรเครดิตให้แบงค์ โอกาสสร้างหนี้จึงเยอะมาก และพนักงานธนาคารจริงๆ ไม่ได้มีความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคล เพราะเรา ทำงานตามหน้าที่ทำงานเอกสาร อย่างผมจบรัฐศาสตร์ไม่ได้จบตรงสายก็ทำงานธนาคารได้” 

ยิ่งในยุคนี้ช่องทางความรู้ทางการเงินหาง่ายมาก อยู่ที่ว่าเราอยากหาความรู้เพิ่มจริงๆ รึเปล่า หากเราต้องการหาความรู้เพิ่มต้องการแก้ปัญหาจริงๆ ผมเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ต้องระวังคือ ความรู้หรือชุดข้อมูลที่เรารับต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง นำมาปฏิบัติได้จริง ดังนั้นการรับข้อมูลต้องมีสติมากๆ ต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้จากผู้ที่มีความรู้จริง 

 

การแก้หนี้จริงๆ ไม่ยาก สิ่งที่สำคัญมากๆ คือ “เป็นหนี้ต้องใช้คืน” นี่เป็นมายเซ็ททางการเงินที่ถูกต้อง และจะทำให้เราประสบความสำเร็จทางการเงินได้ 

 

วันนี้ถ้าเราไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ไม่ผิดนะ แต่เราต้องรู้ว่าคือแค่ตอนนี้ไม่ใช่ตลอดไป ต้องคิดว่าวันที่เรามี เราต้องกลับไปจ่ายคืนเขาแน่ๆ อยากให้มองว่าคนที่ให้เรายืม เงินมีพระคุณกับเรา คือเขาช่วยเราในยามที่เดือดร้อน หากเราไม่ใช้คืนก็เหมือนเราไม่กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และไม่ว่าคุณเป็นหนี้หนักหนาสาหัสแค่ไหน ขอให้คุณมีความรู้ มีใจ มีมายเซ็ทที่ถูกต้อง หาข้อมูลเพราะมีคนเก่งๆ มีทางออกที่ช่วยให้คุณแก้ปัญหาหนี้จากหนักเป็นเบาได้ ขอให้เรามีกำลังใจที่จะแก้หนี้และเชื่อว่าเราสามารถมีการเงินที่ดีแบบคนอื่นได้

 

คุณสุวิทย์ กล่าวเสริมว่า ถ้ามองการเป็นหนี้สินเหมือนการติดโควิด-19 หากเราติดน้อยๆ เหมือนเราเป็นหนี้น้อยๆ  เราอาจจะดูแลตัวเองได้ หากอาการเริ่มรุนแรง เป็นสีเหลืองแล้ว อาจจะต้องกินยาไปพบแพทย์เป็นครั้งคราว คือมาปรึกษาสถาบันการเงินแบบFTC หากเป็นสีแดง เหมือนสภาพคล่องเราแย่แล้ว  ใครที่เป็นหนี้จนมืดแปดด้านแล้ว ขอเรียนว่า ท่านไม่สามารถใส่ท่อช่วยหายใจด้วยตัวเองได้ ยิ่งการตัดสินใจว่าไม่ไหวไม่อยากอยู่ ในโลกนี้แล้วยิ่งไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะจิตสุดท้ายที่เป็นหนี้  ท่านก็ไปเกิดใหม่ด้วยจิตเริ่มต้น ที่เป็นหนี้เหมือนเดิม

ใครที่กำลังมีปัญหาหนี้ อยากให้มองว่า FTC เป็น รพ.สนาม เรามีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษา อาจจะปรึกษาฝ่ายสินเชื่อ หรือคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ โดยติดต่อสอบถามทางไลน์ FTC ก่อนได้ เพราะเราต้องการผู้ที่ช่วยเหลือเราเมื่อเรามีอาการ
 

ช่วงที่ 6 กระแสเงินสดขาดสภาพคล่องควรทำอย่างไร ดร.สุเมธา

อันดับแรก ต้องหยุดสร้างหนี้ก่อน และสิ่งที่ควรทำคือต้องหันหน้าไปคุยกับเจ้าหนี้ เพราะมีการผ่อนปรนได้ เราต้องกลับไปตั้งสติใหม่หาวิธีแก้ไข 

เวลาเราเป็นหนี้ เราต้องรู้ว่าแหล่งก่อหนี้ของเราคือแหล่งไหน หากเป็นญาติพี่น้อง การชำระหนี้ก็สามารถผ่อนปรนได้จนถึงที่สุด หากเป็นหนี้กับสถาบันการเงิน อันนี้ไม่น่ากลัว เพราะเราเจรจากับเจ้าหนัาที่ ไม่ใช่เจ้าของเงิน หากเราอ่อนน้อมถ่อมตนไปคุยกับเขา เราอาจได้คำแนะนำวิธีการดีๆ ได้เจรจาผ่อนปรนตามเงื่อนเวลา แต่ที่อันตรายคือหนี้เสื้อดำ นอกระบบ ได้เงินง่ายแต่เวลาคืนก็มหาโหดอาจจะต้องพึ่งหน่วยงานของรัฐ เช่น ศูนย์ดำรงธรรม 

 

คุณสุวิทย์ สรุปว่า ความซื่อสัตย์ของลูกหนี้ที่แสดงออกให้เจ้าหนี้ได้รู้จะเป็นเกราะป้องกัน ช่วยเหลือตัวท่านเอง หากมีความตั้งใจที่จะชำระหนี้ ก็เจรจาหาทางออกร่วมกัน และลองหัน กลับมาดูตัวเราว่าเรามีความสามารถในการทำงานเพิ่มอะไรได้บ้าง  หากเราไม่คิดขยันเพิ่ม จะหารายได้เพิ่มก็ยาก 
 

ช่วงที่ 7 หนี้เยอะ จ่ายหนี้ยังไม่พอแล้วจะออมได้อย่างไร?

คุณเบิ้ล คมสัน มองว่า การบริหารการเงินสิ่งสำคัญที่สุดอย่างแรก คือ การออม เพราะกระแสเงินสดที่เรามีสามารถนำไปลงทุนทำอาชีพเพิ่ม หรือมีเงินก้อนไว้เจรจาต่อรองหนี้ได้ 

บางคนนำรายได้ทั้งหมดไปจ่ายหนี้ยังไม่พอ ในเมื่อไม่พออยู่แล้วให้เราออมก่อน สร้างวินัยทางการเงินให้ตัวเอง หากเรามีการออม เราได้เห็นเงินอยู่บ้าง จะทำให้เรามีกำลังใจ ว่าเรายังมีเงินสำรองไว้หมุนไว้จับจ่ายใช้สอยได้ 

 

ดร.สุเมธา มองว่า ช่วงโควิด-19 เราสามารถไปเจรจาขอผ่อนหนี้ให้น้อยลง และนำส่วนต่างนั้น มาออมก่อนได้เพื่อสะสมนิสัยและวินัยการออม 

 สูตรสำเร็จคือ มีรายได้ หักเงินออม ที่เหลือใช้จ่าย ไม่ว่าจะจ่ายหนี้อุปโภคบริโภค มีเงินเท่าไรมากน้อยอย่างไรก็ต้องออมก่อน เพราะวันนึงเราจะมีวิกฤติของชีวิต เงินตรงนี้จะปกป้องเราจากวิกฤติ ในวันที่หลังชนฝาเลือดตาแทบกระเด็น เงินออมจะช่วยเราได้ ดังนั้นในระหว่างเป็นหนี้ก็ต้องออมไปด้วย 

 

คุณสุวิทย์  แนะนำว่า การออมเงินกับ FTC โดยซื้อหุ้นเพิ่มเดือนละ 1000-2000 เงินปันผล 3-4% สูงกว่าธนาคาร และสามารถมาใช้สวัสดิการได้ อยากให้ลองมาศึกษากัน
 

ช่วงที่ 8 คนที่มีอิสรภาพทางการเงิน แท้จริงแล้วคืออะไร?

ดร.สุเมธา กล่าวว่า ถ้าดูระบบบัญชี รายรับต้องมากกว่ารายจ่าย  และรายจ่ายนั้นต้องสมกับคุณภาพชีวิตเรา โดยมีแบบนี้สม่ำเสมอตลอดการดำรงชีวิตของเรา 

“ผมมองว่าอาชีพที่บริสุทธิ์เราทำได้หมด ถ้าเราไม่จนวิธีคิดเราก็สร้างรายได้ได้ตลอด ถ้าเราสร้างรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย ชีวิตก็มั่งคั่ง ไม่จำเป็นต้องมีเงินร้อยล้านพันล้านหมื่นล้าน แต่อยู่ที่วิธีคิดที่จะบริหารจัดการการเงินเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดบนความมั่งคั่งของเราเอง”

 

คุณเบิ้ล คมสัน ให้มุมมองว่า อิสรภาพทางการเงิน คือการที่เรามีเงินมากพอที่จะดูแลตัวเอง และคนที่เรารักได้อย่างมีความสุขด้วยคุณภาพชีวิต ที่เหมาะสมกับฐานะของเรา ซึ่งเรื่องของการเงินและความสุข เป็นเรื่องส่วนบุคคล อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่น  

“มุมมองวัยรุ่นอาจมองว่าชีวิตที่มี Passive income นอนเฉยๆ แล้วเงินไหลเข้ามาเท่ๆ เป็นอิสรภาพทางการเงิน แต่ที่จริงแล้วเราสามารถทำงานทำธุรกิจแบบมีความสุขได้ หากเรา บริหารจัดการได้ดี ดูแลคนที่เรารักให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข ก็คือมีอิสรภาพ ทางการเงินแล้ว” 

 

คุณสุวิทย์ กล่าวฝากทิ้งท้ายว่า

ทาง FTC เป็นกำลังใจให้สมาชิกทุกท่าน ทุกคนต่างได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แต่ “สติ” ในการบริหารจัดการเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ ต้องหาคนปรึกษา เชิญมาคุยกับ FTC เราให้เกียรติสมาชิกทุกท่านและมีทางออกให้  เพราะการจัดตั้งสหกรณ์ก็เพื่อช่วยเหลือสมาชิก และวัตถุประสงค์การจัดรายการนี้ก็เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่อยู่ไกลทั่วประเทศ ให้ติดต่อถึงกันได้ ขอให้เราช่วยกันแชร์ออกไป กด subscribe ทั้ง Facebook และ Youtube เพื่อจะได้รับประโยชน์กัน
 

คำถามจาก Clubhouse และ Facebook

 

A :     ปรึกษาหนี้จากต่างจังหวัดทำได้หรือไม่?

คุณสาวิตรี: ท่านสามารถปรึกษาได้ทุกสำนักบริการ หรือสอบถามมายังฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ที่สำนักงานใหญ่ โดยติดต่อทางไลน์ FTC แอดมินจะส่งเรื่องไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 

คุณสุวิทย์: หากท่านเข้ามาปรึกษา จะได้รับคำแนะนำจากผู้ปฏิบัติจริง สำเร็จจริงและได้คำตอบ ที่สำคัญ ปรึกษาฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นี่คือสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมของสมาชิก FTC 

 

A :     การสมัครสมาชิก FTC มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

คุณสาวิตรี: สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ทางเว็บไซต์ของ FTC  และส่งเอกสารสำเนา บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรนักธุรกิจหรือสมาชิกแแอมเวย์  วิธีนี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ท่านไม่ต้องเข้ามากรอกเอกสารที่สหกรณ์

 

 A :     สมาชิกที่ไม่ใช่นักธุรกิจแอมเวย์สามารถสมัครสมาชิก FTC ได้หรือไม่? 

คุณสุวิทย์: ได้ครับ คุณสมบัติผู้ที่จะสมัครสมาชิก FTC  ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และเป็นนักธุรกิจหรือสมาชิกแอมเวย์

 

A :     หากไม่มีเงินกู้ แต่มีเงินจำนวนมาก อยากจะออมต้องทำอย่างไร?

คุณสุวิทย์:  ขอให้ท่านติดต่อทางไลน์ FTC การออมแบบ FTC เป็นการสร้างบุญมหาศาล เพราะช่วยคนจำนวนเยอะได้ เมื่อมีสมาชิกมายืม ท่านได้ผลที่ต่อยอดได้เยอะ และได้ผลบุญทันทีโดยได้รับดอกเบี้ยเงินปันผล โดยไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากกฎหมายพิเศษ ที่สนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์ช่วยเหลือกัน 

 

A :     อยากขอให้ FTC ช่วยลดดอกเบี้ย พม. กรณีลูกหนี้ชั้นดี ได้หรือไม่?

คุณสาวิตรี:  ขอให้ท่านติดต่อทางไลน์ FTC  เนื่องจากเป็นเงินกู้กรณีพิเศษ ประเภทหมุนเวียน อาจคุยกรณีพิเศษได้ แต่จะมีเงื่อนไข ซึ่งทางสหกรณ์จะดูเป็นกรณีไป

 

 A :     ถ้าเป็นหนี้อยู่อยากเปลี่ยนมาขอกู้สหกรณ์ ทำไมต้องตรวจเครดิตบูโร? 

ดร.สุเมธา: การตรวจเครดิตบูโร เป็นบรรทัดฐานเบื้องต้นที่จะตรวจสอบว่าบุคคลนั้นมีวินัย ทางการเงินอย่างไร มีภาระหนี้สินขนาดไหน เพื่ออำนวยสินเชื่อให้ท่านได้อย่างเหมาะสม โดยเราจะดูภาระหนี้ต่อหนี้สิน 

คุณเบิ้ล คมสัน: วิธีคิดที่สำคัญของการตรวจเครดิตบูโรของสหกรณ์ FTC คือเราต้องการรู้ภาวะ ทางการเงินของท่านทั้งระบบ รู้เพื่อที่จะช่วยแก้ ดังนั้นหากท่านมีปัญหาการเงินที่อยากแก้จริงๆ  ท่านควรบอกทุกปัญหาของท่าน เพราะในการพิจารณาเรามีมายเซ็ทที่จะช่วยท่านให้พ้นวิกฤติ เพื่อให้ท่านหลุดพ้นจากปัญหานี้ไปให้ได้ 

 

 A :     อยากแก้หนี้ ดอกเบี้ยแพงมาอยู่ที่สหกรณ์ต้องทำอย่างไร?

หากท่านมีหนี้ดอกเบี้ยที่แพงกว่า แล้วอำนาจการชำระหนี้ยังดี ผมแนะนำว่าสามารถมากู้ กับ FTC โดยสามารถคุยกับธนาคารได้ หลักการแก้หนี้ของธนาคารคือหากเรามีบัตรเครดิต 10 ใบ เราต้องการแก้หนี้ 7 ใบ ให้เหลือ 3 เมื่อธนาคารอนุมัติสินเชื่อ ทางธนาคารจะออกเช็คเพื่อชำระหนี้ 7 ใบนั้นโดยท่านต้องทำเรื่องขอยกเลิกบัตรเครดิตทั้ง 7 ใบ และจะไม่สามารถทำบัตรเครดิตกับธนาคารนั้นได้อีก วิธีการจบหนี้คือการเปลี่ยนจากชำระหนี้ ขั้นต่ำที่มีดอกเบี้ยทบต้น เป็นการกู้จ่ายเป็นงวดๆ หนี้ก็จะหมดราว 3-5 ปี ขอให้เข้ามาคุยกัน

 

ช่วงท้าย ตกผลึกความคิดจากผู้รู้

    จากประสบการณ์และองค์ความรู้​ของผู้ร่วมเสวนา จะเห็นถึงมายเซ็ทที่สำคัญ ว่าการเป็นหนี้ไม่จำเป็นต้องอับจนเสมอไป หากเรามีความรู้ที่ถูกต้อง และมีวิสัยทัศน์มองให้ไกล เปลี่ยนวิกฤติหนี้เป็นโอกาส คิดสร้างรายได้เพิ่ม สร้างวินัยการออม เพื่อสร้างทางรอด สร้างอิสรภาพทางการเงินได้  แอดขอฝาก “เคล็ดลับ 3 เพิ่ม + 2 ลด วิชาแก้หนี้..แก้จน ฉบับ FTC” ให้นำไปปรับใช้กัน
 

1. เพิ่มความรู้ โดยเริ่มจากหาความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อย่าง FTC ที่มีผู้รู้ทางการเงินที่สามารถให้คำปรึกษาได้

2. เพิ่มรายได้ สำรวจทักษะความสามารถตนเองและสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มรายได้ ให้เรามากกว่า 1 ทาง

3. เพิ่มวินัยออม ใช้สูตร มีรายได้...หักเงินออม...ที่เหลือใช้จ่าย อย่างเคร่งครัด

4. ลดรายจ่าย ฝึกลดความต้องการของตัวเองลง ทำให้เราไม่ฟุ้งเฟ้อ แถมช่วยลดรายจ่าย ได้เยอะเชียว

5. ลดภาระหนี้ โดยหยุดก่อหนี้เพิ่ม ที่สำคัญลองเจรจาผ่อนปรนหนี้ แสดงความรับผิดชอบต่อการชำระหนี้อย่างจริงใจ เชื่อเถอะว่าทุกปัญหาหนี้แก้ได้

 

หากเพื่อนๆ อยากอัพเดทความรู้ทางการเงินพร้อมได้เคล็ดลับการบริหารสุขภาพ การเงินให้แข็งแรงบนพื้นฐานของการมีสติและวินัยทางการออมที่ถูกต้อง อย่าลืมติดตามช่องทางการแบ่งปันความรู้ทางการเงินดีๆ กับ FTC Channel ทุกวันเสาร์ เวลา 10.00 - 11.00 น.